
ธปท.เตรียมออกแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนสิ้นเดือนก.ค.นี้ เผยครอบคลุม 4 กลุ่มหนี้ “หนี้เสีย-หนี้เรื้อรัง-หนี้ใหม่-หนี้นอกระบบ” ลั่นนำร่อง 2 มาตรการ “Responsible Lending- Risk Based Pricing” หลังเปิดฟังความคิดเห็น
วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ธปท.จะแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ 4 กลุ่ม ตั้งแต่ 1.หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ค้างชำระเกิน 90 วัน) โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดในช่วงโควิด-19 (รหัส 21) 2.หนี้ที่เป็นปัญหาเรือรัง ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ปิดจบไม่ได้ 3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว และ 4.หนี้นอกระบบ ซึ่งอาจดึงหนี้ในระบบมีปัญหาไปด้วย
เปิด 3 แนวทางแก้ไขหนี้ครัวเรือน
โดยแนวทางการกำกับดูแลหนี้ทั้ง 4 กลุ่มนั้น ธปท.จะดำเนินการภายใต้ 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่ 1.เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending : RL) 2.กลไกการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk Based Pricing : RBP) และ 3.มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) หรือการให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และให้ลูกหนี้มีเงินเหลือพอในการดำรงชีพ (DSR)
ทั้งนี้ ธปท.จะมีการแนวทางออกหลักเกณฑ์ และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ซึ่งภายหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ คาดว่าหลักเกณฑ์ในส่วนของ Responsible Lending และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้เป็นอันดับแรก และตามมาด้วยมาตรการ Risk Based Pricing ส่วนเรื่อง Macroprudential policy หรือ DSR จะต้องดูจังหวะและบริบทของเศรษฐกิจเป็นหลัก
“ปลายเดือนนี้น่าจะมีรายละเอียดของมาตรการออกมาชัดขึ้น ภายหลังจากเราได้มีการโฟกัสกรุ๊ปกับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และขออนุมัติภายในก่อนจะออกมาเป็นแนวทางมาตรการกำกับดูแล โดยคาดว่าเรื่อง RL และ RBP น่าจะนำมาใช้ก่อน”
นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดในมาตรการ Responsible Lending : RL ธปท.จะดูแลผู้ให้บริการทั้งระบบ ตั้งแต่ SFIs น็อนแบงก์ และธนาคารพาณิชย์ และดูแลครบวงจรหนี้ตั้งแต่กรอบการปล่อยสินเชื่อ ระหว่างการเป็นหนี้ หนี้มีปัญหาจนถึงการขายหนี้ เช่น กำหนดไม่ให้มีการโฆษณาเกินเหตุ การเสนอขายจะต้องมีรายละเอียดข้อมูลครบถ้วน รวมถึงการโอนหนี้และขายหนี้
นอกจากนี้ จะต้องมีแนวทางการดำแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้องรังให้สามารถปิดจบหนี้ได้ เช่น อยากเห็นหนี้ที่เป็นการชำระเป็นงวด (Installment loan) ที่รู้ว่าชำระหนี้หมดภายในเมื่อไร มากกว่าการสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Loan) ซึ่งเป็นวงเงินที่เปิดไว้ และเป็นการกู้หนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่า หรือธปท.พยายามให้เจ้าหนี้แจ้งลูกค้าถึงภาระหนี้ที่ต้องจ่ายหากลูกค้าเลือกผ่อนหรือจ่ายเต็ม
“ธปท.มีการคุยกับเจ้าหน้าหนี้แยกลูกหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มไม่รุนแรง และกลุ่มรุนแรง โดยกลุ่มไม่รุนแรงจะให้แบงก์ส่ง SMS เตือนลูกค้าเริ่มที่จะเป็นหนี้เรื้อรัง จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นเท่าไรแล้ว เพื่อให้ลูกค้าตระหนัก และกลุ่มรุนแรงที่ปรับโครงสร้าง จะจบหนี้ภายในเมื่อไร และดอกเบี้ยเท่าไร ภายใต้ลูกหนี้ต้องปิดวงเงิน Revolving Loan ด้วย”
ส่วน Risk Based Pricing นั้น เพดานดอกเบี้ยจะยังคงมีเหมือนเดิม แต่จะเปิดทางให้ผู้ประกอบการที่มีโมเดลสามารถคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ โดยสิ่งที่ธปท.อยากเห็น คือ การเพิ่มคนเข้ามาในระบบ แต่อาจจะไม่ทั้งหมด และสามารถช่วยคนที่มีความเสี่ยงติดขอบเข้ามาในระบบได้ และสิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ การเร่งปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่มีความเสี่ยง
“เราอยากเห็นคนที่มีความเสี่ยงหน่อยเข้ามาในระบบ แต่คนที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยต่ำลง เช่น สหรัฐฯ มีเกณฑ์นี้ที่นำมาใช้ โดยดึงข้อมูลจาก NCB หากลูกค้าผ่อนดีดอกเบี้ยจะถูกลง แต่หากลูกค้ามีประวัติชำระไม่ดี และมีความเสี่ยงสูง จะทำให้การพิจารณาสินเชื่อต่อไปจะถูกคิดดอกเบี้ยเพิ่ม หรืออินเดียเดิมมีเพดานและมีการคุมมาร์จิ้น แต่ล่าสุดเดือนต.ค.ได้ยกเลือกข้อกำหนด และให้เจ้าหนี้เข้ากลไก Risk Based Pricing ก็คงต้องรอดูผล”
รับหนี้เสีย-SM รายย่อยเพิ่ม ยันไม่ตกหน้าผา NPL
นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยภายหลังจากธปท.มีการปรับตัวเลขจากการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มจาก 86.3% มาอยู่ที่ 90.6% มาจากหนี้การกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สหกรณ์ และการเคหะ โดยเป็นหนี้ที่อยู่ภายใต้การกำกับของธปท. 73% และภายใต้กำกับหน่วยงานอื่น 27%
อย่างไรก็ดี หากดูสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังเป็นสิ่งที่ธปท.ยังกังวล แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหามานานแล้ว ทั้งนี้ หากเทียบสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) พบว่ามีประเทศที่ต่ำกว่า และประเทศที่สูงกว่าไทย เช่น แคนนาดา 103% หรือ เกาหลี 105% เป็นต้น
ทั้งนี้ หากดูภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของหนี้รายย่อยทยอยเพิ่มขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.2% ในไตรมาสที่ 1/66 และตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) กลุ่มค้างชำระไม่เกิน 90 วัน เพิ่มจาก 6.9% มาอยู่ที่ 7.2%
โดยนับตั้งแต่โควิด-19 ธปท.พยายามติดตามตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลและ SM อย่างใกล้ชิด และมีการผลักดันให้เจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้รระยะยาว ซึ่งจะหมดมาตรการภายในสิ้นปีนี้ แต่ธนาคารยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ต่อเนื่อง แต่จะไม่ได้รับการผ่อนปรนในการเรื่องของเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีมาตรการผ่อนปรนแต่จะเห็นว่าธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเข้มข้น และสำรองฯ เพิ่มขึ้นทุกไตรมาส
อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขจำนวนบัญชีและยอดหนี้รหัส 21 ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากโควิด-19 (ค้างชำระเกิน 90 วัน) พบว่า ณ มี.ค. 66 แบ่งเป็น สัดส่วนบัญชีที่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ราว 60% ลดลงจาก 70% ในช่วงเดือนส.ค.65 และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) อยู่ที่ 20% จาก 30% และธนาคารพาณิชย์ทรงตัวอยู่ที่ 10%
โดยจำนวนบัญชีลูกหนี้รหัส 21 ลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนต.ค.65 ที่อยู่ 4.7 ล้านบัญชี มาอยู่ที่ 4.4 ล้านบัญชี และยอดหนี้ปรับลดลงจาก 4.1 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท ปรับลดลง 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี มองว่าลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เคยได้รับความช่วยเหลือไปในช่วงโควิด-19
ยันหนี้เสียรถไม่เพิ่ม แม้ SM พุ่ง
และหากดูสินเชื่อรถ พบว่าหนี้เสียทรงตัว แต่จะเห็นตัวเลข SM เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงในช่วงปี 2565 เป็นผลมาจากมีการพักชำระหนี้ การเปลี่ยนแปลงค่างวด ประกอบกับพฤติกรรมลูกค้ารถจะมีการผ่อนชำระแบบเลี้ยงงวด เพื่อไม่ให้รถโดนยึด ทำให้ตัวเลข SM สูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น โดยหากดูไส้ในตัวเลข SM ของเช่าซื้อ จะพบว่าประมาณ 60% จะยังคงสถานะเป็น SM ต่อไป และประมาณ 10% มีโอกาสเป็นหนี้เอ็นพีแอล และอีก 20% อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสามารถกลับมาสู่ชั้นปกติได้ โดยมองว่าเอ็นพีแอลเช่าซื้อจะไม่สูงกว่าก่อนหน้า
ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย ตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นทั้งจากธนาคารพาณิชย์ และSFIs แต่จะเห็นว่าตัวเลข SM ของ SFIs เพิ่มขึ้นสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้แตกต่างจากอดีตที่ส่งผ่านค่อนข้างมาก ปัจจุบันดอกเบี้ยนโนบายขึ้นไปประมาณ 1.50% ต่อปี ส่งผ่านไปยังดอกเบี้ย MRR ประมาณ 50% หรือราว 0.50% เท่านั้น ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตอาจจะต้องติดตามและดูเพิ่มเติมในเรื่องของการจ่ายขั้นต่ำ และการแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว (Term loan)
“คุณภาพหนี้รายย่อยด้อยลงจากกลุ่มที่มีรายได้น้อย หรือมีรายได้ไม่ประจำ โดยบ้านเห็นการเพิ่มขึ้นของ SM ในกลุ่ม SFIs ส่วนสินเชื่อรถตัว SM เพิ่มจริงแต่ไม่ได้เป็นหนี้เสีย และ SM ในกลุ่มสินเชื่อบุคคลมาจากกลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้ายังคงไม่เกิดหน้าผาเอ็นพีแอล โดยธปท.ติดตามเจ้าหนี้ทุกประเภทในการผลักดันในการแก้หนี้ และเร่งออกแนวทางการดูแลเพิ่มเติม รวมถึงภายในปี 2567 จะมีถังข้อมูลที่เห็นเป็นรายสัญญา ซึ่งวัสดุประสงค์จะแตกต่างจาก NCB ที่ให้แบงก์สามารถดูได้ แต่ของธปท.จะเป็นการพิจารณาเพื่อจัดทำนโยบายภายใน”