จับตา ธปท.แก้หนี้เรื้อรัง ติด “แบล็กลิสต์”-บีบแบงก์หั่น ดอกเบี้ย 50%

ธปท. แก้หนี้เรื้อรัง

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เป็นสิ่งที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนอีกหลาย ๆ ฝ่ายกังวลกันมาก เพราะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ยิ่งหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับวิธีการคิดหนี้ครัวเรือนใหม่ ทำให้ล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2566 หนี้ครัวเรือนขึ้นมาอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP

“ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่สูง สุดท้ายจะไปกระทบภาครัฐ เพราะรัฐจะเป็นหนี้มากขึ้นผ่านการทำนโยบาย การให้เงินช่วยเหลือ และเมื่อช่วยเหลือมาก ๆ หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจนแตะ 70-80% จะส่งผลต่อการจัดอันดับเรตติ้งของประเทศ หากไทยโดนลดเรตติ้งก็จะกระทบไปหมด

“สุดท้ายจะกลายเป็นหนี้ครัวเรือนส่งผ่านไปยังหนี้สาธารณะ ซึ่งจะเป็นการระเบิดผ่านภาคการคลัง (fiscal) ไม่ได้ระเบิดผ่านระบบธนาคาร (banking) แต่อันนี้เป็นเรื่องระยะยาวในอีก 10 ปีข้างหน้า หากไม่มีการแก้ไข”

ขณะที่ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” กล่าวว่า หนี้ครัวเรือน พอเกิดขึ้นมามาก ๆ แล้ว แก้ยาก ซึ่งปัจจุบันหนี้ในบางเซ็กเมนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่เห็นชัด ก็คือ หนี้สินเชื่อยานยนต์ ที่เป็นสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เพิ่มขึ้นทุกไตรมาส อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ หนี้บัตรเครดิต และหนี้บัตรเงินสด ซึ่งขยายตัวค่อนข้างมากในช่วง 3-4 ไตรมาสที่ผ่านมา

ธปท.วางเป้าหนี้ต่ำกว่า 80%

ล่าสุด ธปท.ประกาศว่าภายในปลายเดือน ก.ค.นี้ จะออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เป้าหมายคือ พยายามลดหนี้ครัวเรือนให้อยู่ระดับต่ำกว่า 80% ของ GDP

โดย “สุวรรณี เจษฎาศักดิ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ 4 กลุ่ม ตั้งแต่ 1.หนี้เสีย (NPL) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ค้างชำระเกิน 90 วัน) โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดในช่วงโควิด (รหัส 21) 2.หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ปิดจบไม่ได้ 3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว และ 4.หนี้นอกระบบ เป็นการแก้หนี้อย่างครบวงจร ถูกหลักการ และร่วมมือกับทุกภาคส่วน

สำหรับแนวทางที่ ธปท.จะดำเนินการ คือ 1) เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ มีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้

2) กลไก Risk-based Pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง

และ 3) มาตรการ Macroprudential Policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR)

“แผนการนำมาใช้ในส่วนของ RL และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อน ตามมาด้วยมาตรการ RBP สำหรับในเรื่อง MAPP การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ”

ตาราง หนี้ครัวเรือน

นายแบงก์หนุนแก้หนี้เรื้อรัง

“ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า การปรับปรุงข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่นำหนี้ประเภทอื่นมารวมด้วย ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มเป็น 90.6% ซึ่งช่วยให้เห็นข้อมูลหนี้ครอบคลุมมากขึ้น และสามารถโฟกัสการแก้ไขปัญหาได้ทุกจุด ไม่เหวี่ยงแห และสามารถแยกหนี้ได้ว่ากลุ่มไหน เป็นหนี้ดีที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้ไม่ดี

เช่น หนี้อุปโภคบริโภค ที่อาจจะต้องหยุดการกระตุ้นโฆษณา 0% หรือหนี้เรื้อรังที่ลูกหนี้ไม่สามารถจบหนี้ได้ รวมถึงหนี้นอกระบบ ซึ่ง ธปท.เห็นข้อมูลชัดขึ้นจะส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบาย ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นการนำหนี้ที่เคยซุกอยู่ใต้พรมที่ไม่เห็น ออกมาให้เห็น จะทำให้จัดการง่ายขึ้นและตรงจุดมากขึ้น

“ธปท.เดินมาถูกทาง โดยแบงก์ น็อนแบงก์ และ ธปท.จะต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องหนี้เรื้อรังที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากลูกหนี้ผ่อนหนี้ไม่จบสิ้น ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ประเภทสินเชื่อหมุนเวียน (O/D) เช่น วงเงิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 24% คิดเป็นดอกเบี้ย 2.4 หมื่นบาท ผ่อนเฉลี่ย 2,000 บาท หนี้ไม่ลดลง

แต่หากทำเป็นสินเชื่อแบ่งชำระรายงวด วงเงินเท่ากัน ดอกเบี้ย 8% ลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้หมดภายใน 5 ปี ดังนั้นต้องร่วมมือกันทำทั้งระบบ โดยหนี้ไม่ดีต้องลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หนี้อุปโภคบริโภค หนี้เรื้อรัง หรือหนี้นอกระบบ ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม และ ธปท.เองก็พยายามช่วยคนกลุ่มนี้เข้ามาในระบบผ่านการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank)

เพื่อมารองรับกลุ่มนี้ ดังนั้น หากเราสามารถทำไปด้วยกันทั้งระบบ เชื่อว่าหนี้ครัวเรือนจะดีขึ้น” ซีอีโอทิสโก้กล่าว

ส่อบีบแบงก์หั่นดอกเบี้ย 50%

ด้าน “แหล่งข่าวจากวงการสถาบันการเงิน” กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่า ธปท.เตรียมจะแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังในสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต แบบ “หักดิบ” โดยจะนิยามผู้ที่เป็นหนี้เรื้อรังคือ ต้องผ่อนชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นตลอดช่วง 2 ปีแรก หรือ 24 งวด

ซึ่งหากผู้กู้รายใดเข้าข่าย จะมีการออกหนังสือแจ้งเตือนในปีที่ 2 และหากยังไม่ปรับให้ดีขึ้น ในปีที่ 3 ก็จะติดสถานะ “PD” คือเป็นหนี้เรื้อรังแล้ว ซึ่งจะเป็นมาตรการบังคับให้เข้าสู่กระบวนการแก้ไข

“ธปท.มองว่าปีที่ 3 สถาบันการเงินได้ดอกเบี้ยลูกค้าไปมากแล้ว ก็จะบังคับให้เข้าโครงการคล้าย ๆ คลินิกแก้หนี้ โดยจะติด “แบล็กลิสต์” ให้ลูกหนี้ดังกล่าวเลย และให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ลดดอกเบี้ย 50% เช่น บัตรเครดิตที่จ่ายอยู่ 16% ก็ให้เหลือ 8% แล้วกำหนดงวดชำระให้จบภายใน 18 งวด หรือปีครึ่ง

ส่วนพีโลนให้ลดดอกเบี้ยจาก 24% ก็เหลือ 12% เลย แล้วให้ผ่อนชำระให้จบภายใน 48 งวด หรือใน 4 ปี ซึ่งระหว่างนั้น ลูกหนี้จะกู้ใหม่ไม่ได้เลย ก็จะลดหนี้ครัวเรือนได้ตามเป้า”

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี ตามแนวทางข้างต้นนี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงค่อนข้างมาก คือ 1.หุ้นแบงก์และน็อนแบงก์ จะตกหนัก 2.การตีความหนี้เรื้อรัง ต้องชัดเจน ไม่อย่างนั้นอาจจะผิดตัว และ 3.สินเชื่อบ้านที่ปีแรก ๆ จะผ่อนดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นอยู่แล้ว จะเคลียร์อย่างไร

คงต้องติดตามว่า มาตรการที่ ธปท.จะออกมาปลายเดือน ก.ค.นี้จะยืดหยุ่นมากกว่านี้หรือไม่ เพราะหากเข้มเกินไปก็จะมีไซซ์เอฟเฟ็กต์ตามมา