“อัญมณี” ยังต้องรักษ์โลก GIT ชี้เทรนด์ใหม่ปลุกอุตฯ 5 แสนล้าน

สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

อัญมณีและเครื่องประดับสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้สู่ประเทศ 5.17 แสนล้านบาท ในปี 2565 กำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญจากความท้าทายทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาให้ความใส่ใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกขึ้น

แน่นอนว่าประเด็นนี้ส่งผลต่อธุรกิจอัญมณีซึ่งเป็นธุรกิจที่มีต้นทางจากการใช้ “ทรัพยากรโลก” ทั้งเพชร พลอย ทองคำ หรือแม้แต่หอยมุก จำเป็นต้องเร่งปรับตัวโดยเร็ว

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทั้งให้บริการ ช่วยเหลือวิเคราะห์ ตรวจสอบ และกำหนดมาตรฐาน และออกใบรับรองคุณภาพรวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ภายใต้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงจึงมีบทบาทสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมนี้ให้แข่งขันได้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย” ผู้อำนวยการ GIT ถึงแผนการยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้

ส่งออกอัญมณีไม่รวมทองยังโต

สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย 2 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าลดลง 7.28% แต่หากพิจารณาเฉพาะการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยไม่รวมการส่งออกทองคำยังพบว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น 36.86% อยู่ในเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ ยังมองขยายตัวเป็นบวก แต่ตัวเลขยังต้องรอเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินอีกครั้ง

สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทยมีทั้ง เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ส่วนตลาดที่ส่งออกไปได้ดี เช่น ฮ่องกง และกาตาร์ที่มีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับและจัดแคมเปญเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและภาคธุรกิจ

ขณะที่อิตาลีมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ทั้งจากการเติบโตของการค้าปลีกและการท่องเที่ยว รวมทั้งการลดราคาสินค้าประจำปี ส่วนตลาดตะวันออกกลางที่นิยมเครื่องประดับทองทั้งแบบทองล้วนและประดับเพชรเป็นอีกภูมิภาคที่สามารถเติบโตได้ดี

เทรนด์โลกเปลี่ยน

หลังจากเกิดปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลเชื่อมโยงถึงตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก สินค้าที่ผลิตโดยใช้เพชรเจียระไนในปีนี้อาจประสบปัญหา เนื่องจากเพชรที่มาจากรัสเซียถูกปฏิเสธจากประเทศขั้วตรงข้าม จึงทำให้หลายตลาดอาจหันมาบริโภคสินค้าทดแทนอย่างพลอยสีเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการควรสร้างความเข้าใจและระมัดระวังการทำตลาดแบบแบ่งแยกกลุ่มให้ชัดเจน

“เทรนด์สินค้าปี 2566 ยังคงคอนเซ็ปต์ True Nature เน้นความเป็นสีทอง และพลอยเนื้ออ่อน แต่จะเห็นว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น ปีนี้จึงได้ทำโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว (เสน่ห์ใต้) ที่ได้เน้นการนำวัสดุพื้นถิ่น

หรือการนำวัสดุที่เหลือใช้มา upcycle กลายเป็นเครื่องประดับที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของโลก จนปัจจุบันเกิดเป็นชิ้นงานใหม่ ๆ ที่น่าสนใจออกมาแล้ว”

อัญมณีลดโลกร้อน

ผู้ผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับคงต้องให้ความสำคัญและสร้างแนวทางการลดก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน เพราะแม้มาตรการภาษีคาร์บอนยังไม่เกิดขึ้นกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ในอนาคตจะครอบคลุมสินค้าทั้งหมด

โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ให้ความสำคัญมากกับเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ภาครัฐของไทยควรพิจารณาการจัดแคมเปญเพื่อดึงดูดคำสั่งซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากนักท่องเที่ยวโดยเร็ว เพื่อชดเชยโอกาสที่เคยสูญเสียไปในช่วงก่อนหน้า

“จีไอทีมีแผนที่จะผลักดัน BCG Model ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของ BCG ในการผลิตเครื่องประดับ เพราะเป็นเทรนด์ของโลก หากทำได้ก็จะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา จีไอที ได้เริ่มจัดการประกวดออกแบบเครื่องประดับตามแนวทาง BCG แล้ว”

ลุยงานครึ่งปี 2566

แผนงานในครั้งปีหลัง ทางจีไอทีเตรียมจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า หรือ GIT Standard โดยมาตรฐานนี้จะเป็นมาตรฐานระดับประเทศ เป้าหมายเพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล

ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดทำมาตรฐานแล้ว 22 ขอบข่าย เช่น มาตรฐานห้องปฏิบัติการ มาตรฐานการตรวจสอบอัญมณี เพชร หยก และจะเพิ่มมาตรฐานใหม่อีก 3 ขอบข่าย คือ มาตรฐานวิธีวิเคราะห์และทดสอบมรกตและมุก

การวิเคราะห์หาปริมาณเงินในตัวอย่างโลหะมีค่าโดยใช้เทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์ (XRF) และมาตรฐานใหม่ด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น การแจ้งที่มาที่ไปของวัตถุดิบ การไม่เอาเปรียบแรงงาน เป็นต้น

จีไอทีจะผลักดันให้ห้องปฏิบัติการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ มีการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GIT Standard เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GIT Standard แล้ว 5 แห่ง ได้แก่

ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา, ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, ห้องปฏิบัติการ บริษัท พรีเชียส พลัส จำกัด, ห้องปฏิบัติการ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด และห้องปฏิบัติการ บริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัด ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย

จัดใหญ่บางกอกเจมส์

ในด้านการทำการตลาดปี 2566 จีไอที ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair (BGJF) ครั้งที่ 68th Bangkok Gems and Jewelry Fair (BGJF) ระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้การเกิดการสร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น และจะเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกตามยุทธศาสตร์ชาติได้สำเร็จ ปัจจุบันได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการทั่วโลกกว่า 2,000 คูหา

นอกจากนี้ จีไอที ยังได้ร่วมมือกับจังหวัดจันทบุรี สานต่อการจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023

โดยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งปีนี้มีกำหนดจัดวันที่ 7-11 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เคพี จิวเวลรี่เซ็นเตอร์ และตลาดพลอย ถ.ศรีจันทร์ จังหวัดจันทบุรีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้ออัญมณี และยังเป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรีและผู้ประกอบการจากจังหวัดอื่น ๆ

รวมทั้งกรุงเทพฯ ตัวจริงกว่า 300 บูท ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค และจะทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับปี 2566 นี้มีความคึกคัก สามารถสร้างรายได้และต่อยอดการส่งออกในปีนี้