ฮาราลด์ ลิงค์ วางอนาคต “บี.กริม” สู่บริษัทพลังงานโลก

บี.กริม เพาเวอร์

แม้ว่าประเทศไทยจะมีไฟฟ้าที่ผลิตส่วนเกินอยู่มาก แต่ในอนาคต “ไทย”ยังคงเป็นฐานการผลิตให้อุตสาหกรรมทั่วโลก การพัฒนาการผลิตพลังงานทุก ๆ ด้านจึงไม่สามารถที่จะหยุดได้

“บี.กริม เพาเวอร์” มองอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องขยายการลงทุน พร้อมทั้งรับเทรนด์พลังงานสะอาดพลังงานหมุนเวียน เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานระดับโลก “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายฮาราลด์ ลิงค์” ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM ถึงยุทธศาสตร์ต่อจากนี้

เปิด 7 ยุทธศาสตร์

เป้าหมายของ บี.กริม เพาเวอร์ คือ การก้าวไปเป็นบริษัทพลังงานโลก สิ่งที่จะใช้เป็นตัวขับเคลื่อนองค์กร คือ 7 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานสะอาด

ภายใต้รูปแบบสัมปทานกับภาครัฐในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (B2G) เพื่อให้บริการไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูง โดยจะมีการพัฒนาโครงการใหม่หรือการเข้าซื้อกิจการ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

2.การสร้างบทบาทสำคัญในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว LNG และเชื้อเพลิงสะอาด 3.การให้บริการด้านสาธารณูปโภคแบบครบวงจร จำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำคุณภาพสูง ให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 300 รายทั้งในไทยและเวียดนาม และนอกนิคมอุตสาหกรรม

4.การนำเสนอโซลูชั่นทางด้านสาธารณูปโภคให้กลุ่มอาคารพาณิชย์ กับบริษัทต่าง ๆ 5.การขยายธุรกิจระบบการส่งและระบบการจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งตลอด 25 ปี บี.กริม เพาเวอร์ สร้างและควบคุมระบบการส่งและระบบการจำหน่ายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่งทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชาเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรับการเป็น smart city

6.การให้บริการพลังงานผ่านการซื้อขายระบบ energy trading อาศัยโครงข่ายอัจฉริยะ (smart grid) ซึ่งเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าโดยตรงไม่ผ่านระบบของการไฟฟ้า เบื้องต้น นำร่องทดสอบระบบ trading ภายในเครือ และนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว

ซึ่งจะเป็นแนวทางทำให้เกิดที่เรียกว่า “โรงไฟฟ้าในบ้าน” ครัวเรือนจะติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาผลิตไฟฟ้าขายเพื่อนบ้านแบบ peer to peer ได้เลย

7.การเดินหน้าพัฒนาโมเดลธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ และขับเคลื่อนด้วยทีมงานคนรุ่นใหม่

ปี’68 กำลังไฟฟ้า 7,200 MW

จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวและตามแผนการเดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

และจากการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 48 โครงการ ดังนั้น การดำเนินงาน 10 ปี (2564-2573) จากนี้จะเริ่มขยับเพิ่มการลงทุน ขยายกำลังการผลิต

โดยในปี 2568 จะต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มี 3,058 เมกะวัตต์ (สัญญาระยะยาวมี 3,682 เมกะวัตต์) จากนั้นในปี 2573 จะเป็น 10,000 เมกะวัตต์ และมีรายได้ต่อปีกว่า 100,000 ล้านบาท

งบฯลงทุน 10 ปี 3 แสนล้าน

เงินลงทุนภาพรวม 10 ปีอยู่ที่ 250,000-300,000 ล้านบาท ทั้งจากการระดมทุนในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ อย่างการออกหุ้นกู้สีเขียว (green bond) และสินเชื่อสีเขียว (green loan)

รวมถึงหุ้นกู้ระยะสั้นเพื่อการค้า(commercial bond) มูลค่ารวม 10,000-12,000 ล้านบาท กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) เพื่อรองรับการเติบโตและรองรับการ M&A

ซึ่งบริษัทยังไม่มีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนในเร็ว ๆ นี้หรือช่วง 5 ปี แต่จะรักษาระดับหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ให้ไม่เกิน 2 เท่า

ส่วนงบฯลงทุนปี 2564 ตั้งไว้ 20,000-40,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในดีลซื้อขายกิจการ (M&A) โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งที่ไทยและที่มาเลเซีย 3-4 โครงการ

กำลังการผลิตรวม 300-500 เมกะวัตต์ และในไตรมาส 3 นี้เตรียมเปิด COD โครงการกังหันลมที่บ่อทอง จ.มุกดาหาร กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์

ธุรกิจใหม่นำเข้าก๊าซ LNG

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุญาตให้บริษัทนำเข้าก๊าซ LNG จำนวน 1.2 ล้านตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม โดยเริ่มนำเข้าปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ต้องการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ภูมิภาค

“ธุรกิจใหม่นี้เป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทคาดหวังการเติบโต เพราะต้นทุนการจำหน่ายที่ไม่แพง และบริษัทเองก็มีกลุ่มลูกค้าชัดเจน เราพบว่าลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม เป็นภาคการผลิตที่ใช้พลังงานทั้งวันทั้งคืน

ทั้งกลุ่มยานยนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์ กลุ่มสุขภาพ คลังสินค้าที่เดิมมีทั้งในแบตเตอรี่ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในราคาที่สูง เมื่อเราขยายและหาพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนด้านอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่ามาให้ก็ตอบโจทย์เขา”