EIC เตือนเร่งแก้หนี้ครัวเรือน หวั่นจุดชนวนระเบิด “ภาคการคลัง”

คอลัมน์ : FUTURE THAILAND

เศรษฐกิจไทยผ่าน 6 เดือนแรกของปี 2566 มาแล้ว ท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอน ทั้งจากภายนอกที่เศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย และปัจจัยภายใน โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังต้องลุ้นอยู่ตลอดเวลา มองไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หรือมีโจทย์เร่งด่วนอะไรบ้าง

“ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจเผชิญ 3 (+1) “ไม่”

โดย “ดร.สมประวิณ” ชี้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ EIC คาดการณ์เติบโตอยู่ที่ 3.9% และมองว่าครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีกว่าครึ่งปีแรก แม้ว่าตัวเลขการส่งออกจะย่อตัวจากประมาณการเดิมอยู่ที่ 1.2% เหลือ 0.5% แต่ภาพฟื้นตัว และคนจะรู้สึกมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวจีนกำลังเข้ามา ซึ่งคาดหวังที่ 10 ล้านคน อย่างไรก็ดี แม้ภาพเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ยังต้องเผชิญ 3 “ไม่” คือ 1.ไม่สอดคล้องกัน วันนี้สหรัฐ และยุโรปเริ่มจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่จีนกำลังจะขึ้น 2.ไม่ทั่วถึง หรือไม่เท่าเทียม และ 3.ไม่แน่นอน แม้วันนี้ภาคการส่งออกจะดูแย่ลง และการท่องเที่ยวดูดีขึ้นกว่าที่คาด แต่ยังคงมีความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ดี มีอีก “ไม่” ที่เพิ่มขึ้นมา คือ ไม่ได้แย่กว่าคาด เดิมหลายฝ่ายมองสถานการณ์จะแย่ แต่ผลออกมาไม่แย่กว่า เช่น ส่งออก ที่มองว่าจะแย่ ก็อาจไม่แย่กว่าคาด เพราะล่าสุดก็ติดลบน้อยกว่าที่คาดไว้

“จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจดีขึ้น แต่เรายังเจอ 3 ‘ไม่’ ที่ชัดขึ้นกว่าปีก่อน จากเดิมเราคิดว่าพ้นจากโควิด-19 แล้วจะหายไป แต่ยังไม่หาย แสดงว่าไม่ได้เกิดจากโควิด แต่อาจจะเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง และจะอยู่กับเราตลอดไป”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเหมือนคนที่เดินออกมาจากห้องโควิด แล้วเจอ 2 อย่าง คือ โลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน และภูมิคุ้มกันก็เปลี่ยน หากติดโรคอีกก็อาจจะป่วยรุนแรงขึ้น

นโยบายเศรษฐกิจต้องแก้ระยะยาว

ทั้งนี้ “ดร.สมประวิณ” กล่าวว่า มองไปข้างหน้า การทำนโยบายเศรษฐกิจ จะต้องมียุทธศาสตร์มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นระยะสั้นเหมือนเดิม แม้เศรษฐกิจจะฟื้น แต่ยังไม่พร้อม take risk เพราะถ้ากระตุ้นการบริโภคมาก ๆ อัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้น และคนที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ จะเป็นคนกลุ่มล่าง ดังนั้นจึงต้องมองเรื่องระยะยาวมากกว่า อย่างเรื่องความสามารถในการแข่งขัน กฎระเบียบ การปรับปรุงกฎหมาย (regulatory guillotine) แต่หัวใจทั้งหมด คือ การทำนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้แอ็กทีฟขึ้น

“เราต้องเข้าใจว่า เศรษฐกิจไทยไม่สามารถที่จะเติบโตด้วยตัวเองได้แล้ว เราเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนโลก เราเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก และถ้าย้อนกลับไป 40 ปีแล้ว มองมาในอาเซียน จะเห็นเราอยู่ที่เดียว แต่วันนี้นักลงทุนเขาเห็นหลายที่ เพราะฉะนั้น เราจะยืนรอให้คนเดินมาหาเรา แล้วมาคุยไม่ได้แล้ว เราต้องออกไป ต้องโปรแอ็กทีฟมากขึ้น”

ซึ่งการออกไปดึงนักลงทุน จะมี 2 มุมคือ การหาพันธมิตร (partner) ใหม่ และอย่าคิดว่าต้องแข่งกับคนอื่น แต่เติมเต็มต้องแบ่งงานกันทำ โดยการดึงจีนเข้ามาผลิตในอาเซียนได้หรือไม่ แล้วไทยเป็นส่วนหนึ่งในนั้น นอกจากนี้ หากว่าไทยทำนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศเองไม่ได้ ก็ต้องใช้กลไกต่างประเทศช่วยบังคับ อย่างเวียดนาม ที่ใช้สิทธิเขตการค้าเสรี (FTA) เกือบ 90% ของการส่งออกทั้งหมด

“หนี้ครัวเรือน” โจทย์ใหญ่ประเทศ

สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น “ดร.สมประวิณ” กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ หนี้ครัวเรือน ที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย EIC ได้สำรวจในช่วง 6 เดือนปลายปีก่อน และ 6 เดือนแรกของปีนี้ จากกลุ่มตัวอย่าง 5,000 คนที่อยู่ในเขตเมือง และเป็นพนักงาน พบว่า สัดส่วนคนที่มีรายได้ไม่พอรายจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 82% และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท สะท้อนว่ารายจ่ายไหลออกเร็วกว่ารายได้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น

“เมื่อรายได้ไม่พอรายจ่าย ก็มีการ ‘กู้’ แต่เป็นการ ‘กู้เงินนอกระบบ’ และเมื่อถามว่า ‘อยากกู้เพิ่มหรือไม่’ ส่วนใหญ่ตอบว่า อยากกู้เพิ่ม แต่เป็นการ ‘กู้ในระบบ’ และถามต่อว่า ‘กู้ไปใช้ทำอะไร’ พบว่าช่วง 6 เดือนปลายปีก่อน บอกว่า ‘กู้ไปใช้จ่าย’ แต่มา 6 เดือนแรกปีนี้ บอกว่าจะ ‘กู้ไปใช้หนี้’ สะท้อนภาพว่า หนี้เริ่มวน และเป็นหนี้ที่ไม่ยั่งยืน ถามว่า จะเบรกวัฏจักรนี้ได้อย่างไร”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจ 20 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ล้านครัวเรือน พบว่า กลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 1.3 หมื่นบาท รายได้ไม่พอรายจ่าย และใช้เวลาอีก 5 ปีถึงจะฟื้นและพอจ่าย ซึ่งเป็นเวลาค่อนข้างนาน ส่วนกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 7,000 บาท พบว่า รายได้ไม่มีทางเกินรายจ่ายเด็ดขาด จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

หวั่นปัญหาขยายวงกระทบการคลัง

“ดร.สมประวิณ” กล่าวอีกว่า ความน่ากลัวของปัญหาหนี้ก็คือ ไม่รู้ว่าหนี้นอกระบบมีเท่าใด เพราะการแก้หนี้จะต้องรู้หนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ แต่วันนี้รู้แค่ว่ามีการกู้เพิ่มเพื่อไปใช้หนี้ แต่ไม่รู้ว่าแค่ส่งดอกเบี้ยหรือไม่ เท่ากับหนี้ไม่ได้ลดลง ซึ่งสุดท้ายจะไปกระทบภาครัฐ เพราะรัฐจะเป็นหนี้มากขึ้นผ่านการทำนโยบาย ที่ไม่ได้ช่วยให้หนี้ลดลง แต่เป็นการให้เงินช่วยเหลือ และเมื่อช่วยเหลือมาก ๆ หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจนแตะ 70-80% จะส่งผลต่อการจัดอันดับเรตติ้งของประเทศ หากไทยโดนลดเรตติ้ง (down grade) ก็จะกระทบไปหมด

“สุดท้ายจะกลายเป็น หนี้ครัวเรือนส่งผ่านไปยังหนี้สาธารณะ ซึ่งจะเป็นการระเบิดผ่านภาคการคลัง (fiscal) ไม่ได้ระเบิดผ่านระบบธนาคาร (banking) แต่อันนี้เป็นเรื่องระยะยาวในอีก 10 ปีข้างหน้า หากไม่มีการแก้หนี้หรือรายได้ ทั้งนี้ ผมคิดว่าการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ไปทำให้ลูกหนี้ไม่เป็นหนี้ แต่ต้องไปเพิ่มรายได้ให้เขา การจะแก้ปัญหาหนี้ คือ การเพิ่มรายได้”

หนุนเปิดทางคิดดอกเบี้ยตามเสี่ยง

สำหรับแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายได้ (risk based pricing) นั้น มองว่าเป็นอีกวิธีที่ช่วยแก้หนี้ครัวเรือน เพราะต้องยอมรับว่าคนไทยมีความเสี่ยงหลากหลาย ต่ำ-สูงแตกต่างกันไป ซึ่งหากจะแก้ให้ได้ผล ก็ไม่ควรมีเพดานดอกเบี้ยเลย อย่างเช่น ถ้าจำกัดเพดานไว้ 20% ต่อปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ระบบการเงินจะคิดดอกเบี้ยสูงสุด (max) สำหรับผู้กู้ทุกกลุ่ม แปลว่าคนที่มีความเสี่ยงต่ำต้องจ่ายแพง และความเสี่ยงสูงจ่ายถูก เป็นการชดเชยระหว่างกัน (cross subsidy)

ทั้งนี้ การนำแนวทางนี้มาใช้อาจจะต้องทดลองในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (sandbox) ก่อนก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าแม้จะเปิดเพดานดอกเบี้ย แต่คงไม่มีใครกล้าคิดดอกเบี้ยสูง เพราะจะแข่งขันไม่ได้

“แบงก์คงไม่คิดดอกเบี้ยสูง เพราะถ้าคิดดอกเบี้ยสูง แล้วลูกค้าไม่รอด ก็ไม่ดี ดีที่สุดคือ ให้เขาจ่ายตามความเสี่ยง หรือต่ำสุดที่สามารถจ่ายคืนได้ เพราะแบงก์ก็อยากได้เงินคืน”

แนะสร้างกลไกรองรับผู้กู้เสี่ยงสูง

“ดร.สมประวิณ” กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้กู้หลาย ๆ ทางด้วย เช่น ไหลจากนอกระบบเข้าสู่ระบบน็อนแบงก์ จากดอกเบี้ย 200% สู่ดอกเบี้ย 40% ต่อปี แล้วดูว่าหากการชำระหนี้ credit scoring ดีขึ้นต่อเนื่อง แบงก์ก็สามารถไปรีไฟแนนซ์เข้ามา และอัตราดอกเบี้ยจะลดลงเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเหลือแค่ 5% ต่อปี หรือกรณีผ่อนชำระดี 1 ปี ลดดอกเบี้ยลงให้ 10% เป็นต้น ซึ่งเป็นแรงจูงใจ แต่จะต้องทำระบบ credit scoring ที่ดีและมีประสิทธิภาพ

“ผมว่าเราต้องสร้างกลไกเปิดให้ลุยกันเลย ทำ sandbox หลาย ๆ วง เพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงต่างกัน สามารถไหลระหว่างกันได้ จากดอกเบี้ยแพง ๆ มาถูก ๆ แล้วทำ 2 ทาง จากความเสี่ยงสูงมาต่ำ และจากความเสี่ยงต่ำไปสูง เหมือนที่ประเทศอังกฤษที่มีกลไกว่า หากแบงก์รีเจ็กต์ จะส่งไปที่ secondary market ที่รับความเสี่ยงสูงได้มากกว่า ซึ่งคิดดอกเบี้ยแพงกว่า อาจจะ 5-10 บาท และถ้าไม่ได้ก็จะมีที่อื่นรองรับอีก แต่ดอกเบี้ยก็จะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงสุดท้ายคือ ฟินเทค อย่างพวก peer to peer lending”

คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.5%

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยของไทยหลังจากนี้ “ดร.สมประวิณ” กล่าวว่า EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง เป็น 2.50% ซึ่งตรงนั้นน่าจะเป็นจุดที่สมดุลแล้ว

“มุมมอง EIC เราคิดว่าที่ระดับ 2.5% เป็นระดับที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในระยะยาว (neutral rate) แปลว่า ดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับไปเป็นศูนย์ จากวันนี้ ติดลบอยู่ประมาณ -2% กว่า ๆ แค่เป็นศูนย์พอ ไม่ต้องเป็นบวก เพราะจะดึงเศรษฐกิจ” ดร.สมประวิณกล่าว

https://www.youtube.com/watch?v=7_8b7ong1_0