หวั่นไทยวืดแชมป์โลก เหตุกรมประมงไฟเขียวนำเข้า ‘กุ้งเอกวาดอร์-อินเดีย’

กุ้ง

กุ้งไทยวืดทวงแชมป์โลก หลังกรมประมงอนุมัตินำเข้ากุ้งเอกวาดอร์-อินเดีย หวั่นกระทบเกษตรกรไทย ผลิตไม่เข้าเป้า 4 แสนตันในปี 2566

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 SeafoodNews.com รายงานว่ารัฐบาลเอกวาดอร์ระบุว่า กรมประมงของไทยอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากฟาร์ม 36 แห่ง ในเอกวาดอร์ และกำลังพิจารณาอนุมัตินำเข้ากุ้งแปรรูปจากเอกวาดอร์ด้วย

ข่าวนี้สร้างความตระหนกตกใจแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทยอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข่าววงในแจ้งอีกว่า กรมประมงอนุมัตินำเข้ากุ้งจากอินเดียอีกประเทศหนึ่งด้วย

แหล่งข่าวในแวดวงผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า เกิดอะไรขึ้นกับกรมประมงไทย ทั้ง ๆ ที่ อธิบดีกรมประมงคนใหม่เพิ่งก้าวขึ้นรับตำแหน่ง พร้อมประกาศวิสัยทัศน์นำกุ้งไทยทวงแชมป์กุ้งโลก จะส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตกุ้งไทยให้ได้ 4 แสนตัน ภายในปี 2566 เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำการผลิตกุ้งในตลาดโลก เกษตรกรคนเลี้ยงกุ้งต่างเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ดังกล่าว

ในอดีตอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2553 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ 437,270 ตัน มูลค่าสูงถึง 101,116 ล้านบาท

แต่ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกลดลงจากปี 2563 ถึงร้อยละ 53.90 จากปัญหาโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ซึ่งทำให้ผลผลิตกุ้งไทยยังไม่สามารถไต่ขึ้นมาถึงระดับเดิมได้จนทุกวันนี้

การอนุมัตินำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมจากเอกวาดอร์และอินเดีย เข้ามาแปรรูปและส่งออกจากประเทศไทย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ กระทบการสร้างแบรนด์กุ้งไทย กระทบความเชื่อมั่นกุ้งไทยที่โดดเด่นทั้งด้านคุณภาพ มาตรฐาน และภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งของไทย

กุ้ง ต่างประเทส
ภาพจาก https://www.seafoodnews.com/Search/Shrimp

การนำเข้ากุ้งดังกล่าว เป็นการทำลายแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิตกุ้งของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ เพราะมันกระทบต่อเสถียรภาพราคากุ้งในประเทศ ตลอดจนระบบการผลิตกุ้งของไทยในระยะยาว จากความเสี่ยงในการนำโรคติดต่อประจำถิ่นของกุ้งต่างชาติ เข้ามาระบาดซ้ำเติมกุ้งไทยอีก

ซึ่งนั่นหมายความว่า เป้าหมายการเพิ่มผลผลิต 4 แสนตันในปีหน้า ไม่มีวันเป็นจริง

ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำลังเร่งพื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ เร่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าของไทย แต่กลับไม่ช่วยเหลือเกษตรกรคนเลี้ยงกุ้งไทย และหันไปส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรเอกวาดอร์และอินเดียแทน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเอกวาดอร์และอินเดีย ปฏิเสธการนำเข้าพันธุ์กุ้งของไทยมาแล้วอย่างไร้เยื่อใย

แหล่งข่าวแสดงความหวังว่า นายกฯจะระงับคำสั่งอนุมัตินำเข้าดังกล่าวโดยทันที ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมกุ้งไทยและเกษตรกรตาดำ ๆ หลายหมื่นราย