ชัชชาติ รีดค่าบำบัดน้ำเสีย ธุรกิจโรงแรม-โรงงานจ่ายอ่วม

ชัชชาติ บำบัดน้ำเสีย

“ชัชชาติ” เตรียมเก็บค่าบำบัดน้ำเสียในรอบ 19 ปี นำร่องจัดเก็บกลุ่มประเภทที่ 3 ใช้น้ำเกิน 2 พันลูกบาศก์เมตรต่อวัน เผย “โรงงาน-โรงแรม-มิกซ์ยูส” เฉพาะ 22 เขต รวม 1,146 แห่งอ่วม ส่วนประเภท 2 บ้านพัก-คอนโดฯรอด คาดลงนามยกร่างประกาศข้อบัญญัติกลางปีนี้ บิ๊ก กทม.จี้แผนงานก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ต้องคุ้มค่าและใช้ได้จริง

กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีข้อบัญญัติที่จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ปี 2547 ในยุคนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการ กทม. แต่จนถึงวันนี้รวมระยะเวลา 19 ปี กทม.ยังไม่เคยจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ล่าสุดมาถึงยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

กทม.เริ่มนับหนึ่ง

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน กทม. โดยสำนักการระบายน้ำอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศข้อบัญญัติการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียเป็นครั้งแรก ซึ่งจะลงนามโดยผู้ว่าราชการ กทม.คนปัจจุบัน ภายในเดือนมิถุนายน 2566 และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนั้นจะเริ่มภายหลังจากมีประกาศลงนามผู้ว่าราชการ กทม.แล้ว 60 วัน

ทั้งก่อนหน้านี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดข้อบัญญัติดังกล่าว โดยกำหนดสาระสำคัญของแหล่งกำเนิดน้ำเสียแต่ละประเภท จากเดิม 12 ประเภท เหลือเพียง 3 ประเภท ได้แก่

แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 1 แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1.บ้านเรือนที่พักอาศัย 2.อาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หอพัก อัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บ 2 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ 1.หน่วยงานของรัฐ อาคารทำการของหน่วยงานรัฐ 2.มูลนิธิ ศาสนสถาน 3.โรงพยาบาลและสถานพยาบาล 4.โรงเรียน 5.สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร อัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.โรงแรม 2.โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน อัตราค่าธรรมเนียม 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

“การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียครั้งนี้จะเก็บเฉพาะแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 คือ กลุ่มโรงแรม โรงงาน และโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ mixed use ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ใช้น้ำเป็นจำนวนมาก คือเดือนหนึ่งเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร อัตราจัดเก็บอยู่ที่ 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร” นายวิศณุกล่าว และว่า

ปกติโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียของตนเองอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นต้นทุนการบริหารจัดการรายปีที่มีราคาสูงกว่าการจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียให้กับ กทม. ดังนั้น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของ กทม.จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ประกอบการด้วย

“ส่วนประเภทอื่น ๆ เช่น บ้านพักที่อยู่อาศัย หรือแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 1 นั้น ปัจจุบัน กทม.ยังไม่มีแนวคิดจัดเก็บ จะนำร่องกลุ่มประเภทที่ 3 ก่อน”

ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อส่วนรวมและประชาชนทั่วไป และในเบื้องต้นคาดว่า กทม.จะสามารถจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท

โดยทางสำนักการระบายน้ำ กทม. กำลังจัดทำร่างประกาศฉบับดังกล่าว พร้อมจัดเตรียมข้อมูลแหล่งกำเนิดน้ำเสียแต่ละประเภท รวมถึงการจัดทำบันทึกข้อตกลงกับการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบ และได้ประสานงานกับกองจัดเก็บรายได้ของ กทม. เพื่อพัฒนาระบบการจ่ายค่าธรรมเนียมด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์

ข้อบัญญัติฉบับแรกของปี 2547 มีสาระสำคัญระบุไว้ว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ตามแต่ประเภทของกลุ่มผู้ปล่อยน้ำเสีย ซึ่งแบ่งออกเป็น 12 ประเภท และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้จะเก็บเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสียของ กทม.ตั้งอยู่ กรณีที่แหล่งกำเนิดน้ำเสียมีการบำบัดน้ำเสียอยู่แล้วจะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บ

เผย 1,146 แห่งที่ต้องจ่าย

นางสาวเกศรัชฎา กลั่นกรอง ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ สำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมครั้งนี้จะจัดเก็บเฉพาะแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 และไม่ได้เก็บทั่วทุกพื้นที่ของ กทม. แต่เป็นการจัดเก็บตามพื้นที่ที่มีระบบบำบัดน้ำสียของ กทม.ตั้งอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุม 22 เขต จากการสำรวจล่าสุดพบว่าแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 มีทั้งสิ้น 1,146 แห่ง

ซึ่งทางสำนักงานอยู่ระหว่างการจัดทำแบบคู่ขนาน กล่าวคือ การเร่งแก้ไขร่างประกาศเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะรายที่มีระบบการบำบัดน้ำเสียของตนเองนั้น ร่างที่เคยเสนอไปครั้งแรกจะให้ส่งผลตรวจสอบการบำบัดน้ำเสียทุก ๆ 1 เดือน หรือวงรอบของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ จะปรับเปลี่ยนให้ส่งผลทดสอบคุณภาพน้ำในทุก 3 หรือ 6 เดือนแทน

ด้านการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ กปน.นั้น อยู่ระหว่างการตรวจร่าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกับการออกประกาศ

แจงข้อมูลโรงบำบัดน้ำเสีย

รายงานข่าวจาก กทม.เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.มีโรงบำบัดน้ำเสียที่เปิดใช้งานอยู่ 8 โรง มีศักยภาพบำบัดน้ำเสียวันละ 1,112,000 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเข้าระบบรวม 868,276 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และใช้งบประมาณในการเดินระบบบำบัดน้ำเสีย 700 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก พระนคร ยานนาวา สาทร บางรัก บางคอแหลม หนองแขม ภาษีเจริญ บางแค ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ จอมทอง ปทุมวัน ราชเทวี ดุสิต พญาไท ดินแดง ห้วยขวาง และบางซื่อ

อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 ที่คือ โรงบำบัดน้ำเสียธนบุรี ครอบคลุมพื้นที่เขตบางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และบางส่วนของเขตตลิ่งชัน การก่อสร้างมี 2 สัญญา วงเงิน 5,325,298,000 บาท มีศักยภาพบำบัดน้ำเสีย 160,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเหลืออีก 1 สัญญาอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง

และโรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่เขตมีนบุรี อยู่ระหว่างก่อสร้าง วงเงิน 618,250,000 บาท มีศักยภาพบำบัดน้ำเสีย 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และโรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียในแผนอีก 4 โรงคือ โรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย บึงหนองบอน ดอนเมือง และสายไหม

ทบทวนแผนก่อสร้าง

นายวิศณุกล่าวต่ออีกว่า ในเบื้องต้นโรงบำบัดน้ำเสียที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้น กทม.ไม่สามารถทบทวนได้ แต่จะกำกับงานให้แล้วเสร็จตามแผนและใช้งานได้จริง ส่วนโรงบำบัดน้ำเสียที่ยังไม่ได้ทำสัญญานั้น กทม.อยู่ระหว่างหารือเพราะปัจจุบันในการเปิดใช้โรงบำบัดน้ำเสียทั้ง 8 แห่งนั้น มีการใช้งาน 78% กทม.จึงต้องทบทวนการเร่งใช้ศักยภาพของโรงบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ให้เต็มที่ควบคู่ไปด้วย โดยจะปรับแผนการขยายพื้นที่โรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ให้มีขนาดพอเหมาะ เพื่อประหยัดงบประมาณไปพร้อม ๆ กัน

เผยงบฯ 4 พันล้าน

รายงานข่าวระบุอีกว่า โรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่ง ที่มีการจ้างเอกชนเดินเครื่องจักรบำบัดน้ำเสีย วงเงิน 4,235,949,000 บาทนั้น ประกอบด้วย

1.โรงบำบัดน้ำเสียหนองแขมและทุ่งครุ จ้างปี 2562-2567 วงเงิน 860,799,000 บาท

2.โรงบำบัดน้ำเสียบางซื่อ จ้างตั้งแต่ปี 2562-2567 วงเงิน 735,350,000 บาท

3.โรงบำบัดน้ำเสียช่องนนทรี จ้างปี 2562-2568 วงเงิน 982,500,000 บาท

4.โรงบำบัดน้ำเสียดินแดง จ้างปี 2564-2569 วงเงิน 982,500,000 บาท

5.โรงบำบัดน้ำเสียจตุจักร จ้างปี 2564-2569 วงเงิน 674,800,000 บาท

อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่าฯ กทม.ย้ำว่า “กทม.ต้องเร่งดำเนินการให้โรงบำบัดน้ำเสียสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณจริง ๆ”