STCC ไทย-ซาอุฯ นัดแรก เดินหน้าความร่วมมือ 5 ด้าน

ไทย-ซาอุดีอาระเบีย

ไทย-ซาอุดีอาระเบีย มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ปี 2500 แต่ต้องสะดุดลงในช่วงปี 2530-2533 หลังเกิดคดีที่เกี่ยวข้องกับซาอุฯ เป็นเหตุให้ลดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันนานถึง 33 ปี แรงงานไทยที่เคยไปทำงานที่ซาอุฯถึง 300,000 คน เหลือไม่ถึง 10,000 คน จากคำบอกเล่าของ “ดามพ์ บุญธรรม” เอกอัครราชทูตไทย ที่เข้าไปประจำที่ซาอุฯ คนแรกหลังฟื้นความสัมพันทางการทูตอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่มกราคม 2565

“ก่อนที่ผมจะเข้าไปประจำการ ได้มีการเยือนระดับผู้นำระดับสูง หลายคณะ มีการปรับความสัมพันธ์เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ทำให้ได้รับการอำนวยความสะดวกจากทางซาอุฯเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ยากคือ จำนวนบุคลากร ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ประจำ 5 คน เนื่องจากเพิ่งฟื้นความสัมพันธ์ และอาคารบ้านเรือนก็เสื่อมโทรมตามสภาพที่ห่างหายกันไป 30 ปี ต้องมารีโนเวตอะไรกันใหม่ ทั้งหมดก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่ได้เร็วอย่างที่คาดหวังไว้”

“อีกส่วนคือความเข้าใจเรื่องรายละเอียด ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ที่เราขาดหายไป ก็ต้องกลับมารื้อฟื้นและศึกษากันใหม่ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ส่วนหน่วยงานของทีมไทยที่อยู่ประจำซาอุฯจะมีหลายหน่วยงาน เช่น ทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ที่เมืองเจดดาห์สำนักข่าวกรอง และทางแรงงาน อยู่ที่ริยาด ซึ่งก็ต้องมีการช่วยเตรียมการเมื่อมีการเดินทางเยือนของคณะต่าง ๆ”

ซาอุฯ​ดินแดนแห่งโอกาส

ซาอุดีอาระเบียเป็นดินแดนที่อยู่ตรงกลางระหว่างคาบสมุทรซาอุดีอาระเบีย มีพื้นที่มากที่สุด 2 ใน 3 ของคาบสมุทรซาอุดีอาระเบีย ใหญ่กว่าไทย 4 เท่า มีพื้นที่ติด 8 ประเทศ ทำเลเหมาะสมจะเป็น gateway สู่ยุโรป และแอฟริกาได้

ขนาดเศรษฐกิจ ซาอุฯ จัดอยู่อันดับที่ 18 ของโลก มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) 800,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่กว่าไทยที่มีขนาดจีดีพี 500,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ รายได้ต่อหัวประชากร 25,000 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี มากกว่าไทยที่มีรายได้ 7,000 กว่าเหรียญสหรัฐ/คน/ปี มีประชากร 35 ล้านคน รายได้หลักมาจากการค้าน้ำมันและบริการ

ตารางมาตรการการลงทุน

ADVERTISMENT

STCC เปิดเวทีนัดแรก Q3-4

ไทยและซาอุฯเตรียมจะมีการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี-ไทย หรือ (Saudi-Thai Coordination Council : STCC) ประมาณไตรมาส 3-4 ของปีนี้เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างกัน

โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศของแต่ละประเทศเป็นประธาน เพื่อหารือความร่วมมือ 5 สาขา คือ ด้านการลงทุน เศรษฐกิจการค้า ท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การทหารและความมั่นคง และด้านการเมือง และจะได้ขยายสู่การตกลงความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยว และทางกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางไปเยือนตามคำเชิญอีกครั้งในเดือน พ.ค.-มิ.ย.2566

ADVERTISMENT

เชื่อมสัมพันธ์ทุกมิติ

หลังจากเยือนในระดับนายกรัฐมนตรี ก็เริ่มมีการแลกเปลี่ยน ลงนามความตกลงความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ด้านแรงงาน ด้านสายการบิน ด้านพลังงาน ได้ร่วมกับ ปตท.ศึกษา ไฮโดรเจน การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้ง business council และสนับสนุนการทำความตกลงเอฟทีเอไทย-GCC

“ปัจจุบันซาอุฯ วางนโยบาย VISION 2030 เพื่อพัฒนาประเทศ เน้น 3 เสาหลัก คือ การสร้างสังคมให้มีชีวิตชีวา การสร้างเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ และต้องให้มีความทะเยอทะยานเป็นที่ยอมรับ มีหลักการทางกฎหมายที่เป็นสากล”

ทั้งยังขยายการลงทุนในโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างเมืองใหม่ เช่น NEOM The Line รองรับประชากรได้กว่า 9 ล้านคน เมืองท่องเที่ยว Al Ula และโครงการ The Red Sea Project เมืองท่องเที่ยวในเขตทะเลแดง รวมถึงเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ และเมืองในอนาคตอย่าง Mukaab

“ที่สำคัญ ยังมีกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (PIF) ในโครงการสำคัญ มาตรการ Zaudization กำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในซาอุฯ ต้องจ้างแรงงานซาอุฯตามโควตาที่กำหนด เพื่อลดการว่างงานและเพิ่มรายได้ให้กับชาวซาอุฯ”

โอกาสการค้า-ลงทุน

มูลค่าการค้าไทย-ซาอุฯ ปี 2565 อยู่ที่ 9,220 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.9% จากปี 2564 ส่วนการลงทุน ระหว่างปี 2556-2565 อนุมัติมี 2 โครงการ มูลค่า 33.27 ล้านบาท คือ โครงการผลิตสัตว์น้ำแช่แข็งของ บริษัท ซี.พี. ทูน่า จำกัด และโครงการให้บริการห้องเย็น บริษัท พี.ซี.ทูน่า ห้องเย็น จำกัด

“ไทยควรใช้โอกาสเข้าร่วมแสดงในงานแฟร์ เช่น SAUDI HORECA 2023 ในเดือน พ.ย. และงาน Foodex Saudi เดือน ก.ย. เพื่อหาโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ โดยการ joint venture และขอพรีเมี่ยม เรสซิเดนต์ วีซ่า”

VISION 2030 ซาอุฯ

ด้าน “Haya Alkahtani” จากกระทรวงการลงทุนซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า VISION 2030 เป็นจุดเปลี่ยน โอกาสการลงทุนในซาอุฯ เป้าหมายในปี 2030 มี 3 พิลาร์ คือ ด้านสังคมจะลดอัตราการว่างงานจาก 12% เหลือ 7% ซึ่งปัจจุบันทำได้ 9% แล้ว การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นจาก 1.3% เป็น 5.7% ของจีพีดีซึ่งปัจจุบันทำได้ 2.3% และให้ประชาชนได้มีบ้านที่อยู่อาศัยจาก 47% เป็น 70% ซึ่งปัจจุบันทำได้ 60% แล้ว

พิลาร์ด้านเศรษฐกิจ จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน จาก 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันทำได้ 76,600 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว และเป้าหมายเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงจาก 22% เป็น 30% ซึ่งปัจจุบันทำได้ 37% เกินเป้าหมายแล้ว

และสุดท้าย พิลาร์ด้านการขับเคลื่อนประเทศ จะผลักดันให้มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนร่วมภาครัฐเพิ่มขึ้น จาก 160,000 ล้านเหรียญ เป็น 2 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งปัจจุบันทำได้ 620,000 ล้านเหรียญแล้ว

กลยุทธ์การลงทุนของประเทศ (NIS) วางไว้ 4 ด้าน คือ 1.มุ่งจะสร้างความเข้มแข็งและสร้างโอกาสการลงทุน 2.มุ่งเพิ่มการมีส่วนร่วมของนักลงทุนให้มีความหลากหลาย 3. มุ่งลดอุปสรรคด้านการเงินในการลงทุน

และ 4.การสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมในการดึงดูดการลงทุน

“เป้าหมายกลยุทธ์นี้จะมุ่งสร้างรายได้จาก FDI มากกว่า 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564-2573 โดยมีปริมาณการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 545,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 30% ของจีดีพี FDI เพิ่มขึ้น 20 เท่าในปี 2030”

โดยอาศัยจุดแข็งจากความพร้อมด้านโลจิสติกส์ ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัย ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ ทั้งการปฏิรูปกฎหมายกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น การออกวีซ่าธุรกิจใน 24 ชม. ลดเวลาในการทำพิธีการศุลกากร และส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถือหุ้น 100% ในหลายสาขา

ขณะที่ “Aboud Alshahrani” จาก National Incentive Committee (NIC) กระทรวงการลงทุน ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ซาอุดีอาระเบียให้การส่งเสริมมี 14 สาขามีมาตรการส่งเสริมการลงทุน 7 ด้าน (กราฟิก) เช่น การให้การสนับสนุนเงินลงทุน ทั้ง CAPEX และ OPEX ด้านต่าง ๆ โดยจะมองเชื่อมโยงถึงการจ้างงาน การสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น ระบบน้ำ ไฟฟ้า วัตถุดิบ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ใช้ในการลงทุน

มาตรการด้านการเงินการคลัง เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การรับรองเครดิต เป็นต้น หรือด้านการเงิน เช่น การสนับสนุนให้มีการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ การให้มาตรการปฏิบัติการคุ้มครองที่เป็นธรรมกับนักลงทุน การอำนวยความสะดวกในด้านกฎระเบียบ เช่น กฎระเบียบการตั้งธุรกิจ กฎหมายแรงงาน หรือกฎระเบียบพิเศษเฉพาะสาขา เป็นต้น

ซึ่งทาง NIC ได้วางกรอบการทำงานที่ชัดเจน กระบวนการจัดสรรสิ่งจูงใจชัดเจน และมีความโปร่งใส มุ่งให้เป็นไปตามเป้าหมายปี 2030