กุ้งไทยทวงเข็มขัดแชมป์ “ซีพีเอฟ-ทียู” กางแผนฟื้นส่งออก

อดิเรก ศรีประทักษ์-เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์

นับเป็นเวลา 10 ปีที่ “ไทย” ตกอันดับแชมป์ส่งออกกุ้งโลก จากที่เคยส่งออกได้ปีละ 600,000 ตัน ในปี 2555 เหลือ 250,000 ตันในปี 2565 จากภาวะกุ้งตายด่วน หรือ EMS ซึ่งต่อมาทางกรมประมงได้มีนโยบายฟื้นฟูส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งโดยมีเป้าหมายจะผลักดันการผลิตกุ้งให้ได้ 400,000 ตัน ในปี 2566

ชู 3 กลุยทธ์ฟื้นฟู

ล่าสุด นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาในระบบการเลี้ยงกุ้งมีผลผลิตรวม 250,000 ตัน และเมื่อรวมกับการผลิตนอกระบบอีก 50,000 ตัน เท่ากับว่ามีปริมาณรวม 300,000 ตัน ยังไม่ถึงเป้าหมาย 320,000 ตัน แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงแผน ส่วนปีนี้ กรมมีแผนจะเพิ่มการเลี้ยงให้ได้ 400,000 ตัน

โดยได้มีการเตรียม 3 กลยุทธ์ ในการฟื้นฟูกุ้งทะเล ประกอบด้วย 1) กลยุทธ์การตลาด โดยมีการตั้งคณะทำงาน 1 ชุด เพื่อดูแลและวางมาตรการขยายตลาดกุ้งทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งวางมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลี้ยง ว่าสามารถจำหน่ายได้ตามกลไกตลาด

พร้อมทั้งได้มีการศึกษาการทำตลาดกุ้ง เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันไทยตกอันดับจากแชมป์เบอร์ 1 ของโลก มาอยู่ที่อันดับ 5-6 ของโลก ฉะนั้นต้องมีมาตรการอย่างไร ที่จะขยายตลาดทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน

2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้ง ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์กุ้งคุณภาพดี เช่น สิชล 1 ที่โตเร็วและต้านทานโรค ทั้งยังมีการตรวจสอบพันธุ์กุ้งแบบ lot by lot เพื่อให้ได้กุ้งที่มีคุณภาพดีทุกลอต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการเลี้ยง ตลอดจนการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อต่อยอดองค์ความรู้

และวางแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกัน และ 3) กลยุทธ์เกี่ยวกับโรคกุ้ง เช่น การให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยง การส่งเสริมห้องปฏิบัติการภาคเอกชน การจัดทำ shrimp sandbox ในการเลี้ยงกุ้งที่มีมาตรฐาน เป็นต้น

Advertisment

“ปัจจุบันไทยเตรียมทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกมาสนับสนุนให้การส่งออกกุ้งไปอียูฟื้นตัวมากขึ้น จากที่เคยหายไป และหากดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดนี้เชื่อว่าไทยจะผลิตกุ้งได้ 4 แสนตันตามเป้าหมาย หรืออาจจะมากกว่า 4 แสนตันด้วย”

ซีพีเอฟยืน 1 กุ้งโลก

ด้าน นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ฉายภาพว่า ตลาดกุ้งในโลกปัจจุบันมีผู้ผลิตกุ้งเบอร์ 1 คือเอกวาดอร์ ปีละ 500,000-600,000 ตัน เบอร์ 2 คืออินเดีย 300,000-400,000 ตัน และเบอร์ 3 กลายเป็นเวียดนาม ซึ่งแต่เดิมอินเดียและเวียดนามเคยเป็นรองเมืองไทย เมืองไทยในอดีตเคยเป็นเบอร์ 1

Advertisment

แต่วันนี้เมืองไทยกลายเป็นเบอร์ 4 ช่วงหลังมีโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ไทยเลี้ยงกุ้งไม่ค่อยประสบความสำเร็จ การพัฒนาต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงช้า กลายเป็นอินเดีย เวียดนาม แต่ก่อนอยู่หลังเราก็พัฒนาขึ้นมา ตอนนี้ตลาดกุ้งแข่งขันกันไม่กี่ประเทศ ประเทศที่ซื้อกุ้งเยอะที่สุดคืออเมริกา

“สินค้ากุ้งตอนนี้ทางซีพีเอฟขยายการลงทุนออกไปหลายประเทศ หลังจากเราประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงกุ้งในไทย เราก็ไปขยายในเวียดนาม อเมริกา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย อินเดีย เพราะอากาศร้อนเหมือนกัน นั่นจึงทำให้เรายังเป็นเบอร์ 1 ของโลกในเรื่องกุ้ง เรามีนักวิชาการและนักพันธุกรรมที่เก่งในการพัฒนาเรื่องสายพันธุ์กุ้งได้ดี พอลูกกุ้งดีบวกกับอาหาร น้ำ

และระบบการจัดการดีทำให้กุ้งโตหากดูตำแหน่งเฉพาะในประเทศไทยอาจจะอ่อนลง แต่หากเราไปบวกการเลี้ยงที่ลงทุนในประเทศเวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียเข้าไป ธุรกิจเรื่องกุ้งซีพีเอฟก็ยังเป็นเบอร์ 1”

ตาราง งบประมงกุ้ง

ล่าสุด เราไปฟื้นฟูการผลิตกุ้งที่อินเดียหลังจากการเปลี่ยนรัฐบาล ที่นั่นสามารถผลิตได้ 400,000 ตัน เป็นกุ้งขาว 80% กุ้งกุลาดำ 20% แต่ด้วยความที่ปีก่อนนี้ผลผลิตเอกวาดอร์ล้นทะลักออกมามาก ทางอินเดียก็ส่งออกไปอเมริกาจำนวนมากด้วย จึงถูกกระทบทำให้ราคากุ้งมันตก และต้นทุนสูงขึ้นจากอาหารกุ้ง

“แนวโน้มปีนี้น่าจะดี ขอให้รัฐบาลอย่าเก็บภาษีวัตถุดิบพวกปลาป่นอะไรต่าง ๆ หลาย ๆ ตัว และอย่ามาควบคุมราคาเลย ซึ่งทางรัฐบาลที่นั่นช่วยให้ความร่วมมือ ทั้งเรื่องไฟฟ้าอะไรต่าง ๆ ก็ช่วยสนับสนุน โดยทางท่านทูตไทยประจำอินเดียไปขอร้องรัฐบาล บอกว่า ถ้าสามารถลดต้นทุนได้ ก็สามารถแข่งขันออกไปทั่วโลกได้ พอส่งออกไปอเมริกาได้ สู้กับเอกวาดอร์ได้ ซึ่งทางรัฐบาลก็เข้าใจ ทำให้ผลิตกุ้งได้ ราคาก็ดีขึ้น”

ทียูปรับสูตรซื้อกุ้ง

ด้าน นายธนโชติ บุญมีโชติ กรรมการผู้จัดการ (ธุรกิจกุ้ง) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู กล่าวว่า การบริโภคกุ้งแต่ละปีเติบโต 4-5% ไทยเคยส่งออกไปอเมริกาเบอร์ 1 ก่อนที่จะมีโรคตายด่วน (EMS) ผลิตได้ 500,000-600,000 ตัน ตอนนี้เหลือ 250,000 ตัน คู่แข่งกุ้งเราคือเอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

โดยหากวิเคราะห์จุดแข็ง อินเดียสามารถผลิตกุ้งไซซ์ใหญ่ ราคาถูก ชณะที่เวียดนามมีความได้เปรียบเรื่องแรงงานจำนวนมาก และค่าแรงถูก จึงสามารถผลิตกุ้งไซซ์กลาง-เล็ก ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแปรรูปขายได้ราคาดีกว่าคอมมิวนิตี้ด้วย

“ในส่วนของไทยแม้ว่าในช่วง 10 ปีนี้จะอยู่กับอีเอ็มเอสได้แล้ว แต่ไทยต้องดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตของเกษตรกรให้แข่งขันได้ เพราะตอนนี้ไทยขายแพงกว่าอินเดีย 20-30% แต่เกษตรกรยังอยู่ไม่ได้ ในปีที่ผ่านมาต้นทุนอาหารกุ้งปรับราคาสูงขึ้น เกษตรกรก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งอาหารกุ้งและค่าไฟฟ้า โรงงานจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบ บริหารจัดการเพื่อไม่ให้เสียมาร์เก็ตแชร์ให้คนอื่น และรักษาในส่วนของประเทศไว้”

ในแต่ละปีทางทียูใช้ประมาณ 25-30% “ของประเทศ ที่ได้ 250,000 ตัน แต่ทียูไม่ทำฟาร์มเองแล้ว แต่ใช้การสร้างระบบประกันราคาขั้นต่ำการซื้อ spot buy กำหนดราคาประกัน เพื่อสร้างความมั่นใจจะซื้อปริมาณเท่าไร แทนวิธีการที่เคยใช้คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง

มักประสบปัญหาหากราคาตลาดสูงมาก ๆ เกษตรกรจะนำสินค้าไปขายข้างนอก ทำให้สินค้าไม่เพียงพอ แต่หากราคาตลาดตก เกษตรกรจะเทขายมายังโรงงานจนล้น ซึ่งสปอตบายจะกำหนดปริมาณการรับซื้อเลย ที่เหลือนอกเหนือจากนี้เกษตรกรสามารถไปขายที่อื่นได้ ไม่มีพันธสัญญา

และการกำหนดราคาประกันโดยคำนวณอ้างอิงต่างประเทศ โดยกำหนดราคาแตกต่างกัน เน้นให้ความสำคัญกับอันดับแรกกับลูกค้าที่ใช้อาหารและลูกกุ้งจะบวกพรีเมี่ยมให้มากกว่าตลาด เพื่อส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าเราก่อนเป็นอันดับแรก