การกลับมาของ “ฮาราลด์ ลิงค์” กุมบังเหียน “บี.กริม” ปี’64

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม
สัมภาษณ์

นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่หลายคนให้ความสนใจว่า การขับเคลื่อนธุรกิจ บี.กริม ในปี 2564 หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ว่า ได้มีมติปรับโครงสร้างการบริหารเพื่อรองรับการขยายธุรกิจอย่างยั่งยืน

โดยให้ “นายฮาราลด์ ลิงค์” ประธาน บี.กริม ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บี.กริม พาวเวอร์บริษัทลูกด้านการผลิตไฟฟ้า

ส่วน นางปรียนาถ สุนทรวาทะ จะดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และปรับเปลี่ยนบทบาทจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาเป็นกรรมการบริหาร บี.กริม พาวเวอร์ เพื่อไปทำหน้าที่บริหารจัดการธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อขยายสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าในต่างประเทศอีก 3,000 เมกะวัตต์ในปี 2564

รวมถึงการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและลำเลียงก๊าซแอลเอ็นจี หลังจากได้ใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG “นายฮาราลด์ ลิงค์” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังรับตำแหน่ง ถึงโอกาสและความท้าทายการขับเคลื่อนแผนลงทุน 50,000 ล้านบาท ปี 2564 เพื่อปิดดีลโรงไฟฟ้าใหม่อีกกว่า 1,000 เมกะวัตต์

มุ่งให้สังคมได้ใช้สิ่งที่เชี่ยวชาญ

บี.กริม ดำเนินธุรกิจในไทย 150 ปี เราสามารถบอกได้ว่า บี.กริมเองทำธุรกิจโดยไม่หวังผลกำไร เราเปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ อย่างเช่น การเป็นผู้สื่อข่าวทำอาชีพนี้เรารักและอยากได้ข่าวที่คนสนใจ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบผลตอบแทนคือค่าจ้างจากองค์กรต้นสังกัด เช่นเดียวกับบี.กริมที่เรามีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้าก็ต้องการให้สังคมได้ใช้ในสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเชี่ยวชาญ

เราจึงมีพาร์ตเนอร์จำนวนมากใช้บริษัทลูกจับมือกัน เพื่อสร้างและขยายธุรกิจใหม่ขึ้นมาที่เป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับบริษัท อย่างการจับมือนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเขามีสถานะเป็นผู้พัฒนาพื้นที่ขายและให้เช่าโรงงานอุตสาหกรรม มีการบริหารจัดการแบบเป็นระบบ เรามีแผนทำโรงไฟฟ้าร่วมกันใน 7 นิคมอุตสาหกรรม ขนาด 140 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม เพราะเขามีลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก

ปี 2563 ที่ผ่านมา เราได้ใช้โอกาสในการลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ ทั้งเวียดนาม ลาว เกาหลีใต้ มาเลเซีย และที่กัมพูชา เป็นที่น่าดีใจ เพราะ บี.กริมเองคือรายแรกที่เป็นผู้ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farm)

ซึ่งเสร็จทันตามกำหนด ตั้งอยู่ในเมืองศรีโสภณ จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิต 39 เมกะวัตต์ ได้รับอนุมัติให้สามารถดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้แล้วเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ส่วนในประเทศเราได้ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทในไทย ที่มีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดในประเทศ

ปิดดีลโรงไฟฟ้าไตรมาส 1/64

ในแผนของปี 2564 บี.กริมเตรียมเงินลงทุนไว้ 50,000 ล้านบาท โดยมีแผนสำหรับที่ต้องดำเนินการต่อ คือ การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิมในมือ ทั้งหมด 3,682 เมกะวัตต์ ที่เป็นกำลังการผลิตจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3,089 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังมีดีลที่จะบรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ช่วงไตรมาส 1/2564 หลายโครงการ อย่างโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาอีกประมาณ 900-1,000 เมกะวัตต์ ที่จะมาจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนนี้จะทำให้ บี.กริมสามารถรับรู้รายได้เลยทันที ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 16 เมกะวัตต์ที่ จ.มุกดาหาร

ในส่วนของดีลต่างประเทศ เช่น ดีล M&A โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศมาเลเซีย ขนาด 200-350 เมกะวัตต์ ที่ COD ไปแล้ว และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในไทยอีก 2-3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 300-360 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งในหลายโครงการที่คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ในไตรมาส 1/2564

รวมถึงโครงการพลังงานลมในเวียดนาม 1-2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 100-200 เมกะวัตต์ ที่มีดีลการเจรจาเพื่อร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมดังกล่าว เราเองคาดหวังว่าการเจรจาสำหรับรายนี้จะจบได้ไตรมาส 1/2564 เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ โครงการเช่นกัน
เพื่อที่เราได้เริ่มก่อสร้างให้เสร็จตามที่กำหนด COD ไว้คือปลายปี 2564

ส่วนดีลสุดท้ายคือการเจรจาร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเกาหลีใต้ ที่เราคาดว่าจะปิดดีลได้ในช่วงไตรมาส 1/2564 เช่นกัน ขณะที่โครงการใหม่ในส่วนต่าง ๆ ที่เหลือถึงจะมี แต่ก็ยังต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 1-2 ปี แน่นอนว่าแผนการเพิ่มกำลังการผลิตจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะ บี.กริมมีเป้าขยายการลงทุนต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ที่จะนำไปสู่กำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 7,200 เมกะวัตต์

กกพ.ไฟเขียวนำเข้า LNG

ล่าสุด กกพ.ได้ให้ใบอนุญาตใบประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (shipper) กับทาง บี.กริม ซึ่งจะทำให้เราสามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้จำนวนถึง 650,000 ตัน/ปี ขณะนี้รอใบอนุญาตนำเข้าจาก กกพ. เพื่อที่ลอตแรกเราจะได้เริ่มนำเข้า LNG ตามที่ได้โควตาจำนวน 250,000 ตันก่อน ในครึ่งปีหลัง 2564

จากนั้นในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 350,000 ตัน และปี 2566 จะเต็มจำนวนที่ 650,000 ตัน การนำเข้าดังกล่าวจะใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 5 โรง และจะขอเพิ่มการนำเข้าเพื่อใช้กับ SPP อีก 13 โรง

บี.กริมเองยังต้องการที่จะต่อยอดการนำเข้า LNG นอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่จะขายให้กับลูกค้าในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะพบว่ามีความต้องการจำนวนมาก ด้วย LNG คือเชื้อเพลิงที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต และแม้ว่า บี.กริมจะเป็นพาร์ตเนอร์กับทาง ปตท. ซึ่งเป็นผู้นำเข้า LNGอยู่แล้ว แต่เราซื้อในราคาแพง การที่เรานำเข้าเองจึงได้ราคาที่ถูกกว่า

“ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้จำหน่าย LNG ตลาดโลก ประมาณ 20 ราย เพื่อจะทำสัญญาระยะยาว 70-80% และตลาดจร (spot) อีก 20% แต่เราก็จะต้องยื่นเรื่องไปยัง กกพ. ขอนำเข้าเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ด้วย”

พาร์ตเนอร์รายใหม่

เรามีแผนจะทำงานร่วมกับทั้งรัฐและเอกชน เพราะต้องการจะหาช่องทางในการขยายโอกาสการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ มันจะมีธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เรามีกลุ่มลูกค้าห้าง โรงแรม เป็นกลุ่มใหม่ที่เขาต้องการให้เราเสนอแผนงานการบริหารจัดการด้านพลังงานในตัวอาคารให้ ซึ่งเรายังเปิดเผยไม่ได้ว่าเป็นใคร

ส่วนพาร์ตเนอร์ที่เราเคยร่วมกับหน่วยงานรัฐมาก่อนหน้านี้ เราก็ยังทำกันต่อ อย่างกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ กฟภ. เป็นการเข้ามาช่วยพัฒนาโครงข่ายและสายส่ง หรือโครงการระบบไมโครกริด ระบบสมาร์ทไมโครกริดต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งมันรวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล

พาร์ตเนอร์รายอื่นอย่างกลุ่มอมตะ เขาก็เป็นพาร์ตเนอร์ที่เราจับมือกันเข้าไปพัฒนาเรื่องสมาร์ทต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมของเขา และกับนิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน สำหรับรายนี้เราจับมือกันรูปแบบพาร์ตเนอร์ที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าร่วมกันในจังหวัดระยอง เราไม่ใช่จะขายแค่ในนิคมอุตสาหกรรม แน่นอนว่าประโยชน์จากส่วนอื่นคือ นอกนิคมอุตสาหกรรมก็คือเป้าหมายของเรามันจะขยายไปถึงมาบตาพุด ไปถึงสนามบินอู่ตะเภา ในอู่ตะเภานี้เรากำลังมองพาร์ตเนอร์ภาครัฐเช่นกัน คือ กองทัพอากาศ ว่าจะต่อยอดเรื่องของอู่ตะเภาได้อย่างไร

กระแสโควิดระลอกใหม่

แผนงานทั้งหมดเราหารือกันในท่ามกลางที่การระบาดของโควิด-19 กำลังระบาดรอบใหม่ แต่เราก็ยังคงตั้งรับกับมัน บี.กริมเองเชื่อว่ากำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะไม่ลดลงเหมือนในช่วงแรกที่พบการระบาดที่ทำให้ช่วงเดือน พ.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงต่ำที่สุดแล้ว ซึ่งขณะนั้นภาคอุตสาหกรรมลดการผลิตลง 20% แต่ทางกลับกันเรากลับเห็นกลุ่มลูกค้าอิเล็กทรอนิกส์ย้ายฐานมาที่ไทย เพราะเราสามารถคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ดี

แม้สถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้น แต่ว่ารายได้ของบริษัทส่วนใหญ่ยังมาจากลูกค้าในกลุ่มภาครัฐ เพราะเรามีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในสัดส่วน 70-80% ส่วนที่เหลืออีก 20% มาจากรายได้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม

นับจากนี้แผนของ บี.กริมจะไม่หยุดแค่ปี 2564 หรือ 5 ปี เพราะเราอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานในอนาคต นอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศแล้วยังคงมุ่งไปสู่ธุรกิจต่อเนื่องรองรับดิจิทัลเพิ่ม