แรงงานต่างด้าว รอขึ้นทะเบียน 4 แสนคน ทำงานในไทยต่อได้ถึง ก.ค. 66

แรงงาน กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน
Photo by Rahul Kashyap on Unsplash

หอการค้าไทย เผย ครม. เห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว 3-4 แสนอยู่ทำงานนไทยต่อได้ถึง ก.ค. 2566 กรณีจัดทำหนังสือเดินทางไม่ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นี้ แนะผู้ประกอบการนำแรงงานขึ้นทะเบียนต่อไป

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน ในการเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว MOU ที่ไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ทัน ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 3-4 แสนคน ที่จะประสบปัญหามีสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย นั้น

ส่งผลให้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 2 กลุ่ม คือ แรงงาน ต่างด้าว MOU 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) และแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้สามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึงเดือนกรกฎาคม 2566

ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ตรงเป้าหมาย ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นหรืองาน 3D และลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างผู้ประกอบการและลูกจ้างในสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจได้

พร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบกิจการทั่วประเทศ โปรดเตรียมนำแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี มาขึ้นทะเบียนตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของ คนต่างด้าว หากท่านมีข้อสงสัยกรุณาติดต่อ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร. สายด่วน : 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน โทร. 1694

นายพจน์กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากนโยบายการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยกำลังแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตและเป็นทุนมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกระดับ

แต่ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเชิงโครงสร้างและขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยว และบริการ ภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและผู้ประกอบการ SMEs ยังประสบปัญหาและมีความต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นมาตรการที่ออกมาจึงเป็นส่วนช่วยให้ประเทศยังมีแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ