เงินเฟ้อไทย ก.พ. 2566 โต 3.79% ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

เงินเฟ้อ การใช้จ่าย เงินบาท ค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต

สนค. ชี้เงินเฟ้อของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566 สูงขึ้น 3.79% แต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลง ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน เหตุราคาพลังงาน-อาหารลดลง

วันที่ 7 มีนาคม 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เท่ากับ 108.05 สูงขึ้น 3.79% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.12% สาเหตุมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ ที่อาจจะส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมกราคม 2566 พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 29 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้น 3.79% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ตามราคาสินค้าทั้งในหมวดอาหาร และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.74% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากเดือนมกราคม 2566 ที่สูงขึ้น 7.70% ตามการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของราคาอาหารสำเร็จรูป เช่น กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน ข้าวราดแกง อาหารเช้า ผักและผลไม้ มะนาว แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ข้าวสาร ไข่และผลิตภัณฑ์นม ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง

ส่วนเนื้อสัตว์ ไก่สด ปลาทู เนื้อสุกร ราคายังคงเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักคะน้า ผักชี พริกสด น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก

หมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 2.47% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากเดือนมกราคม 2566 ที่สูงขึ้น 3.18% เนื่องจากสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า)

นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ สารกำจัดแมลง) ราคาชะลอตัวลง ขณะที่ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน) วัสดุก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (ยาสีฟัน กระดาษชำระ ค่าแต่งผมชาย) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 1.93% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง

นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2566 คาดว่าจะชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนมีนาคม 2565 ค่อนข้างสูง

การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก

นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และจะส่งผลมายังราคาสินค้าและบริการของไทยตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2.0-3.0% ค่ากลางอยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง และอยู่ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.0-4.0% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 85-95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ จะมีการปรับสมมุติฐานใหม่ในการแถลงเดือนหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงมากขึ้นเนื่องจากเวลานี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับลดลงแล้วและอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มแข็งค่าขึ้น