เช่าซื้อ-สินเชื่อผิดนัดล้านบัญชี ธุรกิจทวงหนี้สะพรั่งยุค NPL พุ่ง

debt

ธุรกิจติดตามหนี้ตั้งรับหนี้เสียจ่อทยอยไหลเพิ่ม ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย ชี้ธุรกิจเช่าซื้อสัญญาณเพิ่มชัดเจน คาดมีหนี้รอตกชั้น 9 แสนบัญชี จ่อเพิ่มจำนวนพนักงานตามหนี้รับธุรกรรมพุ่ง “JMT” รับหนี้ค้างชำระเพิ่มสูง สินเชื่อ “เช่าซื้อ-บ้าน” ค้างชำระนานขึ้น “ชโย กรุ๊ป” จับตาหนี้เช่าซื้อ บ้าน SME พุ่งแรง “เชฎฐ์ เอเชีย” ชูระบบติดตาม โทร.อัตโนมัติช่วยลดต้นทุน

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด และนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมธุรกิจทวงถามหนี้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทั้งสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขผิดนัดชำระหนี้ของทั้งแบงก์และน็อนแบงก์ ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.3 ล้านบัญชี คาดว่าภายในไตรมาสที่ 4/2566 จะเห็นสินเชื่อเช่าซื้อเหล่านี้ตกชั้นเกิน 50% หรือราว 9 แสนบัญชี

สำหรับ ลีดเดอร์ กรุ๊ป เอง ในช่วง 6 เดือนมีปริมาณธุรกรรมการติดตามทวงถามหนี้เติบโตเพิ่มขึ้น 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การติดตามหนี้ในกลุ่มเช่าซื้อก็มีข้อจำกัดในเรื่องการรับงานต่อบุคลากร เช่น พนักงาน 1 คนสามารถรับงานได้เฉลี่ยไม่เกิน 200 บัญชี ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเน้นการพิจารณาดูกำลังคนให้มีความเหมาะสมกับปริมาณงาน

โดยปัจจุบันบริษัทรับงานค้างชำระตั้งแต่ 1 งวด แต่หากดูอายุหนี้เฉลี่ยรถยนต์ตั้งแต่ 1 ปี พนักงาน 1 คน สามารถรับงานได้เฉลี่ย 500-800 บัญชี หรือกลุ่มรถจักรยานยนต์อายุหนี้เกิน 1 ปี จะรับงานเฉลี่ยมากกว่า 1,000 บัญชี ส่วนสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิตอาจจะน้อยลง เนื่องจากสถาบันการเงินจะเน้นการตัดขายมากกว่าติดตามทวงถาม

“ตอนนี้เรามีพันธมิตรที่เป็นทั้งแบงก์ น็อนแบงก์ และ Captive กว่า 30 แห่ง โดยมีสัดส่วนพอร์ตเช่าซื้อ 38-40% เรารับทั้งหนี้ใหม่และหนี้เก่า โดยรายได้กรณีของหนี้ใหม่ติดตามสำเร็จจะอยู่ที่ 350 บาทต่อรายการ หรืองานเก่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 20% ของมูลหนี้ที่ตามเก็บได้

ปีนี้คาดว่ารายได้จากทวงถามจะเติบโต 5-7% จากเป้ารายได้ 1,000 ล้านบาท ยอดมูลหนี้คงค้างเช่าซื้อและสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 6.2 หมื่นล้านบาท จำนวนบัญชีราว 6 แสนบัญชี”

หนี้ค้างชำระ 90 วันสูงต่อเนื่อง

ขณะที่นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ภาพรวมสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ถือว่าค่อนข้างสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 เป็นสินเชื่อในทุกประเภท ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ที่อยู่อาศัย และเช่าซื้อ และทยอยไหลมาเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือ Stage 3 นับตั้งแต่ต้นปี 2566

ส่วนของปริมาณธุรกรรมรับจ้างติดตามทวงถามหนี้ของบริษัท ทั้งค้างชำระระยะสั้น 1 เดือน หรือยาวสุดเกิน 1 ปี รวมถึงทำตั้งแต่ Stage 1-3 ตามความต้องการของลูกค้าหรือสถาบันการเงิน มีตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นการทยอยไหลเข้าและออก ประกอบกับบริษัทจะเน้นการรับซื้อหนี้มาบริหาร รวมถึงสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะเน้นตัดขายหนี้ออก เพื่อช่วยบริหารจัดการพอร์ตหนี้เสีย

“ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตมูลหนี้คงค้างในส่วนของติดตามทวงถามราว 3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เกิน 50% เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยภายในสิ้นปี 2566 ยอดพอร์ตคงค้างน่าจะทรงตัว เพิ่มขึ้นไม่สูงมาก เนื่องจากมีการไหลเข้าและไหลออกของงาน อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงสัดส่วนการเติบโตรายได้ที่มาจากธุรกิจติดตามทวงถามอยู่ที่ 7% จากรายได้ทั้งหมด”

เช่นเดียวกับนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ที่กล่าวว่า แนวโน้มงานติดตามทวงถามหนี้มีมากขึ้น สอดคล้องกับภาพหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนราว 90% ของจีดีพี ซึ่งมีทั้งหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และหนี้ที่มีหลักประกัน โดยเฉพาะหนี้เช่าซื้อ บ้าน และธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เห็นสัญญาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และหลายฝ่ายให้ความกังวล

เพราะหากดูตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ระดับ 2.9% เทียบกับสินเชื่อทั้งระบบ 18 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีหนี้เสียไหลออกมาขายราว 6 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้เช่าซื้อ

ชี้สัญญาณทวงถาม-ตามหนี้เพิ่ม

สำหรับบริษัทเองมีพอร์ตรับจ้างทวงถามหนี้อยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1 แสนบัญชี เป็นสินเชื่อเช่าซื้อราว 2,000 ล้านบาท และบัตรเครดิต-ส่วนบุคคล 8,000 ล้านบาท โดยบริษัทเห็นสัญญาณงานทวงถามเช่าซื้อเพิ่มจาก 10% มาเป็น 30% จากช่วงต้นปี 2566 อย่างไรก็ดี งานติดตามทวงถามมีต้นทุนค่อนข้างสูง บริษัทจึงต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้มีความเหมาะสมกับปริมาณงานด้วย โดยยังตั้งเป้ารายได้ส่วนนี้ราว 7-10%

นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE เปิดเผยว่า ธุรกิจติดตามหนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มียอดมูลหนี้ที่ให้บริการติดตามทวงถามอยู่ราว 1.4 หมื่นล้านบาท แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามหนี้ลูกหนี้ได้ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายของผู้ว่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีความโดดเด่นในเรื่องค่าคอมมิชชั่นที่สูงอยู่ในอัตรา 24% จากการรับมอบหมายงานในการติดตามหนี้ที่มีความซับซ้อนและเป็นมูลหนี้ที่ค้างชำระนาน จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง รวมถึงบางครั้งอาจต้องใช้การบังคับใช้ทางกฎหมาย จึงทำให้บริษัทมีอัตราค่าคอมมิชชั่นค่อนข้างสูงกว่าอุตสาหกรรม

“ธุรกิจ Collection ยังมีโอกาสเติบโต เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาระบบการติดตามหนี้ใหม่ที่เรียกว่า “Auto Dialer” เป็นระบบการ โทร.อัตโนมัติที่ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองใช้งาน และจะเห็นผลในการเพิ่มประสิทธิภาพติดตามหนี้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในครึ่งปีหลังได้อย่างชัดเจน”