เจรจา FTA ไทย-อียู จุรินทร์ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง

FTA

ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งใหม่ของประเทศไทยจะเดินทางมาถึงในเร็ว ๆ นี้ เป็นจังหวะเดียวกับการขับเคลื่อนสู่การเปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย ที่ไม่ได้มีการเจรจาความตกลงใหญ่ ๆ กับประเทศใดเลยมานานนับ 10 ปี

โดยเมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2566 “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารเข้าหารือกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr. Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อหารือประเด็นเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู

ซึ่งทันทีหลังหารือ นายโดมโบรฟสกิสได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ ถึงผลสรุปทั้ง 2 ฝ่ายยินดีที่จะเริ่มการเจรจา ส่วนฝ่ายไทยเตรียมนำข้อสรุปนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์ ตั้งเป้าหมายว่าไตรมาส 1 ของปี 2566 จะเริ่มนับหนึ่งการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ได้

“การเดินทางไปยุโรปครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ประชุมและแสดงเจตจำนงร่วมกันที่จะเริ่มต้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ไทยเองได้ใช้ความพยายามในการเจรจาทำเอฟทีเอกับอียูมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถนับหนึ่งได้อย่างเป็นรูปธรรม จนมาประสบความสำเร็จในครั้งนี้

และหากทำสำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน ที่มีเอฟทีเอกับอียูต่อจากสิงคโปร์ เวียดนาม ทำให้ไทยจะมีตลาดการค้าที่ได้เปรียบคู่แข่งขันอื่นเพิ่มขึ้นอีก 27 ประเทศ เป็นแต้มต่อสำหรับไทย ทั้งเรื่องการค้า การค้าบริการ การลงทุน และอื่น ๆ ในอนาคต เป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป”

แรงหนุนจากปัจจัยโลก

หากนับย้อนกลับไปการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะไทยได้เริ่มเจรจากับ EU มาแล้ว 4 รอบ นับตั้งแต่ปี 2557 แต่เวลานั้น ไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้การเจรจาต้องหยุดชะงักลงไป และภายหลังจากที่ไทยกลับมามีการเลือกตั้งในปี 2561 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ EU พร้อมที่จะกลับมาเริ่มต้นกระบวนการเจรจา FTA อีกครั้ง

การเจรจากับ EU ทิ้งช่วงไปนาน 7-8 ปี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะกระแสโลกยุคดิจิทัล และการค้าผ่านออนไลน์ ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งสปีดย้อนกลับมาเปิดการเจรจากับอียูอีกครั้ง

ตามข้อมูลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17%

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอียู เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ และไก่แปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอียู เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยา เป็นต้น

ร่างกรอบเจรจา

ซึ่งจากการที่ไทยปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ

รวมทั้งนำผลการศึกษาวิจัยของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ทำการสรุปเพื่อเตรียมจัดทำกรอบเจรจา FTA ไทย-EU เมื่อช่วงปลายปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป้าหมายเพื่อให้กรอบหารือแคบขึ้นและเป็นข้อตกลงที่ไม่แตกต่างกันมาก

เมื่อมีการเปิดรับฟังและนำข้อสรุปจากความคิดเห็นที่ได้ กรมมีเป้าหมายที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ก่อนที่จะนำไปเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู

แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดส่งผลให้การเดินหน้าต่าง ๆ หยุดชะงัก ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ต่างเรียกร้องให้ไทยเร่งเปิดเจรจาเพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขัน เพราะจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างมาก หลายประเทศเริ่มมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ไทยต้องเร่งเปิดเจรจา FTA อย่างจริงจัง

เป้าหมาย FTA ไทย-อียู

การเจรจารอบใหม่ “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะรับหน้าที่ “หัวหน้าคณะเจรจา” ส่วนหัวข้อการเจรจาจะเป็นแบบครบทุกด้าน ทั้งการค้าอีคอมเมิร์ซ สินค้าบริการ การลงทุน การเดินหน้าไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน

โดยเป้าหมายการเจรจาด้านการค้า ไทยมุ่งขยายตลาดส่งออกสินค้าในตลาดยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร อาหารมากขึ้น เป็นเป้าหมายหลักที่ประเทศไทยต้องการที่จะผลักดันและสร้างแต้มต่อให้กับผู้ส่งออกไทย เพราะต้องยอมรับว่าหลายประเทศมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งเป็นการกีดกันทางการค้า

และจะทำให้ยุโรปที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยก็จะมีการยกเลิกเก็บภาษี เพราะปัจจุบันไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือจีเอสพี จากยุโรป ตั้งแต่ต้นปี 2558 ส่งผลให้ไทยมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ล่าสุดยุโรปเองได้ออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ในสินค้า 7 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 และหากไทยมี FTA กับยุโรป ก็จะทำให้การค้า การส่งออก ลดการกีดกันและจะช่วยเพิ่มการค้า การส่งออกระหว่างกันให้มากขึ้น

เอกชนหนุนเต็มที่

ขณะที่ภาคเอกชน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าฯเห็นด้วยกับการเดินหน้าเจรจา FTA ไทย-อียู เพราะหลังจากที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่ปี 2558 ทำให้การค้า การลงทุนของไทยในอียูเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

การเจรจาเอฟทีเอจะช่วยเพิ่มแต้มต่อให้สินค้าส่งออกไทย อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของไทย หรือ “ครัวของโลก” ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ พลาสติก

ไม่เพียงเท่านั้น นักลงทุนไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนในอียูมากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ค้าปลีก เกษตรและอาหาร ในขณะเดียวกันสามารถดึงดูดนักลงทุนอียูเข้ามาลงทุนในไทยได้มากขึ้น อาทิ การขนส่งทางทะเล การเงินการประกันภัย ธุรกิจพลังงานสะอาด การศึกษา และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

“GDP ของไทย หากการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ประสบความสำเร็จ คาดว่าจะขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียู เพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 2.16 แสนล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาทต่อปี”

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ประธานคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีนี้อาจจะมีบางหน่วยงานที่มีข้อกังวลในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการคุ้มครองพันธุ์พืช UPOV1991 มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน

หน่วยงานเหล่านี้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเสนอข้อคิดเห็นตั้งแต่ก่อนการเจรจาและในระหว่างการเจรจาได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม สภาหอการค้าฯหวังว่าการเจรจาจะประสบความสำเร็จ ซึ่งจะทำให้การค้าและการลงทุนของทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัวมากยิ่งขึ้น และประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยด้วย