เมื่อเกษตรกรเวียดนามทิ้งกาแฟแห่ปลูกทุเรียน ดันราคาโรบัสต้าแพงพุ่งนิวไฮ 

ไร่กาแฟเวียดนาม
ไร่กาแฟในประเทศเวียดนาม/ แฟ้มภาพ ปี 2011 (ภาพโดย Kham/REUTERS)

เป็นเรื่องใหญ่ของตลาดกาแฟโลก ! เมื่อความนิยมบริโภคทุเรียนในประเทศจีนซึ่งมีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน ดึงดูดใจให้เกษตรกรจำนวนมากในประเทศเวียดนามเลิกปลูกกาแฟแล้วหันไปปลูกทุเรียนแทน ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟเวียดนามหายไปจากตลาดในสัดส่วนไม่น้อย 

เมื่อซัพพลายหายไปจากตลาด ผลที่ตามมาคือ ราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าก็เพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด ดังที่นิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2024 ว่า เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคากาแฟโรบัสต้าพุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่ หรือทำนิวไฮ 

ราคาฟิวเจอร์สหรือราคาตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมล็ดกาแฟโรบัสต้าในตลาดลอนดอนพุ่งสู่ระดับสูงสุดใหม่ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแตะระดับ 4,500 ดอลลาร์ต่อตัน แม้ว่า ณ ตอนนี้ตลาดจะเย็นลงแล้ว แต่ราคากาแฟก็ยังคงสูงกว่าช่วงปลายปีที่แล้วอยู่มาก

รายงานข่าวของนิกเคอิระบุว่า มี 3 ปัจจัยประกอบกันที่ทำให้ราคากาแฟโรบัสต้าพุ่งแรง คือสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตออกน้อย การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย และความนิยมบริโภคทุเรียนในจีน ซึ่งทำให้ชาวเวียดนามเลิกปลูกกาแฟเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนแทน

สืบเนื่องจากทุเรียนได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเวียดนามก็ได้เริ่มเข้าไปเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดทุเรียนแดนมังกรในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนเข้าจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 และได้ส่งทุเรียนเข้าจีนลอตแรกในวันที่ 19 กันยายน 2022

Advertisment

เมื่อปี 2023 เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนเป็นมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตามการรายงานของท้องถิ่นคาดว่าการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปจีนจะเติบโตต่อไปในปีนี้ 

เวียดนามเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุดในโลก การที่เกษตรกรเวียดนามหันไปปลูกทุเรียนทำให้พื้นที่ปลูกกาแฟลดลง ส่งผลให้อุปทานกาแฟโลกลดลง ส่วนการจะหาพื้นที่สำหรับปลูกกาแฟทดแทนพื้นที่ที่หายไปนั้นก็ทำได้ยาก เนื่องจากกาแฟมีข้อจำกัดของมัน คือเจริญเติบโตดีที่สุดในเขตร้อน และการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ไม่สามารถหาพื้นที่เพิ่มเติมจากพื้นที่ที่มีการทำการเกษตรอยู่แล้วได้  

ทั้งนี้ แนวโน้มความนิยมปลูกกาแฟที่ลดน้อยลง กับความนิยมปลูกทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในเวียดนาม เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตอุปทานกาแฟโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภัยแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อากาศที่ร้อนเกินไปและปริมาณน้ำฝนที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้นกาแฟให้ผลผลิตน้อย ปัจจัยเหล่านี้ประกอบกันทำให้ปัญหาอุปทานไม่เพียงพอรุนแรงยิ่งขึ้น 

องค์การกาแฟระหว่างประเทศ (International Coffee Organization) รายงานว่า ในระหว่างเดือนตุลาคม 2022 ถึงกันยายน 2023 เวียดนามผลิตเมล็ดกาแฟได้จำนวนทั้งสิ้น 29.2 ล้านถุง ขนาดน้ำหนักถุงละ 60 กิโลกรัม ลดลง 9.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี 

Advertisment

มารูเบนิ (Marubeni) บริษัทการค้ารายใหญ่ของญี่ปุ่นบอกว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ดันราคากาแฟโรบัสต้าขึ้น คือบริษัทใหญ่ ๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังเปลี่ยนจากการใช้เมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าระดับไฮเอนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มาใช้เมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่มีราคาไม่แพงนัก เพื่อตอบสนองต่อต้นทุนการขนส่งและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น 

ปัจจัยเชิงโครงสร้างอย่างเช่นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนก็มีส่วนดันราคากาแฟโรบัสต้าขึ้นด้วยเช่นกัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 ถึงกันยายน 2023 การบริโภคกาแฟโรบัสต้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีจำนวนทั้งสิ้น 44.5 ล้านถุง (ขนาด 60 กิโลกรัม) มากกว่า 1 ใน 4 ของการบริโภคทั่วโลก และเพิ่มขึ้น 12% จาก 4 ปีก่อนหน้านั้น ขณะที่การบริโภคทั่วโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 1% ในช่วงเวลาเดียวกันนี้