ชัชชาติ ชงเก็บภาษี กทม.เพิ่ม 5 รายการใหม่ รีดค่าก่อมลพิษ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ เตรียมเสนอแก้ พ.ร.บ.กทม. เปิดช่องรีดภาษีน้ำมัน-ยาสูบ-ค่าธรรมเนียมโรงแรม-ค่าจอดรถ-ค่าก่อมลพิษ คาดนับหนึ่งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง 2566

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 26/2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการเพิ่มรายได้ของกรุงเทพมหานครจาก 5 ฐานภาษีใหม่ คือ

  1. ภาษียาสูบ จากเดิมไม่มีการจัดเก็บ เป็นจัดเก็บได้ไม่เกิน 10 สตางค์ต่อมวน
  2. ภาษีน้ำมัน จากเด็มจัดเก็บในอัตราไม่เกิน 5 สตางค์ต่อลิตร เป็นอัตราไม่เกิน 10 สตางค์ต่อลิตร
  3. ค่าธรรมเนียมโรงแรม จากเดิมไม่มีการจัดเก็บ เป็นไม่เกินร้อยละ 2 ของค่าเช่าห้อง
  4. ค่าก่อมลพิษ (Polluter Pay Principle หรือ PPP) จากเดิมไม่มีการจัดเก็บ โดยส่วนนี้เป็นสิ่งที่เมืองทั่วโลกได้มีการจัดเก็บเพื่อชดเชยความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการปล่อยมลพิษ
  5. ค่าจอดรถริมถนน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บ สภาพปัญหาในปัจจุบันคือมีบางคนใช้ถนนเป็นที่จอดรถระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรและไม่เกินการหมุนเวียนที่จอดรถ ทำให้ร้านค้าบริเวณนั้นได้รับผลกระทบจากการไม่มีที่จอดรถ จึงต้องมีการจัดเก็บส่วนนี้ โดยปัจจุบันได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่งเป็นผู้ศึกษา

แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ กทม.

การเพิ่มรายได้ของ กทม. โดยวิธีการเพิ่มฐานภาษีใหม่นั้นจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าไม่ใช่อำนาจของ กทม. ที่จะจัดทำเองได้ จะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้อำนาจ กทม. จัดเก็บรายได้เพิ่มเติม

ซึ่งเบื้องต้นนั้นทางสำนักการคลัง กรุงทพมหานครได้เสนอให้แก้ไขเพื่อจัดเก็บภาษียาสูบ ภาษีน้ำมัน และค่าธรรมเนียมโรงแรม ตามที่พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจได้บัญญัติไว้ ซึ่งได้มอบนโยบายเพิ่มเติมให้มีการศึกษาในการจัดเก็บค่าก่อมลพิษและค่าจอดรถเข้าไปด้วย

เนื่องจากการแก้ไขพระราชบัญญัติเป็นเรื่องใหญ่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย คือทั้งกระทรวงมหาดไทย คณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจะต้องทำให้ละเอียดและครอบคลุมทุกด้าน

โดยคาดว่าจะต้องเป็นช่วงหลังเลือกตั้งถึงจะสามารถเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัตินี้ได้ นอกจากนี้ กทม. จะต้องมีการลดค่าใช้จ่าย  และการปรับปรุงระบบสารสนเทศภาษีให้มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการรั่วไหลของการจัดเก็บรายได้ เช่น สารสนเทศภาษีป้าย สารสนเทศภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบบการออกใบเสร็จ ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจรับงานจากผู้รับจ้าง

เก็บภาษีเองลดลง 20%

นายชัชชาติยังกล่าวต่ออีกว่า จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างซึ่งใช้ฐานภาษีในการจัดเก็บคนละฐานภาษี คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้ราคาประเมินของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างใช้รายได้ที่เกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบันรายได้จากการจัดเก็บภาษีของ กทม. ลดลงกว่า 20% จากภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครสามารถสำรวจฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ประมาณ 70% ของฐานข้อมูลทั้งหมด