ปลาหยก 1 ในปลาเอเลี่ยนห้ามเลี้ยง กรมประมง สั่ง ซี.พี.ระงับโปรโมต

กรมประมง ออกโรงแจงปมร้อน ปล่อย ซี.พี.โปรโมต “เก๋าหยก” เผยเป็น 1 ในปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ห้ามเพาะเลี้ยง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง ล่าสุด สั่งระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิฉะนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า จากกรณีที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ทำการเปิดตัว “ปลาเก๋าหยก” ซึ่งได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าลูกปลาจากประเทศจีน เพื่อทดลองเพาะเลี้ยงที่ฟาร์มปลา ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

โดยชูระบบการเลี้ยงที่ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทำการตลาดปั้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ จนเกิดเป็นกระแสความสนใจของสาธารณชนต่อประเด็นการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยในอนาคตนั้น

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลาเก๋าหยก” หรือ Jade perch มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scortum barcoo เป็นปลาน้ำจืด ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย และมีการนำเข้ามาเพาะเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจในประเทศจีนและมาเลเซีย

โดยปลาเก๋าหยกจัดเป็น 1 ในสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด ที่ห้ามเพาะเลี้ยงในประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ

ซึ่งผู้จะทำการเพาะเลี้ยงต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย หากผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับกรณีของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยกเพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2561 ซึ่งหลังจากระยะทดลองได้มีการชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 40 คู่ ต่อมาบริษัทได้ขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือนเมษายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่

ซึ่งกรมประมงได้อนุญาตให้ศึกษาวิจัยดังกล่าว โดยผ่านมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด คือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น โดยบริษัทต้องดำเนินการในพื้นที่ที่กรมประมงอนุญาตเท่านั้น และห้ามเคลื่อนย้ายปลามีชีวิตออกจากบริเวณที่อนุญาตโดยเด็ดขาด ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลองเพื่อศึกษาวิจัยด้านการตลาด

กรมประมงอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลผลิตที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น ปลาแช่แข็ง และอนุญาตให้จำหน่ายในช่องทางของบริษัทในเครือตามที่บริษัทเสนอแผนการศึกษามาเท่านั้น เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส แม็คโคร ทั้งนี้ การดำเนินการศึกษาวิจัยต้องรายงานให้กรมประมงรับทราบทุกขั้นตอน ตลอดจนต้องส่งผลการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์แก่กรมประมง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า “การออกข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัทดังกล่าว ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต และมีการทำประชาสัมพันธ์รวมถึงทำการตลาดโดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ”

โดยขณะนี้กรมประมงได้แจ้งให้บริษัทระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิฉะนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทจะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยกได้ต่อไป อธิบดีกรมประมงกล่าว