ยุทธศาสตร์ใหม่ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ยุทธศาสตร์ใหม่
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวทางการเมืองหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จนี้ หลายภาคส่วนถกกันถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงขอเชิญทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับประเด็นยุทธศาสตร์ใหม่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับเกียรติให้บรรยายในหลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข

ก่อนอื่นขอสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ตามแรงส่งสำคัญจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน สำหรับการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้

โดยคาดว่าในปีหน้าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ 87.8 ของก่อนการเกิดโควิด-19 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง

ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังกลับเข้าสู่สถานะปกติในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 กล่าวคือเราเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งด้านสินค้าและบริการเป็นหลัก โดยผลจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงโควิด-19 ทั้งผลบวกในช่วงต้นของการฟื้นตัวที่ทำให้การส่งออกสินค้าขยายตัวได้มาก และผลลบจากการติดขัดในห่วงโซ่อุปทาน

ตลอดจน อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงก่อนหน้ากำลังหมดลง แต่ยังมีร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 
ไม่ว่าจะเป็นด้านลบอย่างภาระหนี้ครัวเรือนและธุรกิจในระดับสูง หรือด้านบวกอย่างการปรับตัวใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในวงกว้าง

ในการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น คงต้องย้อนมาทบทวนยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน ซึ่งไทยมียุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560-2580 เป็นแผนหลัก และได้มีกลไกการทำงานสอดประสานกับแผนอื่น อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2670 และแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน แผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นมุ่งให้ไทยเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2580

โดยมีสัดส่วน GDP จากภาคการท่องเที่ยวร้อยละ 30 มีส่วนแบ่งของผู้ประกอบการ SMEs ใน GDP ร้อยละ 50 และวัดคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกช่วงวัยผ่านดัชนีการพัฒนามนุษย์ เพื่อเมื่อเราผนวกผลการเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ขึ้น จะพบว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลได้เพิ่มสูงขึ้นมากในวงกว้าง ผ่านทั้งการสนับสนุนของภาครัฐ

ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ การกำหนดทิศทางของแนวทางการกำกับดูแลอย่างชัดเจน และการส่งเสริมให้เกิดการได้รับเงินช่วยเหลือผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ แต่ปัญหาความไม่ทั่วถึงของการให้บริการก็ยังปรากฏ

โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง อาทิ การที่มีเด็ก ๆ ในกลุ่มยากลำบากที่สุดอีกกว่าร้อยละ 43 ที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ในทางสังคมมีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มสูงขึ้นอีกกว่าร้อยละ 30 
จากประมาณ 1 ล้านคนในช่วงต้นปีการศึกษา พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ การใช้งานอย่างแพร่หลายของการเงินดิจิทัลในวงกว้างมีส่วนให้มิจฉาชีพใช้เป็นโอกาสในการหลอกลวงจนเกิดอาชญากรรมออนไลน์ ทำให้ผู้ใช้และผู้ให้บริการต้องปรับตัวยกเครื่องเพื่อรับมือกันอีกมาก

การเดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่จึงไม่เพียงต้องรับเอาสถานการณ์และแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นมาใช้เป็นตัวแปรในการพิจารณา แต่ควรคิดไปถึงรูปแบบการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ด้วย ซึ่งอาจารย์ Kim และ Mauborgne ได้เสนอแนวทางที่เรียกว่า nondisruptive creation หรือการสร้างโดยไม่ทำลาย

ซึ่งหากมองทิศทางยุทธศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมาของทั้งไทยและโลก ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบของ creative destruction ที่เน้นให้เกิดการทำลายอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการถ่ายโอนทรัพยากรไปยังธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แต่แนวทางดังกล่าวจะก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ เพิ่มเติมไปจากต้นทุนทางสังคมอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทางอ้อม แต่หากเรากำหนดยุทธศาสตร์ด้วยการสร้างโดยไม่ทำลายแล้ว จะไม่ก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมแก่ผู้ได้รับผลกระทบทางตรง

หัวใจของการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ อยู่บนพื้นฐานของพัฒนาการในช่วงที่ผ่านมา คือการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาการด้านดิจิทัลและข้อมูลที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพในระดับบุคคล เป็นการตีลังกามุมมองจากการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในแบบบนลงล่าง มาเป็นการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในระดับย่อยที่สุด คือในระดับบุคคล

ซึ่งแนวทางดังกล่าว สอดรับกับหลักคิด nondisruptive creation ได้เป็นอย่างดี เพราะมีแต่จะเสริมให้แต่ละบุคคลมีความสามารถสูงขึ้น เข้าถึงทรัพยากรได้ตรงจุด และทราบขีดความสามารถของตนเอง ตลอดจนกำหนดแผนในการพัฒนาตนเองไปได้ โดยปรับบทบาทของภาครัฐเป็นการเอื้ออำนวยเป็นหลัก

โดยสรุปแล้ว การต่อยอดกลไกยุทธศาสตร์ชาติเดิมที่วางการทำงานอย่างเป็นระบบ ระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้ประโยชน์การพัฒนาการด้านเทคโนโลยีด้านดิจิทัลและข้อมูลอย่างเต็มที่

โดยกำหนดแผนงานและเป้าหมายชี้วัดในระดับบุคคล ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้รับประโยชน์เต็มที่และปิดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ภาครัฐจะสามารถทุ่มเททรัพยากรไปบริหารจัดการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือสินค้าสาธารณะได้อย่างเต็มที่

ซึ่งจะก่อให้เกิดจุดสมดุลของการทำงานระหว่างกลไกตลาดและการดำเนินนโยบายอย่างลงตัว โดยไม่เป็นการลดบทบาทการทำงานของภาครัฐลง ไม่ต้องไปทดแทนธุรกิจหรือผู้เล่นเดิม ๆ ในตลาดที่ยังปรากฏอยู่ จึงนับเป็นการสร้างโดยไม่ทำลาย ได้ตามหลักคิด nondisruptive creation