สภาพัฒน์ชูท่องเที่ยวสายมู โอกาสเศรษฐกิจ-ทริปแสวงบุญสะพัดหมื่นล้าน

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

สภาพัฒน์ชี้การท่องเที่ยวแบบมูเตลูเป็นอีก soft power ของไทย-โอกาสทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรม เผยแค่ทริปแสวงบุญเงินสะพัดกว่า 1 หมื่นล้าน ชง 3 แนวทางวางกรอบส่งเสริมอย่างจริงจัง

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวแบบมูเตลู เป็น Soft Power ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งมีกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจการท่องเที่ยวในลักษณะนี้

เที่ยวแบบมูเตลูคืออะไร ?

การท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ หรือมูเตลู คือ การท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ, ศรัทธาของกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวเพื่อขอพร, บนบาน, เที่ยวชมสถานที่สำคัญทางศาสนา, วัฒนธรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงการบูชาเครื่องรางของขลัง ซึ่งมีการท่องเที่ยวแบบนี้ มีทั้งในไทยและต่างประเทศทั่วโลก

นายดนุชากล่าวว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวแบบมูเตลูที่หลากหลาย ทั้งเป็นสถานที่ และไม่ใช่สถานที่ ซึ่งสะท้อนถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมทางศาสนา และความเชื่อ รวมทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทย

ทริปแสวงบุญเงินสะพัด 10,800 ล้าน

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าเฉพาะการแสวงบุญสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบมากถึง 10,800 ล้านบาท คิดเป็น 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศในปี 2562

ขณะที่รายงานจาก Future Markets Insight 2023 แสดงมูลค่าทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวเชิงศรัทราของทุกประเทศทั่วโลก โดยในปี 2565 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์จะเพิ่มขึ้นถึง 4.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2576 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัวภายในระยะเวลา 10 ปี

วาง 3 แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ “มูเตลู”

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวสายความเชื่อ ควรต้องกำหนดแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบมูเตลูที่ชัดเจน 3 ประการ ได้แก่

1.กำหนดนโยบาย/แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจนของภาครัฐ โดยต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในระดับประเทศและพื้นที่ ยกตัวอย่าง ฮ่องกงที่มีนโยบายส่งเสริม “วิถีการท่องเที่ยวแบบศาสนา” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก

2.พัฒนากลยุทธ์การตลาดมูเตลู การสร้าง branding ทั้งสถานที่ บุคคล และกิจกรรมสายมู โดยจำเป็นต้องสร้าง Branding ผ่านเรื่องราว (Story) ที่มีความเป็นมา และคุณค่าของวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับ รวมไปถึงการสอดแทรกวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับมูเตลูในสื่อต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ให้คนต่างชาติสนใจ

ยกตัวอย่าง เมืองเทสซาโลนีดิ ประเทศกรีซ ที่มีการจัดทำแผนที่การท่องเที่ยวสายมู เชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่น มีการโฆษณาภาพลักษณ์ผ่านสโลแกน มีการสร้างเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของสถานที่ และออกแบบของที่ระลึก

3.บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีเอกภาพมากขึ้น โดยการส่งเสริมบทบาทองค์กรส่วนท้องถิ่นให้ดึงภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาพัฒนาและปรับปรุง โครงสร้างพื้นฐาน และอำนวยความสะดวกในพื้นที่

“อย่างไรก็ดี ต้องระมัดระวังในมุมมองของความเชื่อ และศาสนา ต้องดูให้รอบคอบและสมดุล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือการบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด จากความศรัทธาเป็นความลุ่มหลง รวมถึงป้องกันการหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ” เลขาธิการ สศช.กล่าว