เอส.เค.โพลีเมอร์ อู้ฟู่ ชิ้นส่วนยาง เครื่องมือแพทย์ มาแรง

สุภาพ สุวรรณพิมลกุล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างเครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทั้งซัพพลายเชน โดยเฉพาะส่วนประกอบ “ผลิตภัณฑ์แปรรูปยาง”

ซึ่งถูกใช้ไปเป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์เหล่านั้น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.เค.โพลีเมอร์ จำกัด ถึงแผนการเดินหน้าธุรกิจก่อนที่จะเตรียมตัวยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปลายปี 2566

ภาพรวม เอส.เค.โพลีเมอร์

“บริษัท เอส.เค.โพลีเมอร์ จำกัด เป็นผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิดที่ใช้สำหรับในเครื่องใช้ไฟฟ้า คมนาคม ก่อสร้าง ยานยนต์ และกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ผู้บริโภคอาจมองไม่ออกว่าบริษัทเราผลิตสินค้ายางแบบไหน ยกตัวอย่าง เช่น ในตู้เย็นจะมีท่อยาง ในเครื่องซักผ้ามีลูกยางที่เป็นชิ้นส่วนยาง ผลิตภัณฑ์ยาง ที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงส่วนประกอบในรถยนต์ด้วยซึ่งไม่ใช่ล้อยางรถ”

โดยปัจจุบันได้ผลิตและจำหน่ายส่งออกสัดส่วน 25% ไปยังตลาดหลักคือ สหรัฐ ยุโรป เอเชีย อาเซียน และ 75% ขายในประเทศ ซึ่งลูกค้าหลักของเราอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า 70% รองลงมาเป็นกลุ่มยานยนต์ 20% และเครื่องมือแพทย์ 10% เราเป็น top 3 ในกลุ่มที่ผลิตชิ้นส่วนยางให้กับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงกลุ่มเครื่องมือแพทย์เราก็ถือว่าเป็น top 3 ในตลาด และเราถือว่าติด top 1 ใน 20 ของตลาดที่ผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ให้ยานยนต์

เป้าหมาย ปี’66

ที่ผ่านมารายได้เติบโตทุกปี บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากการที่ลูกค้าหลักอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือว่ามีลูกค้าเหนียวแน่น และยังได้ขยายไปสู่อุตสาหกรรมในวงการเครื่องมือแพทย์ เช่น ฝายางที่ใช้ปิดหลอดเก็บเลือด สายน้ำเกลือ ข้อต่อสายน้ำเกลือที่จะมีผลิตภัณฑ์ยาง จุกฝาฉีดวัคซีน เป็นต้น

ซึ่งตลาดนี้กำลังมีการเติบโตมีความต้องการสินค้ามากขึ้น และคู่แข่งไม่เยอะ การเข้ามาในตลาดครั้งนี้เป็นการสร้างโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดในประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญในการผลิตสินค้าให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์นั้นต้องผ่านมาตรฐานทุกด้าน เพราะสินค้านี้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเป็นอย่างมาก

“ในปี 2566 เราตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ 30% จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีประมาณ 730 ล้านบาท โดยได้พยายามทำตลาดทั้งในประเทศ และตลาดส่งออกมากขึ้น และมีแผนจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างบริษัทที่ปรึกษาในการดำเนินการอยู่ คาดว่าจะสามารถยื่นได้ประมาณปลายปี 2566 เพื่อจะระดมทุนในการก่อสร้างเพื่อขยายกำลังการผลิต และขยายตลาด”

ทุ่ม 300 ล้านตั้งโรงงาน

ปัจจุบันโรงงานเราอยู่ลาดหลุมแก้ว จะย้ายไปอยู่ที่เขตบางขุนเทียน โดยมีแผนจะรวมโรงงานไว้ในที่เดียวกันทั้งหมด 3 โรงงาน ทั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยางในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์แบบครบวงจรและได้มาตรฐาน

โดยขณะนี้ซื้อที่ดินไว้ประมาณ 37 ไร่ คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างราว 300 ล้านบาท และบริษัทอยู่ระหว่างขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 เมื่อสร้างเสร็จจะทำให้กำลังการผลิตของเราเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ตันต่อปี จากเดิม 8,000 ตันต่อปี

ขยายฐานผลิตต่างประเทศ

บริษัทเรามีแผนที่จะขยายการผลิตไปในต่างประเทศในอีก 3 ปีข้างหน้า มุ่งไปที่ประเทศเวียดนาม เพื่อจะเข้าไปใช้สิทธิพิเศษด้านภาษี เพราะเวียดนามเป็นสมาชิกทั้งใน CPTPP มี FTA กับอียู เป็นแต้มต่อสำคัญในการส่งออกสินค้าไปในกลุ่มประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงแรงงาน เพราะค่าแรงในเวียดนามไม่สูง ขณะที่ประเทศไทยค่าแรงเพิ่มขึ้น

“อนาคตเรามองว่าจะขยายการส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งเราก็ยังมองตลาดส่งออกเดิม และพยายามจะรักษาฐานลูกค้าของเรา พร้อมกับการนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ส่วนตลาดใหม่ที่น่าสนใจที่เราต้องการบุกตลาด เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ที่เราต้องการที่จะไปบุกตลาดให้มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่แล้วเขาไม่มีโรงงานผลิตสินค้าดังกล่าว และส่วนใหญ่ก็ซื้อสินค้า และนำเข้าสินค้าเป็นหลัก”

นอกจากนี้ส่วนหนึ่งหวังให้หน่วยงานภาครัฐเร่งส่งเสริมการเจรจา FTA เพื่อสร้างแต้มต่อสำคัญให้กับการแข่งขันในตลาดโลกให้กับประเทศไทยด้วย

ฝ่าวิกฤตค่าไฟ-วัตถุดิบ

“ค่าไฟปรับสูงขึ้น ต้องยอมรับว่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าของเรา ซึ่งคิดเป็น 10% ของต้นทุนการผลิต คาดหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาดูแลโดยเฉพาะเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตาม อีกด้านเราได้ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ หากสามารถติดตั้งแล้วเสร็จ จะทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงประมาณ 30% โดยคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 4-5 ปี ซึ่งอายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ 20 ปี จึงมองว่าคุ้มในการติดตั้ง

ขณะที่วัตถุดิบหลักของเราคือ ยางพารา ไม่มีปัญหาส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นดิบ ยางธรรมชาติซื้อจากในประเทศ เพราะไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราสำคัญในตลาด การรับซื้อก็เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนวัตถุดิบยางสังเคราะห์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ เกาหลีใต้ เป็นต้น สถานการณ์ราคาก็ขึ้น-ลง ตามราคาน้ำมัน