เคล็ดลับ ฮาราลด์ ลิงค์ นำ บี.กริมบุก 15 ประเทศเริ่มต้นจากศูนย์

ฮาราลด์ ลิงค์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

เป้าหมายของ บี.กริมฯ ไม่เพียงจะมุ่งพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มี 3,379 เมกะวัตต์ เป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

แต่ที่สำคัญจะมุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น จากปี 2565 ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 25% เป็น 50% หรือเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ขณะเดียวกันก็จะลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากระบบ conventional energy จาก 75% เหลือ 50%

“ดร.ฮาราลด์ ลิงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้ไปถึงปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4,700 เมกะวัตต์ คาดว่าสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มเป็น 30-35% โดยปัจจุบัน บี.กรีมฯดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอยู่ 20 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อีก 35 โครงการ

บุกลงทุนทั่วโลก

บี.กรีมฯได้ลงทุนอยู่ในทั้งหมด 15 ประเทศทั้งในภูมิภาคยุโรป ใน 3 ประเทศคือ กรีซ อิตาลี ทำโซลาร์ และโปแลนด์ทำไฟฟ้าลม ภูมิภาคตะวันออกกลาง คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ภูมิภาคอาเซียน มากที่สุด 6 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และลาว และเอเชีย มีทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

“วิธีการหาลูกค้าของเรา เช่น ที่เราไปญี่ปุ่นเริ่มต้นด้วยกำลังการผลิต 500 MW หรือ 1,000 ล้านเหรียญ ใช้ feed in tariff (FiT) จริง ๆ เราสามารถขายไฟให้ลูกค้าผ่านพันธมิตรได้ หรือขายโดยตรงให้กับลูกค้าก็ได้

เพราะปัจจุบันเรามีลูกค้าญี่ปุ่นหลายร้อยรายในประเทศไทย ถามทำไมไปในกรีซทำไมไม่ไปสเปน โครเอเชีย หรือฝรั่งเศส เพราะเราไปทำความรู้จักบริษัทที่เป็นพันธมิตรสามารถทำให้เกิดสัมปทาน และในอิตาลีเราได้ทำการลงทุนเพราะมีพันธมิตรที่ดีเช่นกัน”

“หากสังเกตจะเห็นการลงทุนของบี.กริมฯเราเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะเราจะไม่ไปซื้อสิทธิของคนอื่น เพราะถ้าเราไปซื้อสิทธิสัมปทาน เราอาจจะต้องใช้เงินลงทุนถึง 1.2 แสนยูโร แต่การที่เราเริ่มต้นทำเอง เราใช้เงินลงทุนแค่ 40,000 ยูโร หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเม็ดเงินลงทุน อาจบอกได้ว่ายิ่งการลงทุนในจำนวนเมกะวัตต์ที่เยอะ จะยิ่งทำให้การก่อสร้างมีราคาที่ถูกลง และผู้ผลิตก็ชอบเรา ในขณะเดียวกันพันธมิตรก็ชอบเรา”

บริหารความเสี่ยง “การเมือง”

การบริหารจัดการความเสี่ยงในเรื่องของ political risk เราก็พยายามดูให้ดี ประเทศไหนการเมืองมาเกี่ยวข้องมาก ก็มีพันธมิตรมากเช่นกัน

“การลงทุนโรงไฟฟ้าในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ลงทุนในเยอรมนีหรือในไทย เรื่องการเมืองแต่ละประเทศก็จะไม่เหมือนกัน ซึ่งการเลือกเข้าไปลงทุนของ บี.กริมฯเราจะเลือกประเทศ แต่จะไม่ได้ทำทุกประเทศและต้องมีพันธมิตรที่ดีเป็นหลัก”

แง้มสนใจลงทุน “สหรัฐ”

“ในอนาคตสหรัฐก็มีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในส่วนของพลังงานหมุนเวียนเพราะว่าการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด หากทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน ตลาดจะต้องการเพิ่มขึ้น 16 เท่า ดังนั้นอย่าว่าแต่ 10,000 เมกะวัตต์ เราทำได้อยู่แล้ว จะพูดไปถึง 50,000 เมกะวัตต์ ภายใน 20 ปีก็เป็นไปได้ ตอนนี้เราอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรที่ดี”

ในส่วนของประเทศไทยเอง บี.กริมฯได้ขยายการลงทุนร่วมกับพันธมิตร ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม 10 นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เวิลด์ ฟู้ด วัลเลย์ 280 เมกะวัตต์, อ่างทอง 123 เมกะวัตต์, บางกะดี 229 เมกะวัตต์, ลาดกระบัง 120 เมกะวัตต์, บางปู 240 เมกะวัตต์, แหลมฉบัง 100 เมกะวัตต์, เอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท (มาบตาพุด) 2 แห่ง แห่งละ 140 เมกะวัตต์, WHA จ.ชลบุรี 1 ขนาด 130 เมกะวัตต์, อมตะ ซิตี้ ชลบุรี 674.7 เมกะวัตต์, อมตะ ซิตี้ ระยอง 640.7 เมกะวัตต์

ส่วนในเวียดนาม ก็มีขยายไปอีก 3-4 ที่ เช่น อมตะ ซิตี้ หงส์ทอง, กัมพูชา เช่น อมตะ ซิตี้ Long Thanh, อมตะ ซิตี้ Bien Hoa และปอยเปต PPSEZ

ยุทธศาสตร์สู่ความยั่งยืน

“สิ่งที่ บี.กริมฯจะทำในปีนี้ จะดำเนินการผ่านยุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า GreenLeap-Global and Green”

จะประกอบไปด้วย แผนเชิงกลยุทธ์ 3 ประการ 1.Industrial Solutions มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดหาพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าที่หลากหลาย

บี.กริมฯจะใช้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แบตเตอรี่ รวมถึงการเตรียมพร้อมในการรองรับยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องมือดิจิทัลขั้นสูง เช่น ระบบที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (distributed energy source)

เพื่อรักษาความสมดุลของโครงข่ายไฟฟ้าของ บี.กริมฯ รวมถึงสนับสนุนลูกค้าด้านการชดเชยคาร์บอนและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ยุทธศาสตร์นี้อาศัยความรู้ของ บี.กริมฯเพื่อบูรณาการพลังงานหมุนเวียนและการจัดเก็บพลังงาน เพื่อที่จะให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจรแก่ลูกค้า

2.Independent Power Producer มีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของ บี.กริมฯทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเตรียมพร้อมพอร์ตในประเทศสู่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

3.Sustainable Fuels ยุทธศาสตร์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าการจัดหาก๊าซผ่านสัญญาการจัดหาระยะยาวโดยใช้ใบอนุญาตผู้จัดหาและค้าส่งของ บี.กริม แอลเอ็นจี โดยจะเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมและเคมีภัณฑ์ รวมถึงเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับภาคส่วนที่ยากต่อการลดทอน เช่น การบินและการเดินเรือ

โดยยุทธศาสตร์นี้อาศัยจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญของ บี.กริมฯในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และความร่วมมือที่ยาวนานและแข็งแกร่งกับคู่ค้าและผู้ผลิตอุปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

ภาพ บี.กริมฯ ปี 2573 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ มีกำไร EBITDA 35,000 ล้านบาท มีอัตรากำไร EBITDA เติบโต ปีละ 10% จะต้องเป็นการเติบโตควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามแนวทางควบคุมอุณหภูมิโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาของประเทศในกลุ่ม non-OCED ที่กำหนดโดย International Energy Agency (IEA)

แผนลงทุน 7 หมื่น ล. รุกอีวี Ecosystem

ในส่วนงบประมาณการลงทุนนั้น มอบให้ นางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี (CFA, CPA) บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ ฉายภาพว่า แผนการลงทุนภาพใหญ่ 7 ปีข้างหน้า จะมีเงินลงทุน 425,400 ล้านบาท เป็นการกู้ยืม 70-75% ของเงินลงทุน ที่เหลือเป็นเงินลงทุนส่วนของผู้ถือหุ้น

โดยเป็นการลงทุนของบริษัท บี.กริมฯราว 70,000 ล้านบาท มาจากกระแสเงินสด 10,000 ล้านบาท กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 45,000 ล้านบาท และการระดมทุน (fund raising) อีก 15,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือ perpetual bond ในช่วงปลายไตรมาส 1 นี้ โดยได้มีการหารือกับสถาบันการเงินแล้วหลายแห่ง

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุนนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ เผยว่า ยุทธศาสตร์ของเราคือการสร้างการเติบโตของกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนในหลาย ๆ ประเทศ เป็น SPP ผู้ผลิตพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ร่วมกับอมตะ

ซึ่งเราเน้นการพัฒนาตามความต้องการลูกค้า โดย 1) ได้พัฒนาโครงข่ายให้พร้อม ปัจจุบันมีการลงทุนในระบบสายส่งระบบ smart grid ไปสู่การพัฒนาระบบการค้าพลังงาน หรือ energy trading 2) การพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบ AI, IOT, 5G มาผสมผสานกัน และการใช้ข้อมูลผ่านระบบ data management 3) การพัฒนาการสร้างตลาดในส่วนของคาร์บอนเครดิต การซื้อขายคาร์บอนเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


ล่าสุดขณะนี้ได้หารือกับพันธมิตร 2-3 ราย ในการพัฒนาระบบ ecosystem ของ EV เพื่อให้บริการลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมสำหรับการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ ซึ่ง บี.กริมฯถือว่าเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ได้มีการหารือกับผู้ที่ทำแพลตฟอร์มหัวชาร์จ EV และผู้ให้บริการฟีดรถบรรทุก คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปและเริ่มดำเนินการได้ในเร็ว ๆ นี้