ฝุ่นควัน คร่าชีวิตปีละ 4 หมื่นคน เศรษฐกิจเสียหายปีละ 1 แสนล้าน

ปัญหาฝุ่นควัน-เผาป่าทางภาคเหนือ

ประชาสังคมจี้รัฐเร่งออกกฎหมายอากาศสะอาด ชี้ปัญหาฝุ่นควันคร่าชีวิตคนภาคเหนือปีละ 4 หมื่นคน กระทบเศรษฐกิจเสียหายปีละ 1 แสนล้านบาท

วันที่ 2 เมษายน 2566 นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยลำดับ จากงานวิจัยของ ศ.นพ.ชัยชาญ โพธิรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ามีผู้สูญเสียชีวิตปีละราว 40,000 คน และทางภาคธุรกิจประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจปีละราว 100,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำให้โลกร้อนขึ้น หนักหน่วงมากขึ้นในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา

เผาป่า ควัน ฝุ่นพิษ

ทั้งนี้ วิกฤตมลพิษทางอากาศสัมพันธ์กับการเติบโต การพัฒนาการเติบโตของเมืองและการพัฒนาประเทศโดยรวม การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ การเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม การขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การที่ประเทศเรามีพื้นที่ป่าผลัดใบจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพอากาศ กระแสลม การระบายตัวของอากาศต่ำ เนื่องจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคเหนือตอนบนเป็นแอ่งกระทะ ขณะที่กรุงเทพฯ ภาคกลางเป็นที่ราบ เป็นต้น

จากการทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2562 ได้มีการวิเคราะห์สรุปบทเรียนจากการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย การจะแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกันสรุปข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้

1.ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์และมีฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดของฝุ่นควัน PM 2.5จากทุกแหล่งอย่างถูกต้องและรอบด้านมีงานวิชาการรองรับ โดยต้องเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ (open data) เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ร่วมกัน เข้าถึงได้ ตรวจสอบข้อมูลได้ และสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ วิกฤตมลพิษทางอากาศ สัมพันธ์กับการเติบโต การพัฒนาเมืองและการพัฒนาประเทศ เป็นต้น

2.ต้องออกกฎหมายบริหารจัดการอากาศสะอาดอย่างเร่งด่วน เปลี่ยนการแก้ฝุ่นควัน PM 2.5 แบบเฉพาะหน้าเป็นการแก้แบบยั่งยืน ที่ผ่านมาประเทศไทยแก้โดยใช้ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณะภัย 2550 เป็นกฎหมายเชิงรับซึ่งจะใช้คน เครื่องจักร งบประมาณได้เมื่อเกิดภัยพิบัติแล้ว โดยต้องทำงานเชิงรุก เชิงป้องกัน ต้องมีแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว มีความต่อเนื่องนำไปสู่การแก้แบบยั่งยืน

ประเด็นสำคัญ ต้องออกกฎหมายบริหารจัดการอากาศสะอาด ที่มีกลไกที่มีอำนาจ บทบาทหน้าที่ทำงานเชิงรุกเชิงป้องกันอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดเป้าหมาย มีแผนยุทธศาสตร์ มีมาตรการ มีกลไก มีงบประมาณในการลดแหล่งกำเนิดฝุ่นควัน PM 2.5 ทุกแหล่ง โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกกลุ่ม และสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงการผลิตและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

3.นโยบายกระจายอำนาจในการแก้ปัญหา PM 2.5 ให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น/จังหวัด นโยบายการสนับสนุนการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในระดับพื้นที่ โดยชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่มีคุณภาพและการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ ต้องมีนโยบายปลดล็อก แก้กฎหมาย สร้างความมั่นคงในที่ดินทำกิน ความมั่นคงในที่ดินทำกินนำไปสู่การผลิตที่มั่นคง และยอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน

4.นโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ทุกฝ่ายยอมรับ และสร้างแรงจูงใจให้การใช้ไฟทุกแหล่งอยู่ในระบบ โดยต้องพัฒนาระบบการจัดการบริหารเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และต้องมีแผนจัดการบริหารเชื้อเพลิงที่มาจากชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ระบุชัดเจนว่ามีพื้นที่สำคัญที่จะร่วมกันรักษาแบบห้ามเผาเด็ดขาด


5.นโยบายลดพืชเชิงเดี่ยวที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นควันขนาดใหญ่ ต้องมีนโยบายลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดียวลง และส่งเสริมการปลูกพืชที่ยั่งยืน โดยมีระบบแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนอย่างมั่นใจ การเพิ่มภาษีการรับซื้อผลผลิตที่มีการเผาและการเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผาจนเข้ามากระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น