ผวาหนี้เสียเช่าซื้อรถพุ่งแรง ค้างจ่ายเสี่ยงถูกยึด 5 แสนคัน

ผวาหนี้เสียเช่าซื้อรถพุ่ง

สัญญาณอันตรายหนี้เสียทะลุ 1 ล้านล้าน เครดิตบูโรห่วงสินเชื่อรถยนต์หนี้เสียพุ่ง จับตา 5.4 แสนสัญญาค้างค่างวดเสี่ยงถูกยึดรถ ผู้ประกอบการลานประมูลชี้เทรนด์รถยึดเพิ่มขึ้นทุกเดือน เหตุเศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่วถึง-บางเซ็กเตอร์รายได้ยังไม่กลับมา แค่ประคองจ่ายค่างวด แบงก์เพิ่มเข้มงวดปล่อยกู้สกัดหนี้เสีย ฉุดตลาดรถชะลอตัว 7 เดือนแค่ 4.64 แสนคัน ผู้ว่าการ ธปท. ลั่นถึงเวลาแก้หนี้ครัวเรือน

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับนิยามหนี้ครัวเรือนไทย เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันมาอยู่ที่ 17.62 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 90.6% ของจีดีพี ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีข้อมูลบนระบบเครดิตบูโรราว 13.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมประมาณ 84% ของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ ไตรมาส 2/2566 พบว่าตัวเลขกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 1.03 ล้านล้านบาท จากไตรมาส 1/2566 ที่อยู่ 9.5 แสนล้านบาท

“ถ้าตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลเมื่อไรที่เริ่มแตะ 1 ล้านล้านบาท แม้ว่าระหว่างทางจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ และตัดขายหนี้ก็ตาม เริ่มเป็นระดับที่ไม่สบายใจ จากก่อนหน้าตัวเลขเอ็นพีแอลเคยขึ้นไปอยู่สูงสุดในไตรมาส 2/2565 ที่อยู่ 1.11 ล้านล้านบาทมาแล้ว และทยอยปรับลดลง ก่อนมาเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้”

ห่วงหนี้เสียรถยนต์พุ่ง

อย่างไรก็ดี หนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2565 ที่อยู่ราว 1.7 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาทในไตรมาส 2/2566 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 18% เช่นเดียวกับตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือลูกหนี้มีการค้างชำระแต่ไม่ถึง 90 วัน ของสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 2.05 แสนล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนราว 20.6% หรืออยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท จากยอดสินเชื่อ SM ทั้งหมดอยู่ที่ราว 4.8 แสนล้านบาท

และหากดูไส้ในจำนวนสัญญาของตัวเลข SM ของสินเชื่อรถยนต์พบว่า สัญญาที่มีการค้างชำระเป็น SM ที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทลูกธนาคารมีจำนวน 4 แสนสัญญา และบริษัทเช่าซื้อ หรือสถาบันการเงินค่ายผู้ผลิตรถยนต์ (captive finance) อีกราว 1.4 แสนสัญญา ซึ่งรวมทั้งสิ้น 5.4 แสนสัญญา เป็นกลุ่มที่ต้องจับตามอง เพราะมีโอกาสจะไหลไปเป็นเอ็นพีแอล หรือหนี้เสียตามข้อมูลแบงก์ชาติอยู่ที่ราว 12-15%

ดังนั้น จากสัญญาณดังกล่าว แม้ว่า ธปท.ยังมั่นใจว่าจะไม่ได้เกิดหน้าผาหนี้เสีย (NPL cliff) แต่เชื่อว่า ธปท.เฝ้าดูเป็นระยะ เพราะหนี้เสียจะไหลเร็วหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพด้วย

“แม้ภาพรวมหนี้ SM จะปรับลดลงจากไตรมาส 1/66 ที่อยู่ 6 แสนล้านบาท เหลือ 4.8 แสนล้านบาทในไตรมาส 2 แต่ตัวเลขของกลุ่มหนี้รถยนต์ไม่ได้ลดลงเลย และหากโอกาสไหลเป็นเอ็นพีแอล 15% สะท้อนว่า สัญญา SM จำนวน 5.4 แสนสัญญา มีโอกาสจะเป็นรถที่กำลังจะถูกยึดเข้าลานประมูลประมาณ 15% หรือประมาณ 81,000 สัญญา แต่ในข้อเท็จจริงก็อาจจะมากกว่านี้ได้เพราะภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี”

แบงก์เข้มปล่อยกู้รถ

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ของสินเชื่อเช่าซื้อมองว่า

ตลาดและธนาคารได้รับรู้และเห็นถึงสัญญาณดังกล่าว ทำให้ธนาคารได้เข้ามาดูเรื่องของเครดิตสกอริ่งในการอนุมัติสินเชื่อรถใหม่ที่เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันการไหลของหนี้ใหม่ ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยไปแล้ว ธนาคารก็เข้ามาดูแลในเรื่องของการติดตามทวงถามมากขึ้น

ดังนั้น หากมองไปข้างหน้ายอมรับว่าการปรับขึ้นของหนี้เสียอาจขยับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรที่ยังมีความอ่อนไหวในด้านรายได้

อย่างไรก็ดี หนี้เสียที่ขยับเพิ่มขึ้นยังอยู่ในการคาดการณ์ของธนาคาร เช่นเดียวสถานการณ์รถยึดที่อาจเห็นการขยับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สอดคล้องกับหนี้เสีย อย่างไรก็ดี ทีทีบี รวมถึงสถาบันการเงินแห่งอื่นเชื่อว่าจะพยายามช่วยเหลือลูกค้าในการปรับเทอมการชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้แทนการยึดรถ

“เราก็มีความเป็นห่วง และตลาดก็รับรู้ ซึ่งวิธีการบริหารจัดการเราก็ป้องกันน้ำใหม่ไม่ให้เป็นหนี้ และหนี้เดิมก็ติดตามใกล้ชิด และหันมาเน้นในโปรดักต์ที่มีการเติบโตและคุณภาพสินเชื่อดี เช่น รถแลกเงิน หรือการช่วยพันธมิตรเต็นท์รถในการทำแพลตฟอร์มซื้อขายรถมือสอง เป็นต้น”

หนี้เสียเร็ว-แรงขึ้นมีเหตุผล

นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอ็นพีแอลของสินเชื่อเช่าซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นประเด็นที่กังวล แต่จะไม่เห็นการตกหน้าผา (NPL cliff) สอดคล้องกับที่ ธปท.มอง

โดยจะเห็นว่าเอ็นพีแอลมีการขยับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 1.8% และระหว่างโควิดหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 1.4% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้ตัวเลขหนี้เสียลดลงมา

“ปีนี้เราเห็นหนี้เสียและตัว SM เพิ่มขึ้น เพราะมีส่วนหนึ่งที่เดิมเขาไม่ไหวในช่วงโควิดอยู่แล้ว และเราพยุงเขาไว้จากมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้เมื่อหมดมาตรการลง คนเหล่านี้ก็เป็นหนี้เสีย และบวกกับหนี้เสียที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้ตัวเลขมันขึ้นเร็วและแรง ซึ่งเหมือนอัตรารถยึดจากเดิมเฉลี่ยปีละ 2 แสนคัน

พอมีมาตรการก็เหลือ 1.4-1.5 แสนคัน อีกราว 5-6 หมื่นคัน เราช่วยพยุงไว้จากมาตรการ แต่พอหมดมาตรการกลุ่มที่พยุงไว้ก็ไม่ไหว และกลุ่มที่ไหวก่อนหน้าเริ่มไม่ไหว เพราะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นไม่ทั่วถึง ได้รับผลกระทบก็กลับมาเป็นหนี้เสีย ตัวเลขเลยดูเยอะ แต่เป็นตัวเลขที่กลับไปอยู่ในช่วงก่อนโควิด”

อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณดังกล่าว ธนาคารยอมรับว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่จำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะปัจจัยเศรษฐกิจยังไม่อำนวย ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และค่าครองชีพที่ยังเร่งตัวขึ้น ทำให้คนที่มีรายได้อาจจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และอาจจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ได้ ธนาคารจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการคัดกรองสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นในอนาคต

ลูกหนี้ผ่อนรถเลี้ยงค่างวด

ด้านนายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้สัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ และฟื้นเฉพาะแค่ภาคการท่องเที่ยว ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในเซ็กเตอร์ท่องเที่ยว รายได้ก็ยังไม่ได้กลับมาเต็มที่ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ถดถอย

แต่ลูกค้าก็ไม่อยากโดนยึดรถ จึงกลายเป็นการผ่อนชำระแบบเลี้ยงงวด คือ ผ่อน 1 เดือน และติด 2 เดือน และกลับมาผ่อนชำระใหม่ จึงสะท้อนไปยังตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) กองสูง ตามข้อมูล บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ที่อยู่ในระดับสูง 2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าสัญญาณการไหลของ SM ไปเป็นหนี้เสีย 12-15% มีความเป็นได้ และยิ่งไม่มีปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้นรายได้ภายใต้มาตรการภาครัฐที่ยังไม่มี บริษัทเชื่อว่ากลุ่มที่เปราะบางในด้านรายได้มีโอกาสจะไหลเป็นหนี้เสียและมีโอกาสโดนยึดรถได้ในอนาคต

7 เดือนรถยึดทะลัก 1.35 แสนคัน

นายอนุชาติกล่าวว่า สถานการณ์รถยึดเข้าลานประมูลมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีอัตรารถยึดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อเดือน หรือเพิ่มประมาณ 2,500 คันต่อเดือน จากปกติเฉลี่ย 1.9-2.0 หมื่นคันต่อเดือน เพิ่มเป็น 2.2-2.3 หมื่นคันต่อเดือน และคาดว่าในเดือนธันวาคม ยอดจะเด้งขึ้นไปแตะ 2.5 หมื่นคันต่อเดือน เพราะลูกค้าจ่ายชำระไม่ไหว

โดยมีประเมินว่ารถยึดเข้าลานประมูลปีนี้จะอยู่ที่ 2.5 แสนคัน โดยในช่วง 7 เดือนแรกมีรถยึดแล้วกว่า 1.35 แสนคัน เทียบกับปี 2565 รถยึดอยู่ที่ 1.5-1.8 แสนคัน ส่วนหนึ่งมาจากปี 2565 สถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือ พักชำระหนี้ หรือการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ลูกค้าไม่ไหลเป็นหนี้เสีย

ทั้งนี้ สถานการณ์รถยึดปัจจุบันมีทิศทางเพิ่มขึ้นล้อไปกับตัวเลข SM แต่อัตราการไหลของรถยึดเข้าลานประมูลจะเป็นในลักษณะทยอยไหลเข้าระบบ เนื่องจากกระบวนการในการยึดรถต้องใช้เวลา เช่น เป็นหนี้เสียวันนี้ แต่กว่าจะยึดรถได้อาจจะใช้เวลาอีก 1-2 เดือน เพราะลูกค้าบางรายอาจจะมีหลบหลีกหรือหาลูกค้าไม่เจอ ทำให้การยึดรถอาจจะเห็นเพียง 5% จากที่เป็นหนี้เสีย 15% เราคงไม่เห็นการยึดรถแบบตูมเดียวทั้งหมด

ขณะที่สัญญาณรถยึดที่ไหลออกจากลานประมูล จะเห็นว่าค่อนข้างช้ากว่าเดิม โดยอยู่ในอัตรา 70-80% เช่น รถไหลเข้า 100 คัน แต่ไหลออก 70-80 คัน ส่วนหนึ่งเพราะว่าเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ได้ดีมาก และเราพึ่งพาท่องเที่ยวอย่างเดียว ทำให้รายได้ของคนกระจุกแค่บางเซ็กเตอร์ แบงก์ก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ลูกค้าบุคคลหรือเต็นท์รถก็ชะลอการเข้ามาซื้อ

นายอนุชาติกล่าวว่า สำหรับตัวเลขรถยึดของแอพเพิลฯพบว่า ในช่วง 7 เดือนแรกมียอดเข้าลานประมูลกว่า 4 หมื่นคัน คาดว่าทั้งปีตัวเลขรถเข้าลานประมูลของบริษัทจะอยู่ที่ 7 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 5.5 หมื่นคัน

ธปท.ลั่นถึงเวลาแก้หนี้ครัวเรือน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ปัจจุบัน 90% ของจีดีพี หากไม่ทำอะไร ต่อไปก็จะกระทบกับเสถียรภาพ โดยล่าสุด ธปท.เตรียมทำมาตรการที่สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว 3 ส่วนด้วยกัน

อย่างแรกคือ การดูแลให้มีการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่จะดูให้ครบวงจร ตั้งแต่เริ่มปล่อยกู้ ระหว่างกู้ ยังเป็นหนี้ดี ตลอดจนหนี้เริ่มมีปัญหาไปจนกระทั่งก่อนจะถูกขาย

“เศรษฐกิจเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเรื่องหนี้ จะมีหลายครัวเรือนที่จะยังมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนก็จะโตไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกระทบเสถียรภาพ ซึ่งเกณฑ์ที่ดูกันก็คือ หนี้ครัวเรือนไม่ควรเกิน 80% ของจีดีพี แต่ตอนนี้เราอยู่ที่ 90% ก็ควรที่จะทำให้มันลงมา”

เอ็นพีแอลเพิ่มแต่ก้อนไม่ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวย้ำว่า จะไม่เห็นการตกหน้าผาเป็นเอ็นพีแอลจำนวนมากเกิดขึ้น แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือของ ธปท.จะหมดสิ้นปีนี้ก็ตาม แต่ยอมรับว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลมีสิทธิจะเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ก้อนใหญ่จนกระทบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ก็จะยังปรับโครงสร้างหนี้อยู่ จึงไม่ใช่ว่าพอวันที่ 1 มกราคม 2567 แล้ว จะหงายหลังกันไปหมด

“แม้จะมีข่าวว่าตัวเลข SM (สินเชื่อ stage 2) จะเพิ่มขึ้นเยอะ ดูสูง แต่จริง ๆ ก็สูงมานานแล้ว ไม่ใช่อยู่ดี ๆ พุ่งขึ้นมา ซึ่งต้องเข้าไปดูว่า สินเชื่อที่เป็น stage 2 ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะกลายเป็นเอ็นพีแอล ยกตัวอย่างสินเชื่อบ้าน stage 2 ที่กลายเป็นเอ็นพีแอล สัดส่วนอยู่ที่ 22% แต่สัดส่วนที่กลับไปเป็นหนี้ปกติอยู่ที่ 30% พูดง่าย ๆ คือ หนี้ที่ไหลไปเป็นเอ็นพีแอลน้อยกว่าหนี้ที่กลับไปเป็นหนี้ปกติ”

ยอดขายรถชะลอตัว

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ว่า ยังน่ากังวลโดยในช่วง 7 เดือนแรก มียอดขายสะสมแค่ 464,461 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาเกือบ 6% และแนวโน้มครึ่งปีหลังไม่น่าจะดีขึ้น อย่างเก่งทั้งปีคงขายได้เท่าเดิมหรือน้อยกว่า

ตอนนี้สภาอุตฯได้ปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยลงจากเดิม 1.95 ล้านคัน เหลือแค่ 1.9 ล้านคัน ลดไป 50,000 คัน ส่วนเป้าขายในประเทศเดิมประเมินมีสัดส่วน 45% ของยอดผลิต ก็มีแนวโน้มจะปรับลงอีกราว 5 หมื่นคันเช่นกัน

แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศต้องเผชิญปัจจัยลบหลายด้านที่กระทบกำลังซื้อ และยิ่งระยะหลังสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ที่ต้องการความคล่องตัวทางเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ประกอบกับปัญหาด้านการผลิตโดยเฉพาะซัพพลายชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดครึ่งปีหลังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตลาดปิกอัพที่กระทบหนักสุด จากมาตรการความเข้มงวดของสถาบันการเงินและไฟแนนซ์ต่าง ๆ จริงๆ ตลาดยังมีความต้องการ แต่ด้วยกำลังซื้อจึงทำให้สภาพตลาดไม่หวือหวา ตัวเลขน่าจะทรง ๆ หรือใกล้เคียงปีที่แล้ว ทั้งปีน่าจะอยู่ประมาณ 8.4-8.5 แสนคัน ตลาดปิกอัพยังได้รับผลกระทบหนักสุด