ไทยเนื้อหอม ยอดลงทุนพุ่ง BOI ผลักดัน 5 อุต Game Changer ประเทศ

GDP

ไทยเนื้อหอม ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนพุ่ง บีโอไอลุยผลักดัน 5 อุตสาหกรรม Game Changer ประเทศ

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในงานโครงการตลาดทุนพบภาครัฐ ครั้งที่ 1/2566 BOI พบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน โดยเสวนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่” ว่า

ภาคลงทุน ความหวังที่สองของไทย

ภาพเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนผ่าน 3 เสาหลักสำคัญคือ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการลงทุน และภาคการส่งออก โดยในส่วนภาคการลงทุนถือเป็นความหวังที่สองต่อจากภาคท่องเที่ยวในปี 2566 นี้ โดยพบว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพิ่มขึ้นในทุกขั้นตอนทั้งการขอรับการส่งเสริม การขออนุมัติ และการออกบัตรส่งเสริม

โดยการขอรับการส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เม็ดเงินลงทุนสูงถึง 664,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีการขอรับการส่งเสริม 1,499 โครงการ เม็ดเงินลงทุน 478,952 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และกลับไปสูงกว่าในช่วงก่อนการระบาดโควิด สะท้อนถึงความสนใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาตั้งฐานธุรกิจในไทยยังมีมากขึ้น

FDI จีนเบอร์ 1

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) มีมูลค่ารวม 433,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% เทียบกับปี 2564 โดยจีนเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 18% ของมูลค่า FDI ทั้งหมด รองลงมาคือญี่ปุ่น, สหรัฐ, ไต้หวัน และสิงคโปร์

อีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญคือการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เพราะมีความพร้อมที่จะลงทุนจริงแล้ว โดยเฉลี่ยจะมีการลงทุนเกิดขึ้นในช่วงเวลา 1-3 ปี แต่ระยะหลังโครงการต่าง ๆ ลงทุนจริงเร็วขึ้นภายใน 1 ปี โดยพบว่าในปี 2565 การออกบัตรส่งเสริมมีจำนวน 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% เม็ดเงินลงทุน 489,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีการขอออกบัตรส่งเสริม 1,366 โครงการ เม็ดเงินลงทุน 403,231 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าจากนี้ไปในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินลงทุนจริงเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนในปีนี้ แม้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีคู่แข่งที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ด้วยจุดแข็งเดิมและจุดแข็งใหม่ของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุน เชื่อว่าในสายตาของนักลงทุนยังมองประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีความโดดเด่นในภูมิภาค บวกกับมาตรการส่งเสริมของภาครัฐที่มุ่งเป้าไปสู่การสร้างฐาน 5 อุตสาหกรรมหลัก จึงค่อนข้างมั่นใจว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเป็นหัวจักรหรือตัวขับเคลื่อนสำคัญ ทำให้การลงทุนในภาพรวมของประเทศไทยยังคงรักษาระดับไม่ต่ำกว่าปี 2565 ได้

นายนฤตม์กล่าวต่อว่า โดยสำหรับ 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ประกอบด้วย 1.BCG ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงอยู่แล้ว เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) มีอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นพื้นฐาน สามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้ 2.EV เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์มาอย่างยาวนาน โดยเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียนและเบอร์ 10 ของโลก จึงต้องพยายามรักษาแชมป์เอาไว้ ซึ่งมีความจำเป็นต้องสร้าง EV เกิดขึ้นให้ได้

3.Smart Electronics โดยอยากจะเพิ่มมูลค่าตรงนี้ให้มากขึ้น 4.Digital อยากให้ประเทศไทยเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาค และ 5.Creative เป็นอุตสาหกรรมที่มีแวลูเชนมาก และจะมีผู้ได้รับประโยชน์อย่างมาก เพราะเรามีศักยภาพเรื่อง Soft Power ค่อนข้างสูง

“เราเชื่อว่าทั้ง 5 อุตสาหกรรมนี้จะเป็น Game Changer ของประเทศไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ปั้นไทยฮับ Headquarter

นอกจากนี้จุดเน้นในระยะ 1 ปีข้างหน้านี้ เราจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง “สำนักงานภูมิภาค (Headquarter)” และเป็นแหล่งดึงดูด Talent ของภูมิภาค โดยปัจจุบันได้ออกแพ็กเกจใหม่คือมาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program)

ทั้งโรงงานผลิต สำนักงานภูมิภาค และศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) มาตั้งในเมืองไทย บีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์ On-Top กับในส่วนการผลิตด้วย เพื่อเป็นการจูงใจมากขึ้น

ถัดมาคือการสร้างความพร้อมของอีโคซิสเต็ม โดยเฉพาะเรื่องคนและ Ease of Investment ที่ต้องทำให้การลงทุนมีความสะดวกมากที่สุด และถัดมาคือการยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Smart & Sustainable Industry รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งและสร้างโอกาสเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพไทยไปเชื่อมต่อกับโลกได้

และสุดท้ายส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย มีบทบาทมากขึ้นใน 3 ด้านคือ พัฒนาคน พัฒนาเอสเอ็มอี และพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะไปจับมือกับสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเรื่องการเกษตรและระบบน้ำ เรื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน/OTOP ท่องเที่ยวชุมชน ช่วยโรงเรียน โรงพยาบาล หรือด้านสิ่งแวดล้อม

สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นขอรับสิทธิจากบีโอไอได้ จะยกเว้นภาษีให้ 3 ปี ในวงเงิน 200% ของเงินสนับสนุน แต่มีเงื่อนไขเงินลงทุนทั้งโครงการไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท และไม่น้อยกว่า 5 แสนบาทต่อราย