9 พรรคขายฝันอุตสาหกรรม ดันรัฐถือหุ้นธุรกิจเอกชน-ขยายเขต EEC

ส.อ.ท.เปิดเวทีดีเบต ยิงคำถามให้ 9 พรรคการเมือง “พิธา-สุวัจน์-อุตตม-สุชาติ-สุพันธุ์-พรหมินทร์-สันติ-เกียรติ-ภาดาท์” จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและจะช่วยอุตสาหกรรมไทยได้อย่างไร โดยพรรคก้าวไกลเสนอใช้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ดึงนักลงทุนสู้เวียดนาม หมอพรหมินทร์ให้ตั้ง new business zone นำร่อง 4 เมืองหลัก ส่วนพลังประชารัฐให้ทำ 3 เร่งด่วน 8 เร่งรัด แก้หนี้เติมทุน ขยาย EEC เชื่อมต่อภาคอื่น ประชาธิปัตย์มาแรงถึงขั้นขอกำหนด “กำไร-ค่าการตลาด” โรงกลั่นน้ำมันต้องไม่เกิน 1 บาท ส่วนพรรคภูมิใจไทยมาสายเขียว หนุนกัญชาเป็น soft power

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเปิดงานประชุมสามัญประจำปี 2566 ในการเสวนาเรื่อง “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย” โดย 9 พรรคการเมือง ด้วยคำถาม 5 ข้อที่ต้องการให้พรรคการเมืองช่วยหาทางแก้และขับเคลื่อนได้จริงภายใน 90 วัน

เริ่มต้นจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไทยต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจเป็น Made with Thailand ไม่กำหนดขอบเขตแค่ไทย แต่ต้องเข้าไปถึงทั่วโลก ใช้ไฮเทค ไฮทัช เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ 5.0 ให้คน เครื่องจักร หุ่นยนต์ ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้า

ขณะเดียวกันต้องดีไซน์สินค้าส่งออกให้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง และก้าวไปตลาดโลกให้ได้ด้วยการใช้ “กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท มาเป็นตัวดึงการลงทุน อุดหนุนเงินให้อุตสาหกรรมที่เราต้องการ “การจะใช้แค่สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 8 ปีไปสู้กับเวียดนามไม่ได้แล้ว”

นายสุชาติ ชมกลิ่น พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลรับฟังทุกปัญหาจากประชาชน เป็นที่มาของการได้เร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และรัฐบาลใหม่จะต้องใกล้ชิดรับฟังเอกชน

เราจะไม่ไปกีดกันการทำงานที่ขัดต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชน จะช่วยส่งเสริม อย่างการตั้งกองทุน SMEs คือหนทางที่จะเป็นทางรอดของ SMEs และช่วยเศรษฐกิจ “การใช้ระบบไตรภาคี และการ MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงขั้นต่ำ”

ด้าน นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐจะมีส่วนในการเข้าไปเป็น “ผู้ถือหุ้นในภาคเอกชน” เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศร่วมกัน จะใช้ความสามารถในการเจรจาด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ เพื่อให้ไทยได้โอกาสมากที่สุด

และที่สำคัญจะต้องกำหนด KPI การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด จากความร่วมมือทำงานกับภาคเอกชนด้วย “หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิกก็จะไม่เกิดคอร์รัปชั่น มันจะพาเศรษฐกิจเดินไปได้ และไทยเราต้องมี new business zone นำร่องที่กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-ขอนแก่น-หาดใหญ่”

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า เราต้องกู้เศรษฐกิจคืนมาให้โตได้ 4-5% ใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ดึงจุดแข็งจากอุตสาหกรรมที่เรามี เช่น ท่องเที่ยวให้เติบโตคือทางที่ดีที่สุดและเร็วที่สุด ด้วยการเพิ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวโต 2 เท่า มูลค่าจากการท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 5 ล้านล้านบาท

เปิดตลาดใหม่เพื่อให้การส่งออกดีขึ้น ใช้นวัตกรรมต่อยอดพืชเกษตรหลัก อย่างอ้อย มัน ปาล์ม ถ้ากฎหมายที่เก่ามากต้องแก้ให้ได้ การมี one stop service การให้ประชาชนใช้ระบบ people poll เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการรัฐก็จะช่วยลดคอร์รัปชั่นลงได้

นายอุตตม สาวนายน พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาลองผิดลองถูก แต่เราต้องวางรากฐานเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและยั่งยืนด้วย “3 เร่งด่วน 8 เร่งรัด” เช่น แก้หนี้เติมทุนใหม่ให้รายเล็กล้มแล้วลุกสิทธิจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดินหน้า BCG ส่งเสริมการศึกษาด้านสายอาชีพ

ใช้พื้นที่ยุทธศาสตร์ EEC ขยายเชื่อมต่อกับภาคอื่น ๆ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งคมนาคม สื่อสาร ดิจิทัล ใช้โอกาสจากสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ขยายการลงทุนไปตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา ดึง FDI เข้ามาด้วยสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ภาษี

ส่วน นายเกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจฐานรากหรือประชาชน และ SMEs จะต้องเข้มแข็ง และจะต้องลดต้นทุนด้านพลังงานให้เห็นผลภายใน 1 เดือน กำไรโรงกลั่นน้ำมันและค่าการตลาดจะต้องไม่เกิน 1 บาท/ลิตร แก้ปัญหาเรื่องต้นทุนทางการเงินภายใน 3 เดือน ผลักดันให้ไทยเป็น R&D hub ของเอเชีย และอุตสาหกรรมอนาคตจะต้องส่งเสริมให้ไทยมีคลัสเตอร์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“การเลือกพรรคที่มีนักเจรจาเชิงรุกเก่ง จะทำให้ไทยไม่ถูกเอาเปรียบจากมาตรการกีดกันทางการค้าโลก ที่สำคัญต้องดึงประชาชน NGO มาเป็นส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตทุกโครงการของรัฐ”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เอกชนเสนอรัฐหลายเรื่อง แต่การตอบรับไม่เพียงพอ เราจะประกาศงดใช้กฎหมายที่มีมากถึง 1,400 ฉบับชั่วคราว และใช้เวลา 5 ปีในการปรับแก้ทุกอย่างที่เป็นอุปสรรค ต้องตั้งกองทุน SMEs นำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้ให้ได้ และ BOI จะต้องหนุนคนตัวเล็ก อุตสาหกรรมในประเทศมากกว่านี้ ผลักดันให้เกิดคลัสเตอร์ใน EEC ต้องซัพพอร์ตกองทุน SMEs ให้รายเล็กได้เดินหน้าไปสู่ BCG ให้ได้

ด้าน นายสันติ กีระนันทน์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า จะไม่ทิ้งอุตสาหกรรมเดิมอย่าง bio อาหาร และจะเร่งอุตสาหกรรมใหม่ไปพร้อมกัน ไทยจะต้องถูกรื้อโครงสร้างไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด SMEs จะต้องได้ใช้งานวิจัยจริง แรงงานต้องถูกอัพสกิล รีสกิล ควบคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ESG เพื่อไม่ให้ไทยถูกกีดกันทางการค้าจากมาตรการ CBAM

“อุปสรรคที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ ไม่เคยประสานงานกัน แนวทางที่ดีลดความรุงรังของกฎหมาย ทั้ง 2 กระทรวงควรรวมกันเหมือนกระทรวงเมติของญี่ปุ่น” นายสันติกล่าว

นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า 3 อุตสาหกรรมหลักสำคัญของไทยหรือ “อุตสาหกรรมสายเขียว” จะต้องถูกผลักดันให้ได้ คือ 1) อุตสาหกรรมชีวภาพ ที่ใช้พืชเกษตรไทยมาต่อยอด 2) อุตสาหกรรมอาหาร คงมาตรฐานไว้และผลักดันต่อ 3) อุตสาหกรรมการแพทย์ ใช้จุดแข็งจากพืชสมุนไพร อย่าง “กัญชา” เพื่อการรักษาและสุขภาพให้เป็น soft power ให้ได้ พร้อมสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ต่อไปทุกบ้านจะต้องติดโซลาร์เซลล์

ทั้งนอกจากการรวบรวมผลสำรวจความคิดเห็นจากสมาชิก ส.อ.ท. นักอุตสาหการ 420 คน ที่ฝากไว้ให้ 9 พรรคการเมือง ซึ่งในอนาคตอาจเป็นรัฐบาลใหม่ พรรคร่วม หรือฝ่ายค้านก็ตาม ได้ทำตามข้อเรียกร้องของเอกชน โดยสรุปได้ว่า เรื่องสำคัญที่เอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการภายใน 90 วัน คือ

1) ความคิดเห็น 77.8% ให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ 2) 65.3% ให้ทบทวนปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อการผลิตในประเทศ 3) 60% ออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้ SMEs ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าธรรมเนียม


4) 65.8% ให้จ่ายอัตราค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ และ 5) ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการอนุมัติ อนุญาต ไม่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย