“เครื่องมือแพทย์” โตรับโควิด ลงทุนหน้ากากอนามัย-ถุงมือยางนำลิ่ว

ถุงมือยาง

3 ปีโควิด-19 ทำอุตสาหกรรมผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์โตพรวดพราด พบ 60 โครงการใน 127 โครงการ ด้าน BOI เชื่อมั่นไทยจะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ ต่อยอดไปถึง medical hub ในที่สุด การระบาดของโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การส่งเสริมการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ new S-curve

โดยสิทธิประโยชน์สำคัญคือ การ “ยกเว้น” เงินได้นิติบุคคล 8 ปี มีทั้งการจำกัดวงเงินและไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ

ส่งผลให้มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ปี 2563 จำนวน 52 โครงการ ปี 2564 จำนวน 57 โครงการ และปี 2565 (เดือนมกราคม-พฤศจิกายน) 18 โครงการ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (new S-curve) จะครอบคลุมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และภาคบริการอย่างโรงพยาบาล

โดย BOI ได้ออกมาตรการส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยเป็น medical hub เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งหากดูจากยอดการอนุมัติโครงการในช่วงแรกมีจำนวนน้อยมากหรือไม่ถึง 10 โครงการ เงินลงทุนเพียง 600 ล้านบาท แต่ในปีถัด ๆ มาเริ่มมีจำนวนและมูลค่าโครงการเพิ่มขึ้น

จนกระทั่งในปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีผลทำให้หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง และอุปกรณ์การแพทย์บางชนิดขาดแคลนอย่างหนัก

BOI ได้ออกมาตรการระยะสั้นให้ทันกับสถานการณ์ ได้แก่ มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น การผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และมาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

รวมถึงการปรับสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น แอลกอฮอล์ทางการแพทย์ และ nonwoven fabric เป็นต้น

โดยมีระยะเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมถึงเดือนมิถุนายน 2563 ผลจากมาตรการดังกล่าวทำให้มีโครงการที่ได้อนุมัติถึง 42 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตหน้ากากอนามัย และยังมีโครงการที่วิจัยพัฒนาหรือผลิตตัวทำปฏิกิริยาชีวภาพในการตรวจวินิจฉัย สารละลายผสมที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธี RT-PCR และโครงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ

“อุตสาหกรรมการแพทย์ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี เพราะประเทศไทยมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในด้านบริการเสริมสุขภาพ (wellness) และบริการทางการแพทย์ (medical services) รวมทั้งการทำวิจัยทางคลินิก (clinical research) อีกทั้งยังเป็นแหล่งสำคัญที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามารักษาพยาบาล (medical tourism) ด้วย” นายนฤตม์กล่าว

สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) จากจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมลงทุน 127 โครงการ พบว่าเป็นโครงการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 26 โครงการ, โครงการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ 32 โครงการ และโครงการผลิตแผ่นกรอง 2 โครงการ รวมในกลุ่มหน้ากากและถุงมือยาง 60 ราย หรือเกือบครึ่งหนึ่งของโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในประเภทกิจการนี้

โดยผู้ลงทุนรายสำคัญในกิจการหน้ากากอนามัย ได้แก่ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์, บริษัท เอส พี เค ไทย ลาเท็กซ์, บริษัท เท็กซ์ไทล์เพรสทีจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า, บริษัท เท็กซ์ไทล์เพรสทีจ จำกัด (มหาชน)

กิจการผลิตถุงมือยาง ได้แก่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย), บริษัท ไทยเมดิคอลโกลฟ, บริษัท เมอร์กาโต้ อินดัสเตรียล, บริษัท ด๊อกเตอร์ บู, บริษัท ศรีชล โกลฟส์ (ประเทศไทย)

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท อีมาโก เวิร์ค ดิจิตอล แล็บ (ไทยแลนด์) ผลิตรากฟันเทียม, บริษัท โฮยาเลนซ์ ไทยแลนด์ ผลิตเลนส์สายตา, บริษัท ฟาร์มาเทค เอ็นจิเนียริ่ง ผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ, บริษัท พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล กรุพ เทรดดิ้ง ผลิตเอทานอล 99.5%

บริษัท ที.พี.ดรัก แลบบอราทอรี่ส์ (1969) ผลิตยาแผนปัจจุบัน, บริษัท ไทยนครพัฒนา ผลิตยาปราศจากเชื้อชนิดน้ำปริมาตรน้อย, บริษัท เยเนอรัล ฮอสปิตัล โปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) ผลิตยาปราศจากเชื้อชนิดน้ำ

บริษัท เดอะเดนท์มาร์เก็ต ผลิตชุดเก้าอี้ทันตกรรม, บริษัท ทาปิรัส (ประเทศไทย) ผลิต nonwoven fabric, บริษัท ดี เทคโน เท็กซ์ ผลิต nonwoven fabric, บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล ผลิตเอทานอลใช้ทางเภสัชกรรม, บริษัท ฟูจิเฟล็กซ์ เมดิคอล (ประเทศไทย) ผลิตรถเข็น เครื่องมือผ่าตัดและศัลยกรรมกระดูก

บริษัท ไทไลซัน ฟาร์มาซูติคอล (ไทยแลนด์) ผลิตยาแผนปัจจุบัน, บริษัท อาซาฮี อินเทค (ไทยแลนด์) ผลิตอุปกรณ์ขยายหลอดเลือดแดง, บริษัท มิซูโฮะ (ไทยแลนด์) ผลิตเตียงผ่าตัด, บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย ผลิตข้อเข่าเทียม และบริษัท พูแรค (ประเทศไทย) ผลิต lactic acid