ซีพีเอฟ-มิตรผล-SCG-รพ.กล้วยน้ำไทย หัวหอกทุนไทยบุกตลาดซาอุฯ

ซีพีเอฟ-มิตรผล-รพ.กล้วยน้ำไทย-SCG หัวหอกทุนไทยบุกตลาดซาอุฯ หลังฟื้นสัมพันธ์ 1 ปี ดันการค้าพุ่ง 3.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.64% ดึงนักท่องเที่ยว 1.8 แสนคนเข้าไทยปี 2566

วันที่ 11 เมษายน 2566 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในงานสัมมนา “เปิดโอกาสการค้าซาอุดีอาระเบียกับหอการค้าไทย Trade-Travel-Investment” เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศซาอุดีอาระเบียในช่วงต้นปี 2565 ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้สองฝ่านมีการสร้างการค้าระหว่างกัน มูลค่ารวม 323,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.64% ซึ่งซาอุฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 18 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ด้านการท่องเที่ยวในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวซาอุฯ 96,389 คน สร้างรายได้ 8,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ การเพิ่มเที่ยวบินจาก 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ถือเป็นการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ที่ทั้ง 2 ประเทศจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

คาดว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวซาอุฯ ถึง 150,000 คน หรืออาจจะมากถึง 180,000 คน สามารถสร้างรายได้ 12,000 ล้านบาท โดยจะเห็นว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียสูงกว่าเฉลี่ยที่ 80,000 บาทต่อคน สูงกว่า นักท่องเที่ยวเฉลี่ยปกติจะใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเราจะเห็นนักท่องเที่ยวซาอุฯ พาครอบครัวมารักษาที่โรงพยาบาลในไทย และพาครอบครัวไปจับจ่ายซื้อสินค้า

“ในระยะยาวเราจะเห็นการลงทุนมี่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนักลงทุนซาอุดีอาระเบียที่เดินทางมาไทย และนักลงทุนไทยที่ขยายไปลงทุนซาอุฯ โดยเฉพาะในธุรกิจบริการ โรงพยาบาลมีโอกาสอย่างมาก”

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากที่เดินทางไปสำรวจและหารือกับหน่วยงานในซาอุฯ ทางซีพีเอฟอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสขยายการลงทุนไปยังซาอุฯ โดยจะมองทั้งในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์ม และอาหาร ว่าธุรกิจใดจะเหมาะสม คาดว่าจะได้ข้อสรุปข่าวดีในปีนี้

เหตุผลหลักที่มองโอกาสการลงทุนในซาอุฯ เพราะซาอุฯ เป็นประเทศที่มีศักยภาพหลายด้านทั้งการเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำของกลุ่มคาบสมุทรอ่าวอาหรับ (GCC) ขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย มีประชากร 35 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 50 ล้านคนในปี 2030 และยังสามารถยังเชื่อมโยงตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ปัจจัยที่ 2 วิสัยทัศน์และกลยุทธ์การบริหารของซาอุฯ ซึ่งได้ประกาศเป้าหมายการดำเนินงาน vision 2030 มีแผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจน ที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง โดยวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับซีพีเอฟ มี 6 ประเด็นหลัก คือ

1) การเพิ่มสัดส่วนธุรกิจโต 60% ของจีพีดี

2) มูลค่าส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมัน เพิ่มเป็น 50% ของจีพีดี

3) การจับจ่ายใช้สอยด้านวัฒนธรรมและบันเทิง เพิ่มเป็น 6%

4) การเพิ่มการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI ) เป็น 5.7%

5) การเพิ่มความสามารถในการรองรับท่องเที่ยว 30 ล้านคน

6) การสร้างความมั่นคงทางอาหาร

“วิสัยทัศน์การส่งมอบอาหารปลอดภัยและมีสารอาหารให้คนทั้งประเทศได้มั่นคงและยั่งยืน ในขณะเดียวกันในช่วงภาวะฉุกเฉินจะต้องจัดหาอาหารได้อย่างรวดเร็วและราคาเข้าถึงได้ โดยเป้าหมายปี 2030 จะเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารทะเลจาก 1 แสน เป็น 6 แสนตันต่อปี และส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลต่อหัว 15 กก.ต่อคน เพิ่มการผลิตไก่เป็น 1.7 ล้านตันต่อปี”

และ ปัจจัยที่ 3.การมีโครงสร้างการบริหารที่เข้มแข็งจากทั้งผู้บริหารระดับสูง และมีกองทุนที่สนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร โดยบริษัทเพื่อการลงทุนในด้านการเกษตรและปศุสัตว์เพื่อความยั่งยืนทางอาหาร (SALIC) ซึ่งทางซีพีเอฟได้ทำงานและร่วมหารือกับ SALIC หลายด้าน

นายอบิจิต ดัตต้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ขณะนี้ SCG ได้รับอนุมัติเปิดบริษัทในซาอุดีอาระเบีย ประสบความสำเร็จแล้ว ตอนนี้อยู่ในกระบวนการที่จะเปิดบริษัท และเปิดสาขาที่นั่น

สำหรับ SGC ทำเทรดดิ้งมา 40 กว่าปี แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ทรานส์ฟอร์มเป็นซัพพลายเชน เพราะเห็นซัพพลายเชนดิสรัปชั่นเกิดขึ้นมาตลอด และยิ่งโดยเฉพาะช่วงโควิดถูกดิสรัปต์จากปัจจัยต่าง ๆ

ธุรกิจที่เป็นโอกาสที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ เราอยากเป็น “ซัพพลายเชนพาร์ตเนอร์” ทำอย่างไรให้เข้าใจว่าอุตสาหกรรมแต่ภูมิภาคเป็นอย่างไร ทำ end to end ให้เขามีทางเลือก ไม่จำเป็นพึ่งรายใดรายหนึ่ง ซึ่งหมายถึงทำให้มี resilient ด้วย จากเดิมที่มองแต่การลดต้นทุน ทำให้ต้องขยายการลงทุนออกไป

จากอดีตธุรกิจ SCG จะอยู่ในอาเซียน แต่ปัจจุบันเรามองกลุ่มประเทศที่เรียกว่า SAME คือ South, Asia, Middle east and Africa ซึ่งกลุ่มนี้ รวมกันแล้วเป็น 45% ของประชากรทั่วโลก และในภูมิภาคนี้มีการทำการค้ากันอย่างมาก ทำให้เป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ

“ที่ผ่านมาบังกลาเทศ เป็นตลาดใหญ่ของเราอยู่แล้ว ในอินเดีย ก็เพิ่งจะลงทุนในปีที่แล้วครั้งแรก ในตะวันออกกลางเราก็จะมี เฉพาะสาขาที่ดูไบ เราก็เลยมองว่าการเข้าไปทำธุรกิจที่ซาอุดีอาระเบียทำให้ซัพพลายเชนเราแข็งแรง”

รพ.กล้วยน้ำไทมองโอกาสธุรกิจบริการ

นายศรัณยู ชเนศร์ รองประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทย เปิดเผยว่าจากที่ไปซาอุฯ 2 รอบ เป้าหมายเพื่อจะไปดูว่าเฮลท์แคร์ที่ซาอุฯมีอะไรที่เป็นโอกาสสำหรับไทย โดยเฉพาะ รพ.กล้วยน้ำไททำเรื่องซาอุฯเยอะน่าจะมีโอกาส แต่ปรากฏว่าผิดคาด เพราะซาอุฯ มีแรงงานมาจากประเทศใกล้เคียงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ซีเรีย เยเมน และพูดภาษาเดียวกัน ปิดประตูเรื่องนี้ไป

หรือไปทำ รพ.เอกชนที่นั่นดีหรือไม่ เราก็พบว่า ซาอุฯมีอัตราส่วนเตียงต่อประชากรมากกว่าไทย ประมาณ 2.1 เตียงต่อประชากร 1,000 ส่วนซาอุฯ 2.2 เตียงต่อประชากร 1,000 คน แซงประเทศไทยไปแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้ทางซาอุฯ เข้มแข็ง

แต่สิ่งหนึ่งที่ซาอุฯ อยากได้มาก คือ คนนวดไทย ไปช่วยดูแล ปรากฏว่าซาอุฯอนุญาการนวดสำหรับคิงส์เท่านั้น คนทั่วไปไม่มีโอกาส แต่ตอนนี้เรื่องนี้กำลังเป็นโอกาสมาก เพราะคนพอมีสตางค์ต้องการการดูแลสุขภาพ และการป้องกัน และเวลล์เนสประเทศไทย เวิล์ดคลาส และสมุนไพรไทยเป็นโอกาสใหญ่ ๆ น่าจะตอบโจทย์

และอีกอย่างคนซาอุฯ เวลามีปีญหาสุขภาพจะมองหาไฮแอนด์ มองหาสหรัฐ และเยอรมนี ส่วนไทยเป็นจุดแข็งคือการรักษาบวกท่องเที่ยว โดย รพ.ที่ชาวซาอุฯ รู้จัก คือ บำรุงราษฎ์ และกรุงเทพ เท่านั้น ในช่วงที่ปิดประเทศก็ยังมีคนซาอุฯมารักษา

“Vision/2030 โฟกัสเรื่องเฮลท์แคร์ค่อนข้างเยอะนี่จึงเป็นโอกาส เค้าต้องการปลูกต้นไม้ 1 หมื่นล้านตัน ต้องการมีนักท่องเที่ยว 100 ล้านคนในปี 2030 ฉะนั้น หลายเรื่องที่เคยเป็นกฎเกณฑ์ก็ถูกผ่อนคลายลง รวมถึงเรื่องเวลล์เนส การนวดที่เคยไม่ได้ ก็ได้”

นอกจากนั้น ทุกโรงแรมไทยที่จะเปิดที่ซาอุฯต้องมีนวดไทย และอีกอย่างคือที่จะไปเปิด รพ.ที่ซาอุฯ มีฟันด์จากรัฐบาลมาสนับสนุน ได้ถึง 70% เราแบกกระเป๋าเอาเงินทุน 30% ไป สร้างโรงพยาบาลที่ซาอุฯ และอีกโอกาสคือ การบริหารจัดการโรงพยาบาลเขาอาจจะทำได้ แต่ยังต่างจากไทย โดยเฉพาะเรื่องเซอร์วิสไมนด์

“รพ.ไทยยังมีโอกาสจะไปลงทุน เพราะมีจุดแข็ง และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซาอุฯเรื่องอินฟราสตรักเจอร์ต่าง ๆ”

มิตรผลลุยขายน้ำตาลซาอุฯ

นางอัมพร กาญจนกำเนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า จะได้ร่วมคณะรองนายกฯ ดอน ปรมัติวินัยเยือนซาอุฯ เมื่อ 16-18 พฤษภาคม 2566 ไปเจดดาร์ ริยาร์ด อุเวล่า หลายเมือง เราได้มีโอกาสไปเยื่ยมลูกค้า ไม้เอ็มอีเอฟ

สิ่งที่เห็นชัด ๆ คือ ถ้าดูมิชชั่น 2030 จะพูดถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศซาอุฯ มีโรงรีไฟนารี่ค่อนข้างใหญ่ และกำลังจะเกิดแห่งที่ 3 ขึ้นมา ขายปริมาณเยอะ อันนี้ก็ถือว่า เขาได้เปรียบในแง่นำเข้าน้ำตาลดิบจากบราซิล เพราะพื้นที่อยู่ระหว่างกลาง และยังมีจุดแข็งเรื่องพลังงานที่ค่อนข้างถูก มีทั้งก๊าซและน้ำมัน ขณะที่ประเทศไทยเราผลิตน้ำ และใช้กากอ้อยมาผลิตพลังงาน ลักษณะอุตสาหกรรมเข้าก็แข่งขันได้พอสมควร

แต่เราก็ยังมองถึงโอกาสที่ไปลูลู่มาร์เก็ต ซึ่งเป็นซุปเปอร์ของชาวอินเดียว ซึ่งปกติคนทำงานในซาอุฯ 60% เป็นคนต่างชาติ ประชากร 30% ซึ่งมีประมาณ 35 ล้านคน ซึ่งทางมิตรผลไปร่วมกับม่ามา เราเห็นว่าการทำน้ำตาลแพ็กเล็ก หรือน้ำตาลชนิดพิเศษต่าง ๆ ซี่งเราได้นำเข้าไปวางจำหน่ายในลูลู่มาร์เก็ตได้แล้ว

ซึ่งสำคัญไทยต้องเน้นเรื่องฮาลาล และการสร้างความมั่นใจเป็นเรื่องสำคัญมาก

ซาอุฯสร้างเมืองใหม่โอกาส MDF

ส่วนไม้แผ่นทำเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกต่างภายใน นี่คือเป็นเป็นโอกาสเยอะ เพราะอาจจะไม่รู้ว่าประเทศไทยส่งไม้เทียมเข้าปในซาอุฯ เป็นอันดับ 2 รองจากชิ้นสวนยานยนต์ ปีก่อน ส่งออก 9 แสนลูกบาศก์เมตร จากกำลังการผลิต 1.5 ล้าน ลบ.ม.

“หากไทยต้องการทำธุรกิจกับซาอุฯให้มองภาพเป็นอินดัสทรี เป็นคลัสเตอร์ ซึ่งจะสร้างประสิทธิภาพการลงทุน และอีกด้านเราขายของไป เราก็นำเข้าปุ๋ยมา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน หรือส่วนผสมในการทำผลิตภัณฑ์แทนไม้ไป”

“ลูกค้ามีทั้งโอลเซลเซอร์ ขายให้กับช่างไม้ ผู้รับเหมาะ และขายตรงให้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ด้วย ถ้าซาอุฯสร้างเมืองอาจจะทำให้คอนสตรักชั่นเคลนทั้งโลกมาอยู่ที่นี่”

หนุนฮาลาล : ซอฟต์พาวเวอร์

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปีก่อนเรามีปัญหาเรื่องการส่งออกสินค้าไปยังซาอุดีอาระเบีย เดิมที่มีการเจรจาเปิดความสัมพันธ์แล้วแต่นำเข้าไม่ได้ คือ ปัญหาการนำเข้าไก่จาก 11 โรงงานนำเข้าไม่ได้ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ภายหลังทีการแก้ปัญหาได้ สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่น เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล

“การส่งเสริมตัวเลขการส่งออกสินค้าฮาลาลเพิ่มจาก 247 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นไปเป็น 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลจากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการสร้างความเชื่อมมั่น และเรากำลังจะสร้างฮาลาล บล็อกเชน นำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อนประเทศไทยไปสู่ S Curve”

การนำเสนอแพลนต์เบสในเอเปค หลุดไปในเรื่องส่วนผสมที่เป็นเนื้อสัตว์ animal based ingredient ดังนั้นต้องมีการพัฒนาเป็นแพลนต์เบส 100%

ไทยพยายามจะปักธงนำ และพยายามสร้างเรื่องของพลังละมุน (ซอฟต์พาวเวอร์) ซอฟต์พาวเวอร์ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นอันดับผู้ส่งออกอันดับ 15 ของประเทศมุสลิมทั้งหมด 200 ประเทศ ปีก่อนขยับไปอันดับ 9 เราเชื่อมั่นว่าหากสร้างความเชื่อมั่นให้ซาอุฯมีโอกาสเข้ามามหาศาล คาดหวังจะเป็นท็อป 5 ซึ่งเราจำเป็นต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ และซาอุดีอาระเบีย จะเป็นสปริงบอร์ดไปสู่ แอฟริกา และยุโรป คิดว่าจะเป็นโอกาสอย่างสำคัญของประเทศไทย

EXIM หนุนไทยไปลงทุน 3 ธุรกิจ

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า บทบาทของ EXIM Bank พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการขยายตลาดไปยังซาอุฯ ซึ่งถือเป็นประตูการค้าการลงทุนเปิดใหม่ เพราะซาอุเป็นหนึ่งชาติของผู้นำของประเทศตะวันออกลาง และมีบทบาทสำคัญในองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) เป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามและประสู่ดินแดนอาหรับ เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จัก เพื่อกระตุ้นยอดขาย ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด ออกงานแสดงสินค้า พร้อมการใช้จุดแข็งของผู้ประกอบการไทยเพื่อออกไปลงทุน

“ธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนซาอุฯ หรือธุรกิจซาอุฯที่จะมาลงทุนที่ ให้มาขอสินสอดที่เรา”

สำหรัยธุรกิจที่ไทยมีโอกาสลงทุนในซาอุฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือชิ้นส่วนยานยนต์ ไทยมีประสบการณ์ในซาอุฯ มากว่า 20 ปี โดยตลาดมีแนวโน้มเติบโต เช่น อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ รวมทั้งเริ่มมีลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ธุรกิจบริการ ไทยมีโอกาสเข้าไปร่วมทุนหรือรับจ้างบริหารโรงแรม โรงพยาบาล Saudi Vision 2030 ซาอุฯ มีแผนพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวเป็น 10% ของ GDP และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซาอุฯ มีแผนก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ เช่น การพัฒนาเมืองแห่งอนาคต การพัฒนาตามแผน Saudi Arabia GreenInitiative

รักษ์ วรกิจโภคาทร
รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

Thailand Mega Fair & Festival 2023-The Kingdom of Saudi Arabia บูมปลายปี

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2566 บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ยังมีแผนร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานแสดงสินค้า Thailand Mega Fair & Festival 2023-The Kingdom of Saudi Arabia ในระหว่างวันที่ 13-16 ธ.ค. 2566 ณ กรุงริยาด และถือเป็นงานแสดงสินค้าและบริการของไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในซาอุฯ

“งานนี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน การหาคู่ค้าและพันธมิตรทางการค้า, ขยายดิสทริบิวเตอร์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปยังประเทศซาอุฯ เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายในตลาดซาอุฯ และตะวันออกกลาง”