กรมควบคุมมลพิษ ออกโรงเฝ้าระวังจุดความร้อน ผนึกอาเซียน รับมือฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5
ศูนย์ภาพเครือมติชน

กรมควบคุมมลพิษ เฝ้าระวังหมอกควันจุดความร้อน (Hotspot) ข้ามแดน ประสานประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านสำนักเลขาธิการอาเซียน ยกระดับเฝ้าระวังจุดความร้อน รับมือฝุ่น PM 2.5

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามและให้นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพอนามัยพี่น้องประชาชน

ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน ประเทศไทยได้อาศัยการเจรจาในเวทีอาเซียนภายใต้ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรายงานสภาพปัญหา

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี
ปิ่นสักก์ สุรัสวดี

ตามข้อกำหนดของข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน มีการกำหนดการแจ้งเตือน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ โดยพิจารณาจากสภาพอากาศและจำนวน Hotspot ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ระดับ 0 สภาวะปกติ ระดับ 1 เข้าสู่ฤดูแล้ง ระดับ 2 มี Hotspot เกิน 150 จุด 2 วันติดต่อกัน และมีกลุ่มควันหนาแน่น สภาพอากาศแห้งแล้ง ประกอบกับมีลมซึ่งสามารถพัดกลุ่มควันเข้าประเทศสมาชิก และระดับ 3 มี Hotspot เกิน 250 จุด 2 วันติดต่อกัน และมีกลุ่มควันหนาแน่น สภาพอากาศแห้งแล้ง ประกอบกับมีลมซึ่งสามารถพัดกลุ่มควันเข้าประเทศสมาชิก

ซึ่งเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 สำนักเลขาธิการเซียนได้แจ้งยกระดับการแจ้งเตือนไปยังประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับ 2

ทส. ในฐานะเป็นหน่วยงานผู้ประสานงานของประเทศไทย นายวราวุธได้สั่งการให้ คพ. ติดตามและรายงานสถานการณ์ในประเทศตามแบบฟอร์มที่สำนักเลขาธิการอาเซียนกำหนดเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนสรุปสถานการณ์ภาพรวมของทั้งภูมิภาค และแจ้งกลับไปยังประเทศสมาชิกให้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคต้องอาศัยความร่วมมืออย่างยั่งยืนจากทุกประเทศ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันสุขภาพ ในกรณีอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หมอกควันข้ามแดน

26 จังหวัด ค่าฝุ่น PM 2.5

พร้อมกันนี้ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ 07.00 น. สรุปดังนี้

ภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี กรุงเทพฯ จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.สระบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สระแก้ว และ จ.ระยอง

ทั้งนี้ ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 31-119 มคก./ลบ.ม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 26-46 มคก./ลบ.ม.

ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 31-75 มคก./ลบ.ม.

ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 38-59 มคก./ลบ.ม.

ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 12-23 มคก./ลบ.ม.

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ​ ​กทม. เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 35-74 มคก./ลบ.ม.

คำแนะนำทางสุขภาพ

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น โดยประชาชน​ที่อยู่​บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ​ (พื้นที่สีแดง)​ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์

GISTDA เปิดจุดความร้อน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ไทยพบจุดความร้อนวานนี้ (22 ก.พ. 2566) จำนวน 1,984 จุด ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมายังคงเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 3,790 จุด รองลงมาคือกัมพูชา 2,733 จุด ตามด้วยประเทศไทย, สปป.ลาว 1,274 จุด, เวียดนาม 168 จุด และมาเลเซีย 15 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 736 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 570 จุด พื้นที่เกษตร 277 จุด ชุมชนและอื่น ๆ 194 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 192 จุด และริมทางหลวง 15 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 5 อันดับคือ #ตาก 171 จุด, #กาญจนบุรี 148 จุด, #กำแพงเพชร 147 จุด, #ชัยภูมิ 145 จุด, #อุตรดิตถ์ 111 จุด ตามลำดับ

ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาทิ #น่าน #หนองคาย #บึงกาฬ #หนองบัวลำภู #อุดรธานี อยู่ระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ ส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น อยู่ในระดับปานกลาง แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่อาจจะตามมา

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่