สภาพัฒน์คงจีดีพีปีนี้ 2.7-3.7% ไตรมาสแรกโต 2.7% ดีกว่าคาด

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ประกาศคงจีดีพีปี 2566 อยู่ที่ 2.7-3.7% หลังไตรมาสที่ 1/66 โตต่อเนื่องที่ระดับ 2.7% เผยอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้น-การบริโภคในประเทศโต 3.7% หนุนการใช้จ่าย-ลงทุนเอกชนขยายตัว จับตาเศรษฐกิจโลกชะลอ-ปัญหาหนี้-ดอกเบี้ยขึ้นเพื่อกดเงินเฟ้อ สร้างความผันผวนตลาดโลก

วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2566 ขยายตัว 2.7% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2565 ที่ขยายตัว 1.4% ซึ่งไม่ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และแนวโน้มในอนาคตเศรษฐกิจไทยยังไปได้ดี

ทั้งนี้ หากดูเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2566 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องได้หลายตัว โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.4% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า

และการลงทุนรวมขยายตัว 3.1% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 3.9% ตามการชะลอตัวลงของการลงทุนภาคเอกชน 2.6% จาก 4.5% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.7% เร่งขึ้นจาก 1.5% ขณะที่การบริโภคภาครัฐหดตัว -6.2% ส่วนหนึ่งมาจากการโอนเงินเพื่อสวัสดิการที่ไม่เป็นตัวเงินในช่วงโควิด-19

ขณะที่ปริมาณการส่งออกหดตัว -6.4% ปรับดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2565 ที่หดตัว -10.3% ซึ่งการส่งออกที่ขยายตัวได้ใน 3 ตลาด ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย และสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี กลุ่มสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ เคมี ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องเร่งผลักดันปรับโครงสร้าง และหากดูอัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ 63.66% สูงกว่าไตรมาสก่อนที่อยู่ 60.32% แต่ถ้าเทียบไตรมาสที่ 1/2565 ปรับลดลงที่อยู่ 66.77%

“การส่งออก หากดูจะพบว่าหดตัวจากประเทศต้นทาง โดยไตรมาสแรกประเทศ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลดลงเมื่อเทียบไตรมาสที่ 4/65 เช่น เวียดนาม -7.1% และดูกำลังซื้อปรับลดลงต่ำกว่า 50% จากสหรัฐและยูโรโซน ดังนั้น เศรษฐกิจไทยมีแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่พยุงสถานการณ์ไว้ได้”

Advertisment

นายดนุชากล่าวว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1/2566 สภาพัฒน์ได้ปรับกรอบประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจเล็กน้อย แต่ยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2566 อยู่ที่ 2.7-3.7% โดยปรับเพิ่มประมาณการบริโภคเอกชนอยู่ที่ 3.7% จาก 3.2% และการบริโภคภาครัฐหดตัวเพิ่มขึ้นจาก -1.5% มาอยู่ที่ -2.6%

เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน เหลือ 1.9% จาก 2.1% โดยยังคงตัวเลขการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ -1.6% กรอบอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 1.4% ของจีดีพี ปรับลดลงจาก 1.5% ของจีดีพีในรอบประมาณการครั้งก่อน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

Advertisment

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวในปี 2566 มาจากการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวที่คาดการณ์จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 28 ล้านคน อย่างไรก็ดี หากดูจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากที่มีการเปิดประเทศ พบว่านักท่องเที่ยวยังคงมาต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเข้ามาเพียง 5 แสนคน ซึ่งต้องรอดูแนวโน้มระยะถัดไปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามเที่ยวบิน และหากเทียบกับปี 2562 การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนยังไม่ดีนัก อยู่ที่ 16.6 ล้านคน จึงต้องเร่งดำเนินการในการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว

นอกจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว 3.7% สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ฐานรายได้และการใช้จ่ายเข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งสะท้อนจากการเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น และตัวเลขการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการลงทุนภาครัฐที่มีการเร่งเบิกจ่ายได้ดี อย่างไรก็ดี ตัวเลขงบประมาณปี 2567 ที่จะล่าช้าออกไป ทำให้เม็ดเงินใหม่ที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/2566 คงไม่มี จึงต้องรอดูงบประมาณรัฐวิสาหกิจจะเข้ามาเสริมตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา จะเป็นเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ตัวเลขปรับดีขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และการปรับดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางหลักของโลก เพื่อกดอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงดำเนินอยู่ ปัญหาหนี้ของสหรัฐ และปัญหาแบงก์ล้ม ซึ่งจะก่อให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินโลก

ซึ่งไทยจะต้องติดตามเพื่อรับมือลดแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นหากสถานการณ์รุนแรงกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 14-15 ล้านล้านบาท แม้ว่าสัดส่วนจะปรับลดลงตามการขยายตัวของจีดีพี