“สุพัฒนพงษ์” ฝากงาน ยืดเวลาให้ผู้ซื้อรถอีวี ราคาเดิมถึงสิ้นปี เร่งเครื่อง มาตรการอีวี 3.5

“สุพัฒนพงษ์” ฝากงานด่วน ยืดเวลาให้ผู้ซื้อรถอีวี ตามมาตรการ 3.0 ใช้ได้หลัง 30 ก.ย 66 ภายในสิ้นปีราคาเดิม หวังรัฐบาลเดินหน้าต่อมาตรการอีวี 3.5 กระตุ้นตลาดต่อ ด้าน ส.อ.ท.รอดูโฉมหน้าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ เร่งนโยบายแรกแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทฟื้นเชื่อมั่นและใช้จ่าย

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 3.0 ที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนรถยนต์ EV 70,000-150,000 บาทต่อคัน และลดภาษีนำเข้า และภาษีสรรพสามิตรต่าง ๆ ให้กับค่ายรถ EV ที่นำเข้ารถมาขายในประเทศไทย กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ค่ายรถยนต์ต้องปรับราคาขายรถให้สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อ EV ในช่วงรอยต่อของมาตรการสนับสนุน 3.5 ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์

ล่าสุดนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงาน SME GP Day ว่า ได้ขอให้กรมสรรพสามิต พิจารณาขยายกรอบการจดทะเบียนรถอีวีที่จะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2566 เพื่อให้ได้รับส่วนลด 1.5 แสนบาทต่อคันตามมาตรการ 3.0 ในช่วงรอยต่อระหว่างรอมาตรการอีวี 3.5

เพราะอาจจะทำให้ระดับราคารถเปลี่ยนแปลงไปในช่วงรอยต่อ ซึ่งในทางปฏิบัติหากมีเอกสารหลักฐานว่าได้ยื่นซื้อรถ EV แล้วก็ควรจะได้รับสิทธิประโยชน์การสนับสนุนจากมาตรการในราคาเดิมไปถึงสิ้นปี แม้ว่าจะนำเข้ามาจดทะเบียนไม่ทัน

 

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกัน ขอให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า EV3.5 ที่คณะรัฐมนตรีได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบในหลักการไปแล้ว ซึ่งกำหนดรายละเอียดของมาตรการ ทั้งการให้ส่วนลดราคารถยนต์อีวีนำเข้า การกำหนดให้ค่ายรถตั้งโรงงานผลิตอีวี รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวี

ซึ่งการให้ส่วนลดภาษีตามมาตรการ 3.5 ลดน้อยลงกว่ามาตรการเดิม เพราะขณะนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปมาก ทำให้ราคาและต้นทุนการผลิตก็ลดลง ประกอบกับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายอดขายรถอีวีเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐบาลใหม่อาจจะปรับเปลี่ยนในรายละเอียดของมาตรการส่งเสริม 3.5 ได้

ADVERTISMENT

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์

ส่วนนโยบายการลดค่าไฟฟ้า ในฐานะที่ตนทำงานรัฐมนตรีพลังงาน มองว่าสามารถทำได้ แต่จะทำได้อย่างไรขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ และนโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติวางแผนไว้อย่างไร

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า ภาคเอกชนดีใจที่ได้นายกรัฐมนตรี อยู่ในไทม์ไลน์ที่เอกชนวางเอาไว้ ซึ่งหลังจากนี้คงติดตามโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยเฉพาะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และการวางตัวรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจหลัก ๆ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและยกระดับประเทศ

“เชื่อว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะคัดคนเก่งและดีเป็นที่ยอมรับเข้ามานั่งบริหารนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของทุกฝ่าย นักลงทุนไทยและต่างชาติ ซึ่งหากสามารถฟื้นความเชื่อมั่นได้ ก็จะยิ่งยกระดับเศรษฐกิจได้ดี”

โดยนโยบายเร่งด่วนที่อยากให้เร่งทำคือ การแก้ปัญหาปากท้อง เพราะเศรษฐกิจโลกตกต่ำและมีความผันผวน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ดังนั้น การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ได้ภายใน 6  เดือนจะมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่ายและฟื้นกำลังซื้อ และเชื่อว่าเป็นนโยบายที่ทำได้ ผ่านการใช้ blockchain ที่ทำให้การแจกเงินตรงกลุ่มเป้าหมายและตรวจสอบได้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์

รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 96 ไม่นับรวมหนี้นอกระบบที่สูงร้อยละ 19.6 เมื่อรวมหนี้ทั้ง 2 ก้อนถือเป็นอัตราที่สูงมากที่กดการฟื้นของเศรษฐกิจไทย

พร้อมกันนี้ ยังขอให้รัฐบาลชุดใหม่หามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งด้านการเงินจากการขึ้นดอกเบี้ย และไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ รวมถึงดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ลดลงด้วย

ด้านนายวีระพงษ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า จะพบว่าภาพรวมการฟื้นตัวของ SMEs มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่า GDP SMEs จะเติบโตราวร้อยละ 2-3 โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่ช่วยสนับสนุน SMEs และเป็นช่องทางการตลาดขนาดใหญ่ให้ SMEs

โดยปีงบประมาณ 2565 สามารถสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างได้ 481,831 ล้านบาท จากเงินจัดซื้อจัดจ้าง 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.26 และตั้งเป้าปี 2566 และ 2567 จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 50 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเอสเอ็มอี