อินโดนีเซีย เปิดประมูลนำเข้าข้าว 2 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี

ชูเกียรติเผยอินโดนีเซียประกาศนำเข้าข้าว 2 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากกังวลปัญหาโลกร้อน ผลผลิตน้อย ขณะที่ส่งออกข้าวไทยมีนาคม 2566 คาดอยู่ที่ 7.3 แสนตัน

วันที่ 10 เมษายน 2566 นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า อินโดนีเซีย ได้ประกาศเปิดประมูลนำเข้าข้าวเป้าหมาย 2 ล้านตัน โดยได้มีการนำเข้าตั้งแต่ปลายปี 2565 ปัจจุบันนำเข้าไปแล้ว 5 แสนตันจากของไทย 3 แสนตัน และเวียดนาม 2 แสนตัน และในปี 2566 นี้จะนำเข้าเพิ่มอีก 1.5 ล้านตัน โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลนำเข้าหลังจากหมดช่วงการถือศีลอดของทางศาสนาของอิสลามเป็นต้นไป

“อินโดนีเซียจะนำเข้าข้าวโดยการประมูล และผู้ที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศไทยมีบริษัทที่ได้รับการรับรองจากอินโดนีเซีย 3-4 บริษัทที่สามารถเข้าร่วมประมูลข้าวได้ เพราะอินโดนีเซียไม่ได้เปิดว่าทุกคนสามารถเข้าร่วมประมูลได้ ดังนั้น หน่วยงานที่จะเข้าไปประมูลจำเป็นจะต้องได้รับการรับรอง ซึ่งอินโดนีเซียสนใจนำเข้าทั้งไทย เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน”

โดยการที่อินโดนีเซียเปิดนำเข้าในครั้งนี้ เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางด้านอาหารภายในประเทศ เนื่องจากกังวลในเรื่องของปัญหาโลกร้อน ประกอบกับราคาข้าวแพง ผลผลิตอาจจะไม่เพียงพอ และเพื่อรองรับประชากรภายในประเทศที่มีจำนวนอยู่ถึง 200 ล้านคน อย่างไรก็ดีการนำเข้าคราวครั้งนี้นับว่าเป็นการนำเข้าสูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยอดีตที่ผ่านมาอินโดนีเซียนำเข้าเฉลี่ยไม่ถึงบางปีก็ไม่นำเข้าเลย

ส่งออกข้าวมีนาคม 2566 คาด 7.3 แสนตัน

ขณะที่สมาคมคาดว่าในเดือนมีนาคม 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000-730,000 ตัน เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้นจากการที่อุปทานข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญ เช่น อินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน มีปริมาณจำกัด ขณะที่ผู้นำเข้าที่สำคัญของไทยยังคงนำเข้าทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่องเพื่อชดเชยสต๊อกข้าวในประเทศที่มีปริมาณลดลง ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้มีอุปทานข้าวที่ส่งออกได้มากขึ้น

ขณะที่ราคาส่งออกข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้จากการที่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34.0-34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 5 เมษายน 2566 อยู่ที่ 505 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 473-477, 432-436 และ 483-487 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 517 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 378-382 และ 473-477 เหรียญสหรัฐต่อตัน

การส่งออกข้าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีปริมาณ 599,696 ตัน มูลค่า 11,127 ล้านบาท โดยปริมาณลดลง 25.6% และมูลค่าลดลง 22.1% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ที่มีการส่งออกปริมาณ 805,519 ตัน มูลค่า 14,277 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 การส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณลดลงมากจากเดือนก่อน เพราะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ

ได้แก่ อินโดนีเซีย และบังกลาเทศมีปริมาณลดลง ประกอบกับผู้นำเข้าบางส่วนชะลอการซื้อเพื่อรอดูผลผลิตข้าวนาปรังที่จะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 312,556 ตัน ลดลง 10% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

อิรัก อินโดนีเซีย นำเข้าข้าวไทยเพิ่ม

โดยส่วนใหญ่ส่งไปประเทศอิรัก อินโดนีเซีย โมซัมบิก แทนซาเนีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ญี่ปุ่น แคเมอรูน เป็นต้น ส่วนข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 53,894 ตัน ลดลงถึง 71.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดประจำ เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 99,380 ตัน เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น

จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 มีปริมาณ 1,405,214 ตัน มูลค่า 25,404.1 ล้านบาท (753.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 28.2% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 38.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 1,095,693 ตัน มูลค่า 18,376.8 ล้านบาท (556.2 ล้านเหรียญสหรัฐ)