
คพ.ยืนยันผลการตรวจสอบสารพิษ เกิดจากกิจกรรมโรงงานบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้นัดอ่านคำอุทธรณ์ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลยที่ 1 และนายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล จำเลยที่ 2 ที่ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ว่าจำเลยทั้งสองประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมาย
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- นายกฯตั้งบอร์ดใหญ่คุมแจกเงิน 10,000 บาท ห้าง-โมเดิร์นเทรดรับอานิสงส์
- กรมอุตุฯเตือน “พายุดีเปรสชั่น” เข้าไทย รับมือฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน
โรงงานไม่มีการระบายน้ำออกสู่ภายนอก หลุมฝังกลบเป็นการฝังกลบของเสียไม่อันตราย ซึ่งมีการก่อสร้างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงผลการตรวจสอบของ คพ.ที่ตรวจพบสารพิษมีค่าสูงเกินมาตรฐานเป็นส่วนผสมชนิดหนึ่งของยากำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเกษตร
และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์ของจำเลย โดยไม่ให้ทุเลาการบังคับคดีแก่จำเลย ตามที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาไว้เมื่อปี 2563 ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนและการกำจัดสารพิษ รวมถึงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้แก่โจทย์ทั้ง 3 ราย และสมาชิกกลุ่มในหมู่ 1 ตำบลน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี นั่นหมายความว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังคงมีผลบังคับต่อจำเลยต่อไป
นายพิทยา กล่าวว่า จากการกล่าวอ้างของจำเลย ว่าผลการตรวจสอบของ คพ.ที่ตรวจพบสารพิษมีค่าสูงเกินมาตรฐานเป็นส่วนผสมชนิดหนึ่งของยากำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเกษตร นั้น คพ.ยืนยันผลการตรวจสอบเมื่อปี 2556 – 2561 ตรวจพบการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบ่อสังเกตการณ์ภายในโรงงานและบ่อน้ำใช้ของประชาชนบริเวณใกล้เคียงมีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน
ตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายในดินภายในโรงงานมีค่าสูง และตรวจพบสารอินทร์ระเหยง่ายในน้ำผิวดินบริเวณใกล้เคียงโรงงาน ประกอบกับทิศทางการไหลของชั้นน้ำบาดาลระดับตื้น บ่งชี้ได้ว่าสาเหตุเกิดจากกิจกรรมของโรงงานจริง
ทั้งนี้ คพ. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากกรณีโรงงานดังกล่าว ปัจจุบันมีการขนของเสียที่ตกค้างภายในโรงงานทั้งที่ถูกเพลิงไหม้และไม่ถูกเพลิงไหม้ออกไปกำจัด รวมถึงการเสนอของบกลางมาใช้ในการฟื้นฟูการปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน และหน่วยปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จะติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาต่อไป