
เอสเอ็มอี 3 ล้านรายรอความหวัง โหวตตั้งรัฐบาลช้ากระทบ 5 มิติ ห่วงเสถียรภาพ-ความขัดแย้งการเมืองบานปลายมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (ฐานราก) สะดุด
วันที่ 4 สิงหาคม 2566 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เรื่องที่เลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีจาก 4 ไปเป็น 16 สิงหาคม 2566 SMEs มีความกังวลทางการเมือง 3 เรื่อง คือ 1.เสถียรภาพการเมือง ขาดความต่อเนื่องในการบริหารประเทศที่อยู่ในสภาวะชะลอหยุดชะงัก เกิดสุญญากาศทางการเมือง 2.ความขัดแย้งทางการเมือง การข้ามขั้ว สลับขั้ว ความแตกต่างทางความคิดต้องไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ขยายไปสู่ความรุนแรงในการเรียกร้องนอกสภาที่จะสร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจ สังคมและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลก ซึ่งต้องเกิดความสร้างสรรค์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สงบ สันติ มีเหตุผล
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- หุ้นกู้ออกใหม่เดือน ธ.ค. บริษัทแห่ระดมทุน จูงใจจ่ายดอกเบี้ยสูง 7%

และ 3.นโยบายการออกแบบมาตรการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (ฐานราก) แรงงาน และสังคม ต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสเศรษฐกิจ เทคโนโลยีของโลก ตอบโจทย์สภาพปัญหาอย่างแท้จริง รวมทั้งผู้นำรัฐบาล และ ครม.ใหม่ต้องมีวิสัยทัศน์ มีความทันสมัย โปร่งใสมีธรรมาภิบาล สร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน และทำงานจริงจัง มุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง
ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยทรุด SMEs หนี้พุ่ง
ทั้งนี้ หากการโหวตนายกรัฐมนตรีและการตั้งรัฐบาลล่าช้า จะสร้างผลกระทบให้กับประเทศไทย 5 มิติ คือ 1.ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ ด้านการค้า การลงทุน ทั้งในและต่างประเทศที่ขาดความมั่นใจในการลงทุน
2.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวลง จากความไม่มั่นใจในสถานการณ์แปรปรวนทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 3.การพิจารณางบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567 ที่จะล่าช้าออกไป และส่งผลกระทบกับโครงการพัฒนาใหม่ ๆ การลงทุนภาครัฐใหม่ ๆ และการบริโภคของภาครัฐที่จะหยุดชะงักชะลอออกไป
4.GDP และ GDP SMEs ปี 2566 ที่คาดการณ์จากสภาพัฒน์ 3.6% และสัดส่วน GD-SMEs ร้อยละ 35 ของ GDP ประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตที่ลดลงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศสร้างรายได้โดยรวมกว่าร้อยละ 50 ของ GDP ก็จะส่งผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอยและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซึมลึกจากการชะลอตัวของภาคการค้า 3 เดือนที่ผ่านมา
และ 5.ภาพลักษณ์การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในสายตานานาประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยของไทยที่มีความสร้างสรรค์
ทั้งนี้ ยังมีสถานการณ์วิกฤตหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงกว่า 90% ของ GDP ที่ต้องพัฒนายกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือนให้ดีขึ้น ขณะที่หนี้เสียที่ยังเป็นปัญหาโดยเฉพาะรหัส 21 ที่เป็นหนี้ชั้นดีมาโดยตลอด และเพิ่งมาเป็นหนี้เสียในช่วง COVID-19 ถึง 3.1 ล้านราย ต้องฟื้นฟูพัฒนาอย่างเป็นระบบ และหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาเรื้อรังและยังต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
โอกาสพรรคทางเลือกที่ 3
ต่อประเด็นถ้าหากพรรคอันดับ 2 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ อาจจะต้องรอพรรคอันดับ 3 นายแสงชัยมองว่า ต้องประเมินเสถียรภาพการเมืองว่าสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เพราะแต่ละพรรคต้องการเข้าบริหารประเทศที่คำนึงถึงเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏร และถ้าไม่มีองค์ประกอบจากเพื่อไทยและก้าวไกล แล้วพรรคอันดับ 3 จะมีแนวทางในการตั้งรัฐบาลอย่างไร