สภาพัฒน์ ชี้คนไทยกู้ “บ้าน-สินเชื่อบุคคล” พุ่ง ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง

สภาพัฒน์ ชี้คนไทยกู้บ้าน-สินเชื่อบุคคล พุ่ง

สภาพัฒน์เผยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนล่าสุด Q4/2565 ลดลง แต่มูลหนี้ขยับขึ้น ห่วงคนไทยก่อหนี้เพิ่มต่อเนื่อง “หนี้บ้าน-สินเชื่อส่วนบุคคล” พุ่ง ขณะที่ “หนี้รถ” ต้องจับตาเป็นพิเศษเสี่ยงเป็นหนี้เสีย

วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์หนี้สินครัวเรือน ล่าสุดในไตรมาส 4 ปี 2565 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 86.9% จากไตรมาสก่อนหน้านี้อยู่ที่ 87%

“แต่มูลหนี้จะเห็นว่ามีการปรับขึ้น 3.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งขณะนี้มูลหนี้อยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท โดยถ้าดูไตรมาสต่อไตรมาส จะเห็นว่าปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 1.1% จากไตรมาส 3/2565 ที่ขยายตัว 0.9% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่มีการปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4 ปี 2565 ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับยังขยายตัวค่อนข้างสูงที่ 20.8% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2565 หมายถึงพวกบัตรเงินสด ที่มีการใช้กันในห้างสรรพสินค้า คงต้องมาดูแลกันให้รอบคอบอีกที เพื่อพยายามลดหนี้ครัวเรือนลง”

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังอยู่ระดับที่ทรงตัว โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.62% หรือไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะเอ็นพีแอลที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลง จะมีในส่วนของรถยนต์ที่เอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง และเมื่อเข้าไปดูสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) สินเชื่อรถยนต์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 แล้ว

“หนี้สินครัวเรือนที่ขึ้นมาเป็นระดับสูงอย่างนี้ ก็เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตของประเทศด้วย ฉะนั้นหลาย ๆ ฝ่ายจะต้องช่วยกัน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ได้อยู่ในกำกับ หรือผู้ให้บริการทางด้านการเงิน รวมถึงภาครัฐเองก็ต้องแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนด้วย ทั้งในด้านความสามารถในการชำระหนี้, การใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เพื่อเป็นการไม่สร้างหนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้เดิมของตัวเอง”