ข้าวไทย รับอานิสงส์ สต๊อกโลกปี’66 วูบ 13.7 ล้านตัน

โกดังข้าว

ภาพรวมการส่งออกสินค้าข้าวไทยไตรมาสแรกปี 2566 มีมูลค่า 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.26% (8,616 ล้านบาท) ในด้านปริมาณ 2,063,927 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.48% (321,625 ตัน) โดยไทยได้วางเป้าหมายการส่งออกข้าวทั้งปีอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน

และหากเปรียบเทียบราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 453-457, 440-444 และ 458-462 เหรียญสหรัฐต่อตันตามลําดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 484 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดียและปากีสถาน อยู่ที่ 383-387 และ 508-512 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ส่องตลาดข้าวโลก

นายวันนิวัต กิติเรียงลาภ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และในฐานะรองประธาน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด เปิดเผยในงานเสวนา เจาะลึกการตลาด ขยายโอกาสส่งออกข้าวไทย ในหัวข้อ “โอกาสของข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์สต๊อกข้าวโลกในปี 2566 อยู่ที่ 168.6 ล้านตัน ลดลง 13.7 ล้านตัน จากปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 182.3 ล้านตัน ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มสต๊อกข้าวโลกลดลง ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญอย่างมาก เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดถึงปัญหาและปัจจัยที่กระทบ

ขณะที่โอกาสส่งออกข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่งเฉลี่ยซื้อ-ขายข้าวในตลาดโลกประมาณ 55 ล้านตัน แบ่งเป็น ตลาดข้าวที่กินอิ่ม อาทิ ข้าวขาว บริโภค ประมาณ 32 ล้านตัน คิดเป็น 73% ของตลาดข้าวทั้งหมด ตลาดข้าวกินอร่อย อาทิ ข้าวหอมมะลิ บริโภค 10 ล้านตัน คิดเป็น 23% และข้าวเพื่อสุขภาพ บริโภค 2 ล้านตัน ซึ่งมีสัดส่วนที่น้อยมาก และการเติบโตของตลาดช้า การที่จะทำตลาดกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่ยาก อีกทั้งยังพบว่าการบริโภคข้าวในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง

ตารางส่งออกข้าว

ทั้งนี้ ด้านการแข่งขันราคา ข้าวของไทยยังเป็นราคาระดับสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งค่าเงินของไทยก็มีความผันผวน ขึ้น-ลง เหมือนตลาดหุ้น ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขัน เพราะต้องยอมรับว่าผู้ซื้อ หรือผู้นำเข้า ชอบราคาที่มีความเสถียรภาพ ราคานิ่งอย่างราคาข้าวของปากีสถานและอินเดีย ส่วนเวียดนามผันผวนน้อยกว่าไทยมาก และจากราคาข้าวไทยที่มีราคาสูงก็ส่งผลกระทบทำให้มีการปลอมปนข้าว ผสมข้าวบ้าง ซึ่งมีผลต่อการแข่งขันข้าวไทย

อย่างไรก็ดี เพื่อการแข่งขันตลาดข้าวไทย จำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มากขึ้น ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ รักษาคุณภาพข้าวทั้งรสชาติ กลิ่น ในการรักษาฐานลูกค้าและสร้างโอกาสตลาดใหม่ ๆ ในการส่งออกได้

ตลาดข้าวหอมมะลิลดลง

นายนิวัฒน์ หาญสวัสดิ์ ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตลาดบริโภคข้าวในสหรัฐมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีการหันไปบริโภคอย่างอื่นมากขึ้น พร้อมกันนี้ ยังพบว่าแบรนด์สินค้าข้าวในสหรัฐมีมากกว่า 50 แบรนด์ที่ขายในตลาด ช่องทางจำหน่ายก็มี 3 ช่องทางหลัก ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ตลาดเอเชีย และออนไลน์ โดยสินค้าข้าวไทยโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ จำหน่ายผ่านทุกช่องทาง ปัจจุบันแม้ข้าวไทยยังเป็นที่นิยมและยอมรับจากผู้บริโภคของสหรัฐ ก็ยังมองว่าตลาดข้าวไทยจำเป็นต้องรักษาตลาด และดึงดูดการบริโภคข้าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชาวเม็กซิกัน ซึ่งมีจำนวนมาก

โดยสหรัฐปลูกข้าวเฉลี่ยได้ปีละ 11 ล้านตัน ประมาณ 6.5 ล้านไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าข้าวจากทั่วโลกปีละ 1.3 ล้านตัน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐนำเข้าข้าว ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าข้าวหอมมะลิ เพื่อยังคงรักษาฐานลูกค้า มองว่าไทยจำเป็นต้องรักษามาตรฐานข้าวให้คงที่ รักษาคุณภาพข้าว พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า

นางชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง เขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดข้าวในฮ่องกง ภาพรวมลดลงทั้งไทย เวียดนาม กัมพูชา เพราะต้องยอมรับว่า ผู้บริโภคข้าวซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวมีปริมาณลดลง เมื่อเทียบจากช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งปีนี้คาดว่าประมาณ 2-3 ล้านคน จากก่อนโควิดซึ่งมีกว่า 60 ล้านคน ส่วนการแข่งขันในตลาดปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญอาหารเพื่อสุขภาพ หันไปบริโภคอาหารตะวันตกมากขึ้น ส่งผลให้รับประทานข้าวลดลง นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาปลอมปนและตลาดคู่แข่งขันพัฒนาพันธุ์ข้าวมากขึ้น

ดังนั้น เกษตรกรต้องพัฒนาข้าวไทยให้มากขึ้น เพื่อยังคงรักษาตลาดรวมไปถึงรักษาตลาดการส่งออก สำหรับการส่งออกข้าวไทยไปในตลาดฮ่องกง 2 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ ข้าวหอมมะลิ 18,725 ตัน หดตัว 13.06% ข้าวหอมไทย 3,569 ตัน ขยายตัว 15.52% ข้าวขาว 880 ตัน ขยายตัว 8.78% ข้าวเหนียว 767 ตัน หดตัว 11.61%

ก่อนส่งออกต้องเรียนรู้ตลาด

นายสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ข้าวศรีแสงดาว และโครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด กล่าวในหัวข้อ “ทำอย่างไรจึงส่งออกข้าวได้สำเร็จและยั่งยืน” ว่า แบรนด์ข้าวของเราใช้เวลา 5 ปีในการทำตลาดส่งออก เดิมนั้นเราเริ่มจากเป็นผู้ประกอบการโรงสีข้าว ผลิตข้าวให้กับผู้ส่งออกซึ่งดำเนินกิจการมาเป็นรุ่นที่ 2 ต่อจากรุ่นของบิดา และก็ดำเนินกิจการเก็บประสบการณ์มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ส่งผลให้เรียนรู้มากมายและเริ่มอิ่มตัว เวลานั้นก็ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานของภาครัฐ ใกล้ชิดเกษตรกร โดยทำให้เห็นตลาดส่งออก การผลิตข้าวหอมมะลิในตลาด โดยแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันมีข้าวหอมมะลิหลายพันธุ์

“ข้าวที่ผมทำในปัจจุบันนั้นเป็นข้าวหอมมะลิ ที่ทำการส่งออก และก็ได้เรียนรู้ว่าตอนนี้ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ทำให้ข้าวมีกลิ่นหอม นุ่ม เวียดนามก็ทำได้แล้ว ทำให้สินค้าในตลาดเยอะขึ้น ราคาเราเริ่มตกลง คุมราคาไม่ได้ ปัจจุบันสต๊อกข้าวก็มีการเปลี่ยนแปลง ค่าเงินก็เปลี่ยน ชนิดข้าวในตลาดเพิ่ม มีตัวเลือกมากขึ้น ทำให้เราซื้อข้าวในราคาที่มองไว้ไม่ได้ จึงต้องหาวิธีลดต้นทุน การทำนาหยอดจึงเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ โครงการนาหยอดได้ดำเนินการมาแล้ว 4-5 ปี มีเกษตรกรที่ทำสำเร็จ สามารถลดต้นทุน ปริมาณผลผลิตดีขึ้น จาก 320 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นมาเป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้เกษตรกรขายข้าวได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นแนวทางที่เราเห็นถึงความยั่งยืน และการส่งออกข้าวของเราก็ได้เรียนรู้จากผู้ส่งออก หน่วยงานรัฐในการช่วยเหลือ ก็ทำให้ตลาดข้าวปัจจุบันดีขึ้น

นายธีรพงษ์ รักษ์ธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มหานครไรซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเริ่มทำตลาดข้าวที่เน้นกินเพื่ออร่อย โดยได้เลือกข้าวพรีเมี่ยมมาทำตลาด อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอม ข้าวญี่ปุ่น เมื่อสามารถเลือกได้ก็วางกลุ่มเป้าหมายเพื่อการส่งออกได้ทันที

นอกจากนี้ บริษัทเองก็ยังส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพในการส่งออก แม้บางชนิดข้าวจะมีปริมาณส่งออกไม่เยอะ แต่ก็มีการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีอย่างเช่น ข้าวเหนียว ข้าวสุขภาพ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเป็นผู้ส่งออกข้าว มองว่าต้องเข้าใจและเรียนรู้ตลาด สินค้า ผู้บริโภค ทั้งนี้ สามารถศึกษาและขอคำปรึกษาจากหน่วยงานของภาครัฐได้ ซึ่งพร้อมที่จะแนะนำและมีกิจกรรมให้เข้าร่วมมากมาย