บีโอไอ คิกออฟ 5 อุตสาหกรรมใหม่ กลุ่ม A-1 เว้นภาษีเงินได้ 13 ปี

โรงงานรถ

บีโอไอคิกออฟส่งเสริมการลงทุนใหม่ 9 มาตรการ ปลุก 5 อุตสาหกรรมใหม่ “BCG-EV-ซอฟต์พาวเวอร์-โลจิสติกส์-talent hub” พร้อมปั๊มยอดส่งเสริมเพิ่มอีก 6.6 แสนล้านในปีนี้ อัดมาตรการดึงทุนนอกย้ายฐานธุรกิจมาไทยแบบครบวงจร ให้สิทธิประโยชน์กลุ่ม A-1 ยกเว้นภาษีเงินได้ 10-13 ปี

การลงทุนมีโอกาสจะกลับมาเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้งในปีนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การเปิดประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมองหาฐานหรือขยายการลงทุนแห่งใหม่ โดยประเทศไทยต้องเตรียมแม็กเนตดึงดูดการลงทุน-สร้างรายได้เข้าประเทศ จากปี 2565 ที่มียอดรับส่งเสริมการส่งเสริมการลงทุน 6.6 แสนล้านบาท หรือ “สูงกว่า” ช่วงก่อนโควิด-19 ปี 2562 ที่มีมูลค่า 5.79 แสนล้านบาท แต่ในอดีตเคยทำสถิติได้ถึง 1 ล้านล้านบาทมาแล้ว

ปักหมุด 5 New S-curve

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในงาน PTT Group Tech & Innovation Day หัวข้อยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (new economy, new opportunities) ว่า ในปีนี้ BOI มีแผนจะส่งเสริมการลงทุน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เป็นโอกาสของไทย ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรม BCG เช่น การลงทุนด้านความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานหมุนเวียน ไบโอเบสท์ ยาและสุขภาพ ท่องเที่ยว

2) ด้านเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ศูนย์วิจัยและพัฒนา 3) ธุรกิจสร้างสรรค์ เช่น ซอฟต์พาวเวอร์ ดีไซด์ ฟิล์ม ดิจิทัลคอนเทนต์ เกม อีสปอร์ต แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ 4) โลจิสติกส์และบิสซิเนสฮับ เช่น การตั้งเฮดควอเตอร์ และ 5) talent hub เช่น การลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะผู้เชี่ยวชาญ พนักงานแบบ remote worker

โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนปีนี้มาจากความท้าทายในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดคาร์บอน (decarbonization), ความขัดแย้งระหว่างประเทศ, การดิสรัปต์ของซัพพลายเชนและเทคโนโลยี, โรคระบาด และการเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้เกิดเทรนด์การลงทุน ทั้งการขยายต่อยอดจากเดิม การลงทุนธุรกิจสีเขียว รวมถึงระบบสมาร์ทในโรงงานต่าง ๆ

“ปีนี้ยังมองว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งใหม่ที่จะดึงดูการลงทุนได้ ทั้งจากการที่ภาครัฐส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ EEC การส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน รองรับนักลงทุนที่ต้องการสินค้าที่ผลิตด้วยความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การความเชื่อมโยงในห่วงโซ่ซัพพลายเชน ความง่ายในการประกอบธุรกิจ และที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีความเป็น conflict free zone ไม่ว่านักลงทุนจากประเทศใดมาลงทุนก็จะสามารถส่งออกได้” นายนฤตม์กล่าว

9 มาตรการตามยุทธศาสตร์ใหม่

หลังจากที่ BOI ได้ประกาศใช้ 9 มาตรการส่งเสริมการลงทุนตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนระหว่างปี 2566-2570 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา โดยมองไปที่ 3 คีย์เวิร์ดสำคัญคือ นวัตกรรม (innovation) การเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน (competitive) และขยายการเติบโตโดยรวม (inclusion) โดยวางแนวทางการส่งเสริมเป็น 7 พิลาร์ ประกอบด้วย

1) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเสริมแกร่งซัพพลายเชน 2) เร่งอุตสาหกรรมสู่ smart และ sustain 3) ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าภูมิภาค 4) ส่งเสริม SMEs และสตาร์ตอัพ ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก 5) ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพของพื้นที่ ไม่ได้ส่งเสริมเฉพาะในพื้นที่ EEC แต่จะกระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ เหนือ อีสานใต้ และเอาต์บาวนด์อินเวสต์เมนต์ด้วย 6) ส่งเสริมการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคม และ 7) ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ

โดย BOI ได้วางเครื่องมือส่งเสริมเป็นสิทธิประโยชน์แบบที่เรียกว่า “whole package” ครบวงจรทั้ง ภาษี (tax) สิ่งที่ไม่ใช่ภาษี (nontax) และมาตรการจูงใจด้านการเงิน (financial incentive) โดย BOI จะต้องให้บริการครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน ตลอดจนทั้งต้องสร้างระบบนิเวศด้านการลงทุนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ง่ายต่อการลงทุน

A1 ต้นน้ำเว้นภาษี 10-13 ปี

สำหรับ 9 มาตรการส่งเสริมใหม่ที่น่าสนใจมีหลายด้าน อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ได้วางมาตรการใหม่เพิ่มสำหรับ กลุ่ม A1 อุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง กิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น ไบโอเทค นาโนเทค แอดวานซ์แมทีเรียล ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันการศึกษา/วิจัย ได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้ 10-13 ปี ไม่จำกัดวงเงิน

ทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่น เช่น การ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร อากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงมาตรการ nontax เช่น การนำเข้าผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ การถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการ

ขณะที่เดิมมีมาตรการสำหรับอุตสาหกรรม ประเภทกลุ่ม A1 อุตสาหกรรมส่งเสริมความรู้ เน้นวิจัยและพัฒนา ได้รับ “ยกเว้น” 8 ปี บวกกับสิทธิประโยชน์อื่นเช่นกัน, A2 โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศได้รับ “ยกเว้น” 8 ปี บวกกับสิทธิประโยชน์อื่นเช่นกัน, A3 กิจการที่ใช้เทคโนโลยีสูงได้รับ “ยกเว้น” 5 ปี บวกกับสิทธิประโยชน์อื่นเช่นกัน,

A4 กิจการที่มีเทคโนโลยีไม่ต่ำกว่า A1-A3 แต่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในประเทศและเสริม value chain ได้รับ “ยกเว้น” 3 ปี บวกกับสิทธิประโยชน์อื่นเช่นกัน และ B อุตสาหกรรมที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีไม่สูง แต่ยังสำคัญต่อ value chain ได้รับสิทธิประโยชน์อื่น

พร้อมกันนี้ในส่วนของมาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้มีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เช่น ระยะเวลาในการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี ตามขั้นบันไดระดับมูลค่าเงินลงทุน/ค่าใช้จ่าย และต่อยอดขายในช่วง 3 ปีแรก ตั้งแต่ร้อยละ 1 ไปถึงร้อยละ 5 หรือไม่เกิน 200 ล้านบาท ไปถึง 1,000 ล้านบาท, “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุนและค่าใช้จ่าย กรณีที่มีการเงินทุน/ค่าใช้จ่ายด้าน R&D มากกว่าหรือเท่ากับ 1% ได้รับ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้ ไม่จำกัดวงเงิน และสามารถได้รับระยะเวลา “ยกเว้น” ภาษีเงินได้สูงสุด 13 ปี

กระจายลงทุนนอกพื้นที่ EEC

เป้าหมายของ BOI ไม่เพียงจะเน้นการกระตุ้นนักลงทุนเดิมให้ลงทุนมากขึ้นหรือดึงทุนใหม่เข้ามาเท่านั้น แต่ยังมุ่งส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจมาไทยแบบครบวงจร ทั้งโรงงาน สำนักงานภูมิภาค และศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มมากที่สุด 5 ปี หรือหากย้ายกิจการผลิตและสำนักงานเฮดควอเตอร์มาจะได้รับยกเว้น CTI 3 ปี เป็นต้น โดยจะต้องยื่นคำขอ ภายในปี 2566

นอกจากนี้ยังได้มีมาตรการ BOI ยังส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรม smart และ sustainability โดย BOI ได้ขยายขอบข่ายมาตรการส่งเสริมครอบคลุมทั้งกิจการ กลุ่ม A และ B (ยกเว้นบางกิจการ) สามารถขอรับการส่งเสริมได้ทุกมาตรการย่อย เช่น หุ่นยนต์ ดิจิทัล อุตสาหกรรม 4.0 หากมีการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโครงเดิมจะได้รับ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้ 3 ปี สำหรับรายได้ของกิจการเดิม เป็นสัดส่วน 50% หรือ 100% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเงินลงทุนในการปรับปรุง

หรือการลงทุนที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน การยกระดับมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ หากมีการลงุทนยกระดับกิจการกลุ่ม B ที่ลงทุนโครงการใหม่จะได้รับ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้ 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% หรือ 100% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเงินลงทุนในระบบ

นายนฤตม์กล่าวเพิ่มเติมว่า BOI ยังได้กระจายการส่งเสริมการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่นอกจาก EEC โดยได้บังคับใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ (NEC), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC), ภาคกลาง-ภาคตะวันตก (CWEC) และภาคใต้ (SEC) รวมทั้งหมด 16 จังหวัดจากเดิมที่มีเฉพาะใน EEC,

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด, พื้นที่ชายแดนใต้ 4 จังหวัด, จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 20 จังหวัด, นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมและเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้เพื่อให้กระตุ้นการลงทุนนำเม็ดเงินไปกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงด้วย

นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น local supplier โดยมีอินเซนทีฟเข้าไปช่วย การขยายสิทธิประโยชน์จากโครงการ CSR เพื่อไปสู่การพัฒนาชุมชนโดยมีเงื่อนไขว่า project หนึ่งไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ชุมชนหนึ่งไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ในช่วง 8 ปีทีผ่านมา (2558-2565) มีการลงทุน 12,000 โครงการ มูลค่า 3.9 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วน 50% อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษ EEC อุตสาหกรรมอันดับ 1 ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ 5.04 แสนล้านบาท รองลงมา ยานยนต์ไฟฟ้า 4.79 แสนล้านบาท, ปิโตรเคมี 4.6 แสนล้านบาท เม็ดเงินลงทุนตรง (FDI) ระหว่างปี 2558-2565 มูลค่ากว่า 2.22 แสนล้านบาทมาจากญี่ปุ่น-จีน-สิงคโปร์-ฮ่องกง และสหรัฐ