GGC กำไร ไตรมาสแรก ปี’66 พุ่ง 131% ลุ้นธุรกิจเมทิลเอสเทอร์ฟื้น

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข
นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)

GGC ประเมินธุรกิจเมทิลเอสเทอร์ครึ่งปีแรกฟื้นตัว พร้อมแจ้งงบฯไตรมาส 1/2566 เร่งเดินหน้า กลยุทธ์ “The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business” เสริมแกร่งธุรกิจเดิม สร้างโอกาสธุรกิจใหม่สู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขาย รวมทั้งหมด 4,662 ล้านบาท มี Adjusted EBITDA อยู่ที่ 281 ล้านบาท (ซึ่งหักผลกระทบ Stock Loss แล้ว) และมีกำไรสุทธิ 40 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิลดลงจากปีก่อน 92% แต่ปรับตัวดีขึ้น 131% จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีผลกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2565 เป็นลบ

สาเหตุที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 131% เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ให้มีการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลเป็น B7 ที่ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 หลังจากราคาน้ำมันปาล์มดิบเริ่มปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับภาวะปกติ ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ทำให้ความต้องการโดยรวมของเมทิลเอสเทอร์ในช่วงครึ่งแรกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน

ส่งผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจหลัก (Core Business) แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีหลังยังต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวโน้มสถานการณ์ตลาดและธุรกิจในครึ่งแรกของปี 2566 ว่า ความต้องการเมทิลเอสเทอร์ ช่วงครึ่งแรกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน จากนโยบายภาครัฐที่ให้มีการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลเป็น B7 ที่ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566

หลังจากราคาน้ำมันปาล์มดิบเริ่มปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับภาวะปกติ ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ทำให้ความต้องการโดยรวมของเมทิลเอสเทอร์เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่แฟตตี้แอลกอฮอล์ มีแนวโน้มทรงตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย จากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ในขณะที่ด้านอุปทานโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายในต่างประเทศกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ หลังจากมีการหยุดซ่อมบำรุงไป

รวมถึงการยกเลิกนโยบาย Domestic Market Obligation (DMO) ของประเทศอินโดนีเซียที่ทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกแฟตตี้แอลกอฮอล์ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น

ส่วนกลีเซอรีนคาดว่าแนวโน้มในครึ่งแรกของปี 2566 จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการใช้กลีเซอรีนในกลุ่มอุตสาหกรรม Epichlorohydrin ในประเทศจีน

ซึ่งเป็นตลาดหลักยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนไหวมีผลต่อกำลังซื้อ ด้านอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราการผสมไบโอดีเซลมากขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้อุปทานโดยรวมของผลิตภัณฑ์พลอยได้อย่างกลีเซอรีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปด้วย

และเอทานอลมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากมาตรการของรัฐที่ลดการสนับสนุนราคาแก๊สโซฮอล์ E85 ลง เพื่อช่วยพยุงฐานะของกองทุนน้ำมันฯ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเกรดดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ราคาเอทานอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตเอทานอล มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาตลาดเอทานอลเฉลี่ยโดยรวมในตลาดปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีหลัง มองว่า ธุรกิจหลัก (Core Business) ซึ่งเป็นธุรกิจเมทิลเอสเทอร์หรือไบโอดีเซลยังมีการเติบโตแข็งแกร่งเมื่อเทียบจากครึ่งปีแรก เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐให้มีการเพิ่มสัดส่วน B7 ต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังติดตามผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับในกลุ่มธุรกิจแฟตตี้แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก หากภาพรวมการส่งออกได้รับผลกระทบกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทพยายามที่จะปรับการดำเนินงานให้ยังคงระดับของอัตรากำไรให้ยังคงดี เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน มุ่งเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบันตามแผนการเติบโตของธุรกิจที่จะมีความก้าวหน้าในช่วงครึ่งปีหลังอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผันผวน GGC ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้กลยุทธ์ “The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business” ในการสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบัน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมี เพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่โดดเด่นและเป็นองค์กรต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี