เช่าซื้อหืดจับยอดขายรถไม่โต ปฏิเสธกู้พุ่ง-ลุ้นอีวีปลุกตลาด

leasing

ธุรกิจเช่าซื้อหืดจับ ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า-แบงก์เข้มสินเชื่อ กดยอดขายรถทั้งปีโตแค่ 0.7% ประมาณ 8.55 แสนคัน ประธานเช่าซื้อเผยสัญญาณแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มเป็น 20% หวังคุมหนี้เสีย “ลีสซิ่งกสิกรไทย” มองตลาดมีโอกาสโต 2% อานิสงส์เปิดรถรุ่นใหม่-ค่ายอีวีจ่อทำตลาดเพิ่ม 2-3 ราย

ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถช่วงที่เหลือของปีนี้ ประเมินอัตราการเติบโตน่าจะทรงตัวหรือขยายตัวไม่มาก สอดคล้องกับเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่น่าจะยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 จะอยู่ที่ 855,000 คัน เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้จากแนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพราะตลาดยังคงมีปัจจัยเสี่ยงทำให้เห็นสัญญาณอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (reject) มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยจากเดิมอยู่ที่ 13-18% เพิ่มเป็น 15-20% ซึ่งความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินสอดคล้องกับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) คือพบลูกหนี้มีการค้างชำระทยอยปรับเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี จากความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทำให้สถาบันการเงินจะเน้นกลุ่มลูกค้าเก่าประวัติการชำระหนี้ที่ดี และโฟกัสกลุ่มลูกค้าในบริษัทที่มีความมั่นคง หรือการเจาะกลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพ เช่น หมอ หรืออาชีพที่อยู่ในเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวที่มีการเติบโตสูง รวมถึงการทำตลาดเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ เป็นต้น โดยจะมีการกระตุ้นยอดขายผ่านแคมเปญระยะสั้น เช่น การลดดอกเบี้ย หรือลดดาวน์ เพื่อจูงใจในกลุ่มที่มีศักยภาพ

ยอดขายรถชะลอตัว

“จากเดิมเราคิดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น แต่ผ่านมาในช่วงเดือน 7-8 สถานการณ์ยังไม่ดีมาก สินเชื่อชะลอตัวตามยอดขายรถยนต์ที่ชะลอ ตัวเลขหนี้ NPL และ SM ยังสูง ซึ่งไฟแนนซ์ต่าง ๆ พยายามบริหารความเสี่ยง ทำให้เราเห็นยอดรีเจ็กต์ทยอยเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาพการแข่งขันเรื่องแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดขายยังคงเห็นอยู่ เพราะทุกคนยังต้องประคองธุรกิจ หลังยอดขายรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ราว 406,131 คัน หรือลดลง 5.0%” ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยกล่าว

ด้าน นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกจะเห็นว่ามีอัตราการเติบโตติดลบ -6% มียอดขายอยู่ที่ 462,000 คัน

อย่างไรก็ดี ตลาดมีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้ จากปัจจัยรถรุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาด และผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะเข้ามาทำตลาดเพิ่มอีก 2-3 ราย จะช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาบวกได้ 2% โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความแข็งแรง ซื้อรถคันที่ 2 หรือ 3

ทั้งนี้ หากดูปริมาณการปล่อยสินเชื่อของลีสซิ่งกสิกรไทย ในช่วง 6 เดือนแรกมีอัตราการเติบโตถึง 6% สวนทางกับภาพรวมตลาด และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ระดับต่ำอยู่ที่ 1.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาระบบเครดิตสกอริ่งที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้าได้แม่นยำ ส่งผลดีต่อคุณภาพหนี้ รวมถึงการเป็นพาร์ตเนอร์กับอีวี ทำให้เติบโตไปพร้อมกับตลาด

“แนวโน้มยอดการปฏิเสธสินเชื่อปรับเพิ่มขึ้นและลดลงตามความเข้มงวดในการคัดกรองลูกค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือน ความไม่แน่นอนต่าง ๆ”

ปัจจัยความไม่แน่นอนรุมเร้า

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทำให้ภาพรวมตลาดเช่าซื้อในช่วงที่เหลือของปี 2566 อาจจะไม่ได้ขยายตัวมากนัก

เพราะคนยังไม่มั่นใจในเรื่องของรายได้ และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้คนเลื่อนการตัดสินใจซื้อรถยนต์ออกไป ส่วนหนึ่งสะท้อนจากยอดรถกระบะที่ลดลงค่อนข้างมาก โดยมีการคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ปีนี้จะอยู่ที่ราว 8.4-8.6 แสนคัน

ทั้งนี้ ธนาคารได้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น ลูกค้ารายได้ไม่สูงมาก กลุ่มนี้อาจมีความจำเป็นต้องนำรายได้ไปใช้จ่ายในด้านอื่นก่อน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ดี ธนาคารยืนยันว่าไม่ได้ดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่อแบบ hard policy จนเกินไป ซึ่งจะพิจารณาตามความสามารถของลูกค้า และดูแลลูกค้าเก่าที่มีปัญหาอย่างใกล้ชิดผ่านมาตรการช่วยเหลือที่มีอยู่

สำหรับตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) คือกลุ่มที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน มีทิศทางเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13-14% ถือว่าใกล้เคียงกับตลาด โดยธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ตามอาการของลูกค้า ทำให้ตัวเลขหนี้เอ็นพีแอล ในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่กว่า 1% ถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าตลาด และอยู่ในวิสัยการบริหารจัดการได้ดี

ขณะที่สถานการณ์รถยึดเริ่มเห็นสัญญาณเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2566 มาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ 1.ลูกค้าออกจากโปรแกรมการช่วยเหลือและไปต่อไม่ไหว และ 2.ลูกค้าไม่ได้เป็นหนี้เสียแต่เอารถมาคืน เพราะเข้าใจผิดว่าคืนรถแล้วจบหนี้ โดยในส่วนของทีทีบีมียอดรถยึดเฉลี่ยเดือนละ 3,000 คัน กลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 จากช่วงโควิดยอดรถยึดอยู่ที่กว่า 2,000 คัน เนื่องจากมีมาตรการพักชำระหนี้

“ตอนนี้มีหลายปัจจัยความไม่แน่นอน เราก็ต้องมีความระมัดระวัง พร้อมกับช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ไปหลายหมื่นราย ส่วนสินเชื่อใหม่เราก็ดูตามความสามารถของลูกค้า หากรายได้ยังเปราะบาง เราอาจจะต้องดูเป็นพิเศษ”