โรงงานอุตสาหกรรมไร้ข้อกังขา ตรวจ PM 2.5 ผ่านทุกแห่ง

โรงงาน
แฟ้มภาพประกอบข่าว

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดแผนงานเชิงรุกคุมเข้ม 5 กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเสี่ยงปล่อย PM 2.5 มากสุด พบ 1,156 แห่งผ่านมาตรฐาน ผู้ประกอบการตื่นตัวและร่วมมือมากขึ้น “บางจาก” ยอมลดค่าซัลเฟอร์ในน้ำมันชั่วคราวที่ขายในปั้ม กทม. ช่วยลดฝุ่น ด้าน สมอ. เร่งออกมาตรการยูโร 5 ส่วน สอน. ลดการเผาอ้อยให้ได้

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่กำลังเกินค่ามาตรฐานในขณะนี้ ทางกรมได้ดำเนินตามมาตรการเร่งด่วน โดยควบคุมการประกอบกิจการอย่างเข้มงวด กับ 5 กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการเผาไหม้ ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 896 โรงงาน

ประกอบด้วย โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก

จุลพงษ์ ทวีศรี
จุลพงษ์ ทวีศรี

แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 260 โรงงาน และโรงงานในเขตปริมณฑล (สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี) จำนวน 636 โรงงาน หากพบการกระทำผิด จะให้สั่งปรับปรุงแก้ไขหรือหยุดประกอบกิจการทันที

“จากที่เราส่งจดหมายเตือนให้โรงงานต้องปฎิบัติตามมาตั้งแต่ ต.ค. 2565 เราลงสุ่มตรวจยังไม่พบว่ามีรายใดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรการ ปีนี้เราพบว่าโรงงานมีความตื่นตัวเรื่องฝุ่นละอองขนาด เล็กมากขึ้น และปีนี้ผู้ประกอบการมีการกํากับการประกอบกิจการของตนเองดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา อย่าง บางจาก เขายอมลดค่าซัลเฟอร์ที่ใช้ผสมในน้ำมันชั่วคราวที่ขายในปั๊ม กทม. ช่วยลดฝุ่น โดยรวมจึงถือว่าเราควบคุมเรื่องนี้ได้ดี และชัดเจนว่าโรงงานไม่ใช่ต้นเหตุของการเกิด PM 2.5 แต่เราก็ต้องควบคุมเรื่องการปล่อยควันฝุ่นอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ไปซ้ำเติมฝุ่น PM 2.5 ที่วิกฤตอยู่ตอนนี้”

ทั้งนี้ กรอ.ได้บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องติดเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ (CEMS) เพื่อติดตามข้อมูลการระบายมลพิษอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และให้โรงงานส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกลแสดงผลบนเว็บไซต์ของ กรอ. และแอปพลิเคชั่น POMS (Pollution Online Monitoring System)

ซึ่งประชาชนสามารถติดตามการระบายมลพิษอากาศของโรงงานได้ตลอดเวลา พร้อมกำชับผู้ประกอบการวางแผนการผลิต และควบคุมดูแลการประกอบกิจการ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ต้องดูแลรักษาระบบบำบัดมลพิษอากาศให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา

นอกจากนี้ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานเตรียมมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเช่นกัน โดยสํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดําเนินการออกมาตรฐานเครื่องยนต์ยูโร 5 และ 6 ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) หรือบอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. กําหนดเป็นมาตรฐานบังคับ ตามมาตรฐานยูโร 5 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567

สํานักงานอ้อยและน้ําตาลทราย (สอน.) ให้ลดการตัดอ้อยไฟไหม้ และส่งเสริมการตัดอ้อยสด โดยจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อลด ต้นทุนการตัดอ้อยสดโดยไม่ต้องเผาอ้อย สําหรับฤดูการผลิต 2565/2566 ได้รับการอนุมัติงบประมาณ ช่วยเหลือเป็นจํานวน 8,159 ล้านบาท พร้อมกับสนับสนุนจัดการแหล่งน้ำ ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยตั้งเป้าไม่ให้มีการตัดอ้อยไฟไหม้ เกิน 5% ของจํานวนอ้อยทั้งหมด