ประกาศความสำเร็จครั้งใหญ่ของไทย เดินหน้านับหนึ่งเจรจา FTA ไทย-อียู

เจรจา FTA ไทย-อียู

“จุรินทร์” ประกาศความสำเร็จครั้งใหญ่ นับหนึ่ง FTA ไทย-อียู หลังถกร่วม 2 ฝ่าย ที่บรัสเซลส์ พร้อมเดินหน้าเสนอ ครม.เห็นชอบ

วันที่ 26 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือทวิภาคีกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr.Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป ว่า นับเป็นประวัติศาสตร์ของไทยกับสหภาพยุโรป ที่ได้มีการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป

โดยการเจรจาเป็นไปด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อสรุปและแสดงเจตจำนงร่วมกันในการที่เริ่มต้นให้แต่ละฝ่ายดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่าง 2 ฝ่ายต่อไปโดยเร็ว

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยหลังหารือ จะนำผลสรุปที่ได้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดทำ FTA ไทย-อียู ต่อไป สำหรับรายละเอียดในการเจรจาเบื้องต้นจะมีหัวข้อ เช่น อีคอมเมิร์ซ การลงทุน ที่จะมีการเจรจา

“ผมตั้งใจจะเสนอเรื่องเข้า ครม. ให้ได้ภายในสองสัปดาห์นี้ เนื่องจากทางอียูจะเร่งดำเนินกระบวนการภายในขอคำรับรองจาก 27 ประเทศ ให้เสร็จโดยเร็วเช่นกัน ทั้งนี้ หัวหน้าฝ่ายไทยโดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นหน่วยงานเจรจาคู่กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของอียูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ส่วนทางด้านสหภาพยุโรปเอง จะนำผลการหารือครั้งนี้ ไปดำเนินการภายในของสหภาพยุโรปเพื่อนำไปขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศต่อไปด้วย ปัจจุบัน สหภาพยุโรปมี FTA กับ 2 ประเทศ คือ เวียดนาม และสิงคโปร์ หากยุโรปได้รับรองจากประเทศสมาชิก ก็เชื่อว่าจะเดินหน้าเจรจาได้ทันที ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ที่มี FTA กับยุโรป จะส่งผลให้ไทยมีตลาดการค้าที่เราได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น 27 ประเทศ และจะเป็นแต้มต่อทางการค้าให้กับไทย รวมถึงเป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป

โดยตั้งเป้าจะดำเนินการตามกระบวนการภายในให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประกาศนับหนึ่งการเริ่มต้นเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ ซึ่งเราใช้ความพยายามในการทำ FTA กับสหภาพยุโรปมาแล้วเกือบ 10 ปี แต่ยังไม่สามารถนับหนึ่งได้ แต่การมาเยือนครั่งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17%

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอียู เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ และไก่แปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอียู เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยา เป็นต้น