กุ้งไทยปี 2565 ไปไม่ถึงฝัน 3 แสนตัน ลุ้นรัฐบาลใหม่ฟื้นฟู

กุ้ง

แม้ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 2565) มูลค่าการส่งออกกุ้งไทยจะทำได้ 42,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 39,251 ล้านบาท จากอานิสงส์การแข็งอ่อนของเงินบาทมาช่วยหนุน

แต่หากพิจารณาจากปริมาณการส่งออก 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่าไทยส่งออกกุ้งได้ 122,208 ตัน ลดลง 5.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 128,758 ตัน โดยการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด เช่น สหรัฐที่ 31,166 ตัน ลดลง 12.75% จากปีก่อน 35,722 ตัน สหภาพยุโรป (อียู) ที่ 2,717 ตัน ลดลง 24.76% จากปีก่อน 3,611 ตัน

ส่วนภาพรวมตลาดเอเชียส่งออก 79,211 ตัน ลดลง 128% จากปีก่อน 80,235 ตัน แต่ยกเว้น ตลาดจีน ส่งออกได้ 18,820 ตัน เพิ่มขึ้น 1.85% จากปีก่อน 18,479 ตัน ญี่ปุ่นได้ 32,342 ตัน เพิ่มขึ้น 11.32% จากปีก่อน 29,052 และออสเตรเลียที่ 3,748 ตัน เพิ่มขึ้น 7.05% จากปีก่อน 3,500 ตัน

คู่แข่งเพิ่มผลผลิตพุ่ง

ส่วนภาพรวมผลผลิตกุ้งเลี้ยงในตลาดโลกจะใกล้เคียง 4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน 4.3 ล้านตัน ในแง่การแข่งขันเทียบกับประเทศคู่แข่งปี 2565 พบว่าทุกประเทศมีการเพิ่มการผลิต โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอเมริกากลาง-อเมริกาใต้ มีอัตราการผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ

คาดการณ์ภาพรวมปีนี้ประเทศในกลุ่มนี้จะผลิตกุ้งได้ 1.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน 1.5 ล้านตัน โดยเฉพาะเอกวาดอร์ เบอร์ 1 โลก คาดว่าผลิตได้ 1.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน 1.05 ล้านตัน ส่วนอเมริกากลาง 9.4 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน 8.5 หมื่นตัน โคลอมเบีย-เวเนซุเอลา 6.5 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน 6 หมื่นตัน นับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนประเทศลำดับรองลงมา คือ จีน คาดว่าจะผลิตได้ 9 แสนตัน เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน 8 แสนตัน อินเดียคาดว่าผลิตได้ 7.4 แสนตัน เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน 7.3 แสนตัน อินโดนีเซียคาดว่าผลิตได้ 2.8 แสนตัน เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน 2.5 แสนตัน ฟิลิปปินส์คาดว่าผลิตได้ 7 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน 6 หมื่นตัน มาเลเซียคาดว่าผลิตได้ 5.3 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน 5 หมื่นตัน ยกเว้นเวียดนามที่มีปริมาณการผลิตลดลง 8% เหลือ 4.53 แสนตัน จากปีก่อนที่ผลิตได้ 4.94 แสนตัน

กราฟฟิกส่งออกกุ้ง

ผลผลิตกุ้งไทยไม่ถึงฝัน

ไทยผลิตได้ทรงตัวปริมาณ 2.8 แสนตัน ต่ำกว่าเป้าหมายกรมประมงที่วางไว้ 3.2 แสนตัน เป็นผลพวงจากเศรษฐกิจไทยบอบช้ำจากวิกฤตการโควิด-19 มานานกว่า 3 ปี ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ฤดูฝนมาเร็วและยาวนานกว่าปกติ ทำให้ไทยมีปริมาณฝนตกมากในเกือบทุกภาค แหล่งน้ำธรรมชาติมีความเค็มต่ำ เกิดโรคตัวแดงดวงขาว โรคขี้ขาว

อีกทั้งต้นทุนการเพาะเลี้ยง ทั้งค่าขนส่ง ค่าอาหาร ค่ายาที่แพงขึ้น เกษตรกรจึงต้องทยอยปล่อยกุ้งและลดความหนาแน่นในการเลี้ยง และปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวจากผลพวงการระบาดของโควิดก่อนหน้านี้ ทำให้การเลี้ยงประสบปัญหามากกว่าทุกปี เป็นเหตุให้ผู้เพาะเลี้ยงปล่อยลูกกุ้งน้อยลง

นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นล้วนส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง ฉุดรั้งสถานการณ์ผลผลิตปี 2565 ตกต่ำ โดยคาดการณ์ว่าปี 2565 ภาพรวมกุ้งเลี้ยง จะผลิตได้ 2.8 แสนตัน ใกล้เคียงกับปีก่อน

โดยสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน (มีสัดส่วน 21% ของผลผลิตรวม) คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิต 58,200 ตัน ลดลง 2% จากปีก่อน 59,200 ตัน ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย (มีสัดส่วน 10% ของผลผลิตรวม) คาดมีผลผลิต 28,400 ตัน ลดลง 21% จากปีก่อน 36,100 ตัน ภาคใต้ตอนบน (มีสัดส่วน 32% ของผลผลิตรวม) คาดมีผลผลิต 89,402 ตัน ใกล้เคียงกับปีก่อน 89,100 ตัน

ขณะที่ภาคตะวันออก คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิต 69,900 ตัน (มีสัดส่วน 25% ของผลผลิตรวม) เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน 62,600 ตัน ภาคกลางคาดผลผลิต 34,100 ตัน (มีสัดส่วน 12% ของผลผลิตรวม) เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน 33,000 ตัน

“ปี 2565 ผลผลิตกุ้งลดลงเหลือ 2.8 แสนตัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายคาดไว้ ที่สำคัญ สถานการณ์มีแนวโน้มลดลง 57% เทียบกับ 2553 ที่ไทยมีผลผลิตสูงเกือบ 6.5 แสนตัน เคยสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศนับแสนล้านบาท เพราะปัญหาการเกิดโรคตายด่วนระบาดในกุ้งกินเวลานานกว่า 12 ปี ที่ไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ส่งผลให้กุ้งไม่โต ผลผลิตลดลงต่อเนื่อง ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการทำรายได้จากผลผลิตกุ้ง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท” นายเอกพจน์กล่าว

เอกพจน์ ยอดพินิจ
เอกพจน์ ยอดพินิจ

ขอเป็น “วาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สมาคมและตัวแทนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิต ได้เข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต่อมาได้ยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้จัดสินค้ากุ้งเป็นวาระแห่งชาติ และออกมาตรการแก้ปัญหาการเลี้ยงเรื่องโรคให้พี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งเร่งด่วน เพื่อพลิกฟื้นสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนแนวโน้มปี 2566 สมาคมกุ้งไทยตั้งเป้าหมายไทยจะมีผลผลิตกุ้ง 3 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 7% จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ เร่งแก้ปัญหาโรคระบาดที่เกิดในบ่อกุ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจมีโอกาสที่ผลผลิตกุ้งของไทยจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 4 แสนตัน

ยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายปี 2566 ต้องติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน การเปิดประเทศของจีนที่จะปล่อยให้คนออกเที่ยวนอกประเทศ

“สมาคมกอดความหวังส่งหนังสือเปิดผนึกถึงพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสนามสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง โดยขอเสนอไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปีหน้า ให้เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่เคยเป็นอุตสาหกรรมอันดับ 1 ทำรายได้เข้าประเทศปีละแสนล้านบาท แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสูญเสียโอกาสในการทำรายได้ส่งออกมากกว่า 5 แสนล้านบาทแล้ว กระทบมีผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานกว่า 1 ล้านคน”

ดังนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาลสมัยหน้า ขอให้กำหนดแนวทางแก้ปัญหากุ้งไทยเป็นหนึ่งในนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของพรรค สานฝัน 1 ล้านคนให้เป็นจริงด้วย