ธนสรรไรซ์ชี้ปีทองข้าวไทย ส่งออกพุ่งฝ่าคลื่นความร้อน

ข้าวไทย

ธนสรรไรซ์ฟันธง ปีทองชาวนาไทยแห่ปลูกนาปรัง คาดแนวโน้มส่งออก ปี 66 พุ่งทั่วโลกเผชิญคลื่นความร้อนเสียหาย พาเหรดสั่งซื้อไทย ลุ้นอินโดฯออร์เดอร์ใหม่ลอต 2 ฝากความหวังรัฐบาลใหม่ดูแลธุรกิจข้าวทั้งระบบให้แข่งขันได้-พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกและผลิตข้าวถุงจัสมิน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตมากกว่าปี 2565 ทั้งด้านปริมาณและราคา จากความต้องการตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศผู้ผลิตข้าวประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง ผู้นำเข้าจึงหันมาสั่งซื้อข้าวจากไทย

โดยเฉพาะตลาดอาเซียน เช่น อินโดนีเซียที่เข้ามาซื้อข้าวรอบแรกเมื่อเดือนเมษายน 2 ล้านตัน และคาดว่าในอีก 1-2 เดือนนี้จะมีการเข้ามาสั่งซื้อเพิ่มเป็นลอตที่สอง โดยคาดว่าจะซื้อปริมาณใกล้เคียงกับลอตแรก ทั้งยังมีการสั่งซื้อข้าวจากฟิลิปปินส์ซึ่งภายในประเทศประสบปัญหาโลกร้อน ทำให้ผลผลิตลดลง

ส่วนตลาดจีนก็ยังมีการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ออร์เดอร์จะไม่ได้หวือหวามากนัก เพราะภายในประเทศจีนยังมีสต๊อกข้าวอยู่ นอกจากนี้ยังมีตลาดตะวันออกกลางที่มีการสั่งซื้อต่อเนื่องมา โดยเฉพาะตลาดอิรัก ที่คาดว่าจะมีการสั่งซื้อในปริมาณใกล้เคียงกับปีก่อน

“ตลาดส่งออกข้าวดี เพราะประเทศคู่แข่งประสบภาวะเอลนีโญปริมาณผลผลิตลดลง ไม่มีฝนเลยอย่างจีน ก็ได้รับผลกระทบเสียหายเยอะ ถ้าเทียบราคาเวียดนามตอนนี้ใกล้เคียงกับไทย”

นายศุภชัยกล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยต้องเตรียมแผนการซื้อข้าวเพื่อการส่งออก เพราะจากการคาดการณ์ว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วง หรือเอลนีโญในช่วงหลังจากเดือนพฤษภาคมไปแล้วนั้น ต้องมาประเมินกันภายในเดือนนี้ว่าถ้าฝนมาน้อยชาวนาจะปลูกไม่ได้ แต่ถ้าฝนมาชาวนาปลูกไปได้แล้วผ่าน 2-3 เดือนไปแล้ว มีโอกาสที่ข้าวจะรอดตาย แม้ว่าจะมีคลื่นความร้อนมา หรือเกิดช่วงฝนมา ภายใน 2-3 เดือนที่เพาะปลูกแล้วก็ไม่น่าจะเสียหายมาก

“ตอนนี้การเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ราคาไทยเทียบกับเวียดนามปีนี้เทียบกับปีที่แล้วก็ห่างกันร่วม 70-80 เหรียญสหรัฐต่อตัน ชาวนาพอใจกับราคาข้าว เพราะส่งออกไปได้ดี จึงทำให้ราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้า 5% สูงกว่าปีก่อนที่ซื้อกันตันละ 8,000 บาท ปีนี้ซื้อแพงกว่า 9,000 บาท ซึ่งด้วยราคาอย่างนี้เชื่อว่าชาวนาจะลงปลูกแน่นอน

ปีนี้เป็นปีทองชาวนา ถ้ามีน้ำดีก็น่าจะมีการทำนาเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องมาดูว่าหลังจากนี้ไป มีฟ้ามีฝนมาก็เพาะปลูก ในพื้นที่อีสานจะทำได้หรือไม่ได้ต้องดูว่าพื้นที่อีสานมันทำได้มากน้อยขนาดไหน ส่วนชาวนาภาคกลางเขาไม่รอ ถึงไม่มีฝนราคาข้าวดีแบบนี้ เขาสูบน้ำบาดาลสู้อยู่แล้ว”

ในส่วนของผู้ประกอบการส่งออก ตอนนี้ต้องเตรียมวางแผนซื้อข้าว หากมีฝนทิ้งช่วง ผลผลิตจะออกมามากหรือน้อย จะเพียงพอกับที่รับออร์เดอร์ไว้หรือไม่ และยังมีปัญหาต้นทุนค่าไฟที่ปรับขึ้นมาก็กระทบมีผลกับการผลิตตันละ 100 บาท ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนทุกอย่างก็ถูกนำไปคำนวณรวมกับต้นทุนทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีการปรับตัวตามสภาพ

“ทางธนสรรฯยังประเมินเป้าหมายยอดขายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ตอนนี้ธุรกิจข้าวไม่ได้กำไรเยอะก็ประคองกันไป แต่โชคดีที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่ามาช่วย ทำให้ยอดดีขึ้น และมีความต้องการข้าวอิรักเข้ามาบ้าง ผมว่าก็ดูดีขึ้น แต่ในธุรกิจข้าวมีการแข่งขันสูง โรงสีมีจำนวนเป็นพันโรง ผู้ส่งออกจริง ๆ ไม่เกิน 6-7 ที่ที่มีศักยภาพ

เมื่อน้อยก็เลยมีคอขวด แต่ถือว่า 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ มีโรงสีหลาย ๆ โรงผันตัวมาทำส่งออกเพิ่ม 4-5 ราย เช่น แสงฟ้า โกลเด้นแกรนารี่ กำแพงเพชรเอ็กซ์ปอต ทำให้ช่วยลดคอขวดไทยสามารถไปชิงส่วนแบ่งตลาดมาได้พอสมควร”

“อนาคตหากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็ควรจะดูแลด้านพืชผลทางการเกษตรต่อเนื่อง โครงการประกันรายได้ในช่วงลอตหลัง ๆ แทบจะไม่ได้จ่ายชดเชยประกันรายได้แล้ว จะมีต่อหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญต้องดูแลอุตสาหกรรมและธุรกิจเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตร เพราะว่ารายได้เราโดยรวมก็ต้องดูแลทั้งหมด เพราะไทยพึ่งพารายได้จากพืชผลทางการเกษตรอย่างมาก

ดังนั้น ต้องดูแลครบวงจรให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ นอกจากนี้ก็ต้องดูแลจัดหาและพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย เพื่อจะแข่งขันได้ในตลาดโลก”