จุรินทร์ นำทีมเยือนกรุงบรัสเซลส์ ตั้งเป้าเจรจา FTA ไทย-อียู

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

จุรินทร์ เตรียมนำคณะเยือนกรุงบรัสเซลส์ พบคณะกรรมาธิการด้านการค้าของสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งเป้าประกาศเจตจำนงสองฝ่ายเจรจาทำ FTA ไทย-อียู

วันที่ 23 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะนำคณะเดินทางไปเยือนกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พบกับนายวัลดิส ดอมโบรฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าของสหภาพยุโรป หรือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการค้าของรัฐบาลสหภาพยุโรป ในวันที่ 25-26 ม.ค. 2565 เพื่อพบและประชุมร่วมกันในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองทั้งสองฝ่ายในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)

ทั้งนี้ เรื่อง FTA ไทย-สหภาพยุโรป เป็นเรื่องที่คาดหวังกันมายาวนาน แต่ยังไม่บรรลุผล เพราะติดขัดเรื่องการเจรจามาตั้งแต่ช่วงปี 2557 ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้และตนจะมารับผิดชอบกระทรวงพาณิชย์ โดยในครั้งนี้ จะเป็นตัวแทนประเทศไทยแจ้งความจำนงว่าประเทศไทย รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ของไทย มีความพร้อมที่จะทำ FTA ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ถ้าสหภาพยุโรปเห็นพ้องต้องกัน แต่ละประเทศจะได้กลับมาดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการของแต่ละประเทศ

“จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประชุมและการเจรจาที่ผมจะเดินทางไป ซึ่งตั้งความหวังว่าจะสำเร็จ และจะได้เริ่มนับหนึ่ง FTA ไทย-อียู เพราะเป็น FTA ที่ภาคเอกชนมีความประสงค์และต้องการมานาน แต่ยังไม่บรรลุผล ถ้าประสบความสำเร็จ จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปได้มากขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโอกาสทางการค้า จะส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีตัวเลขที่ดีขึ้น เป้าหมายภาษีระหว่างกันเป็นศูนย์ ทำให้ได้แต้มต่อประเทศคู่แข่งที่ไม่มี FTA กับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ โดยจะพยายามทำให้ดีที่สุด ให้มีโอกาสสำเร็จ จะเป็นการสร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป”

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2565 อียูเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับที่ 5 รองจากอาเซียน จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 41,038.06 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.46 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.95% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู 22,794.40 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.10 แสนล้านบาท


สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และแผงวงจรไฟฟ้า และนำเข้าจากอียู มูลค่า 18,243.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.48 แสนล้านบาท สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์