WHA เปิดเฟส 2 รับฐานผลิตอีวี ชู “กรีนโซลูชั่น” ดึงทัพนักลงทุน

จรีพร จารุกรสกุล
จรีพร จารุกรสกุล

WHA เนื้อหอมยอดขายพื้นที่นิคมทะลุเป้า แซงหน้าก่อนวิกฤตโควิด เดินหน้าเพิ่มจุดขายใหม่ “กรีนโซลูชั่น” พลังงานสะอาดดึงลูกค้า BYD ส่งสัญญาณลุยเฟส 2 อีก 500 ไร่ พร้อมดึงซัพพลายเชนอีวีเข้าไทย ย้ำฐานผลิตอีวีป้อนตลาดโลก กางแผนขยาย 2 นิคมในเวียดนาม ทุ่มงบฯ 4,000 ล้าน เดินหน้า อัพเกรด 9 โครงการเดินหน้าสู่เทคคอมปะนีใน 3 ปี

หลังปิดจ็อบปี 2565 ด้วยการสร้างสถิติออลไทม์ไฮท์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA มีรายได้รวม 15,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% และกำไรสุทธิ 4,045 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% จาก 4 ธุรกิจ โดยมียอดรับโอนที่ดิน 1,650 ไร่ สูงกว่าช่วงโควิดไปแล้ว และยังลุ้นว่าปีนี้จะสามารถทำออลไทม์ไฮต่อเนื่อง

หากมียอดขายทะลุ 2,000 ไร่ ก็จะมากกว่าปีที่เคยทำยอดสูงสุดเมื่อปี 2554 ช่วงน้ำท่วมได้ โดยจุดหนึ่งที่ทำให้ WHA ประสบความสำเร็จ จากการที่ BYD บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน เข้ามาปักหมุดการลงทุน ด้วยการซื้อที่ดิน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 และเพื่อเป็นฐานแห่งแรกนอกประเทศจีน เพื่อผลิตและส่งออกไปยังตลาดโลก

บิ๊กดีล BYD ดึงซัพพลายเชน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ BYD ตัดสินใจเลือก WAH เป็นฐานตั้งโรงงานผลิตรถอีวีแห่งแรกนอกประเทศจีนเพื่อส่งออกไปทั่วโลก เพราะไทยมีจุดแข็งในเรื่องของ ecosystem ที่ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมานาน 30 ปีแล้ว ทำให้ ecosystem และโรงงานโออีเอ็มต่าง ๆ ของออโตคลัสเตอร์มีความพร้อมในเรื่องซัพพลายเชน

ถัดมาคือเรื่องสาธารณูปโภค ทั้งน้ำ ความมั่นคงทางพลังงาน ขณะที่แรงงานที่มีทักษะสูง (skill labor) และที่สำคัญ ไทยมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องการให้สิทธิพิเศษทางภาษี สำหรับการผลิตรถอีวีโดยกรมสรรพสามิต ที่ให้ 1.5 แสนบาทต่อคัน จึงช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเข้ามาเร็วขึ้น

ทั้งนี้ BYD เพิ่งมีพิธีปฐมฤกษ์ในการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์เมื่อสัปดาห์ก่อน และจะสร้างเสร็จภายใน 1 ปี จากปกติที่โรงงานที่ใหญ่ขนาดนี้จะต้องใช้เวลา 2 ปี และมีเป้าหมายว่าจะผลิตรถคันแรกออกสู่ตลาดภายในปี 2567 และจะดึงซัพพลายเชนเข้ามา เพื่อทำให้ไทยเป็น EV Custer

นอกจากนี้ BYD ยังได้สิทธิพิเศษในเรื่องแบตเตอรี่ด้วย และจากการได้หารือกับผู้บริหารระดับภูมิภาคของ BYD ซึ่ง BYD จะมีแผนดึงซัพพลายเชนส่วนหนึ่งเข้ามาเปิดในเฟส 2 บนพื้นที่ 500 ไร่ ของ WHA ในปี 2567 นอกจากนี้ก็จะมีซัพพลายเชนบางส่วนเป็นโรงงาน OEM ของไทยด้วย

“ดีล BYD สร้างแรงกระเพื่อมต่ออุตสาหกรรมอีวีทั้งโลก หลังจากที่ BYD เซ็นสัญญาซื้อที่ดิน 600 ไร่ ในเดือน ก.ย. 2565 ต่อมาในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เดือน พ.ย. 2565 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เดินทางมาพบรัฐบาลไทย และประกาศขอใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวี ซึ่งทำให้แนวโน้มการลงทุนด้านอีวียังมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต”

นางสาวจรีพรกล่าวว่า ช่วงไตรมาส 1 นี้ มีนักลงทุนติดต่อเจรจาและขอเข้ามาดูที่ดินเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจีน นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอเมริกา ที่เริ่มกลับมา โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักคือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และคอนซูเมอร์ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่ล่าสุดมี โซนี่ ได้กลับมาลงทุนแล้ว รวมทั้งมีบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง อเมซอน ก็ยังกลับมาไทยและผลิตสินค้าไฮเอนด์

“ยอดขาย WHA ดีขึ้นกว่าก่อนโควิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ยอดขาย 800-1,200 ไร่ ช่วงก่อนโควิด ยกเว้นปีน้ำท่วม 2554 ยอดขายมีถึง 2,000 ไร่ เพราะทุกคนย้ายไปตะวันออกหมด หลังจากนั้นมายอดขายนิคมก่อนอีอีซีไม่ได้ดีมากมาย แต่ปีที่แล้วไปถึง 1,600-1,700 ไร่ รวมเวียดนามด้วยก็จะประมาณ 1,899 ไร่ มีที่เวียดนามประมาณ 100 ไร่ ก็ถือว่าสูงมาก แต่ตอนที่ขายได้ยอด 2,000 ไร่”

ชุดจุดขายใหม่ “กรีนโซลูชั่น”

ซีอีโอ WHA กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการตัดสินใจลงทุน นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว เทรนด์ใหม่ที่นักลงทุนให้ความสำคัญมากในปีนี้คือ ความสามารถจัดหาพลังงานสะอาดของนิคม ซึ่ง WHA มีความได้เปรียบเพราะมีการผลิตพลังงานสะอาดเอง มีการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ และมีการออกแบบการก่อสร้างโรงงานแบบ Build to Suite หากลูกค้าอยากซื้อที่ดิน บริษัทก็วางแผนติดตั้งโซลาร์ให้แบบครบวงจร ที่บนหลังคาโรงงานหรือลานจอดรถ ตอนนี้ลูกค้าตื่นตัวเรื่องพลังงานสะอาดมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจากยุโรป

นอกจากนี้ ปีนี้ไพรออริตี้หลักสำหรับตลาดนอกประเทศไทย คือ การขึ้นนิคมแห่งใหม่ 2 นิคม ในจังหวัดถั่งหัว ที่ตั้งอยู่ทางเหนือนิคมเหงะอาน ซึ่งเป็นที่ตั้งนิคมเดิมของบริษัท และจังหวัดกว๋างนามซึ่งอยู่ทางใต้ของดานัง คือภาคกลางตอนกลาง เพราะเป็นที่มีความได้เปรียบจำนวนแรงงานจำนวนมาก และราคายังถูกกว่าโฮจิมินห์กับฮานอย

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตเวียดนามมีพัฒนาด้านสาธารณูปโภค และ TAX Privilege ก็ทำให้มีโอกาสในการดึงดูดการลงทุนมากขึ้น (ปัจจุบันเขายังสู้บ้านเราไม่ได้) เรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ด้านราคารัฐบาลเวียดนามมีการให้การสนับสนุนด้านราคา

นางสาวจรีพรกล่าวในตอนท้ายว่า โดยแผน 3 ปี (2565-2567) WHA มุ่งสู่การเป็น “เทคคอมปะนี” โดยการวางภารกิจ Mission to The Sun ใน 9 โครงการ แบ่งเป็น 5 โครงการแรก เป็น business model ใหม่ เช่น กรีนโลจิสติกส์ Circular ESG ทางด้านตัวเทรดพลังงาน การปรับบุคลากรซึ่งมีประมาณ 700 คน และเรื่ององค์กร และเรื่อง customer centric ด้วยการวางงบประมาณไว้ 4,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยี จากภาพรวมงบประมาณ 68,000 ล้านบาท

“Mission to The Sun จะถูกนำไปกระตุ้นธุรกิจทั้งหมดที่เราทำ พอร์ตธุรกิจของ WHA ทั้ง 4 ด้าน นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค โลจิสติกส์ และดิจิทัล เรามีความยืดหยุ่นมาก โดยแบ่งสัดส่วนรายได้เป็นรีเคอริ่ง (การเช่า การเก็บค่าบริการค่าน้ำ ไฟ) และน็อนรีเคอริ่ง (การขายที่ดิน ขายแอสเซตเข้ากองรีท) ซึ่งสองกลุ่มนี้จะบาลานซ์ให้อยู่ 50 : 50 โดยปีนี้สัดส่วนรายได้นิคมประมาณ 43% โลจิสติกส์ประมาณ 30% และสาธารณูปโภคประมาณ 20%” นางสาวจรีพรกล่าวย้ำ