ส่งออกทรุด “ลดโอที-ลดคน” สัญญาณเตือนภัยการจ้างงาน

File Photo by STEPHEN SHAVER / AFP

สัญญาณเตือนภัย “ส่งออก” ติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน ออร์เดอร์สั่งซื้อวูบมากสุด ดัชนีอุตสาหกรรมดิ่ง อัตรากำลังการผลิตเหลือแค่ 60% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-เฟอร์นิเจอร์ ส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน วงในเผยเริ่มมีโรงงานลดคน-ลดโอที ประธาน ส.อ.ท.ยอมรับบางเซ็กเตอร์จำเป็นต้องลดเวลาทำงาน อุตฯภาคตะวันออกเผยมีบางโรงงานหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว เลขาฯสภาพัฒน์ยอมรับ “ส่งออก” ปัญหาใหญ่ รอรัฐบาลใหม่เร่งจัดการ

สัญญาณการผลิตเริ่มแผ่ว

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้วกระทั่งเดือนล่าสุด -4.6% เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในภูมิภาค ไม่เฉพาะไทย

และหากดูไส้ในของภาคการส่งออกเดือนล่าสุดที่ติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น เนื่องจากมีการส่งออกสินค้า 3 กลุ่ม คือ ชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูปและเกษตรแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังไปได้ดี ช่วยพยุง

แต่ตัวที่ฉุดคือ อิเล็กทรอนิกส์ เพราะอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลง ลงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จากการที่หลายประเทศเริ่มเปิดเมือง ทำให้ความต้องการสินค้าหายไป นอกจากนี้ กลุ่มปิโตรเคมีที่ราคาปีนี้ลดลงมาก เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ตัวเลขส่งออกดูติดลบมากขึ้น ทำให้ซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงเป้าที่มองว่าส่งออกทั้งปีจะติดลบ 2%

ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอตัวจะกระทบ 2 ส่วน คือ ภาคการผลิต และการบริโภคในประเทศ โดยสำหรับภาคการผลิตอาจต้องดูเป็นรายอุตสาหกรรม ซึ่งช่วงนี้กำลังการผลิตก็เริ่มแผ่ว แต่น่าจะดีขึ้นไตรมาส 3

“ส่งออกชะลอก็จะกระทบภาคการผลิต แต่ก็อาจจะเป็นแค่บางกลุ่ม บางเซ็กเตอร์ ส่วนผลกระทบอีกด้านคือ ค้าปลีก หรือการบริโภคในประเทศ เพราะพอชั่วโมงการทำงานถูกตัด โอทีลดลง ความเชื่อมั่นการจับจ่ายใช้สอยเริ่มลดลง ก็จะกระทบการบริโภคของแรงงานกลุ่มนี้”

ดร.อมรเทพกล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน กระทบกับการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ส่งออกไปรีเอ็กซ์ปอร์ตในจีน แต่หากเป็นกลุ่มอาหารแปรรูป เกษตรแปรรูป ผลไม้ ฟื้นตัวได้ดีอยู่ ซึ่งก็หวังว่าเมื่อจีนออกมาตรการกระตุ้นแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว

กำลังการผลิตแค่ 60%

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เป็นปกติที่วันนี้วัฏจักรส่งออกไม่ดี ก็จะมีผลต่อภาคการผลิต ซึ่งวันนี้กำลังการผลิตของไทยเฉลี่ยอยู่แค่ประมาณ 60% เท่านั้น

“กำลังการผลิตรันที่ 60% ถือว่าน้อยมาก เลยครึ่งมานิดเดียว แปลว่าทำงานไป บ่าย ๆ ก็กลับบ้านแล้ว มันก็มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานด้วยนิดหน่อย”

อย่างไรก็ดี ดร.สมประวิณกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นผลกระทบระยะสั้น หากแค่ลดชั่วโมงการทำงานยังไม่เป็นไร แต่หากถึงขั้นปิดโรงงาน หรือการลงทุนโรงงานใหม่ ๆ ไม่มา จะน่าห่วงมากกว่า

สภาพัฒน์ชงแก้ปมส่งออกหดตัว

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยหดตัวมาเป็นเดือนที่ 8 แล้ว นับจากเดือน ต.ค. 2565 ซึ่งหลาย ๆ สินค้ามีการส่งออกลดลง แต่หลายสินค้าก็ยังไปได้

สาเหตุก็มาจากประเทศปลายทางเศรษฐกิจชะลอตัวด้วย และผลกระทบก็ไม่เฉพาะไทย หลาย ๆ ประเทศเพื่อนบ้านก็ส่งออกหดตัวเช่นกัน โดยสินค้าที่หดตัวก็คล้าย ๆ กันคือ อิเล็กทรอนิกส์ แต่ยานยนต์ของไทย รวมถึงอาหาร ยังไปได้ดี

“เรื่องส่งออกที่หดตัวก็จะพันมาที่ภาคการผลิตที่จะมีกำลังการผลิตลดลง ซึ่งก็จะต่อเนื่องไปที่เรื่องการจ้างงาน ดังนั้นตอนนี้กระทรวงพาณิชย์ก็มีการเร่งไปทำตลาดเพิ่มเติม ในตลาดที่มีศักยภาพ”

อย่างไรก็ดี หากมองภาพการจ้างงานในภาพรวมยังดูดีอยู่ อัตราการว่างงานในไตรมาสแรกปีนี้ยังต่ำ ขณะที่ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยก็ฟื้นมาเท่ากับก่อนโควิดแล้ว แต่ในรายเซ็กเตอร์คงต้องเข้าไปดูในรายละเอียด

“ตัวเลขผลกระทบยังไม่ปรากฏตอนนี้ แต่ความเสี่ยงมีแน่นอน เพราะเศรษฐกิจโลกตอนนี้ก็ไม่แน่นอน แล้วจีนเองเศรษฐกิจดูเหมือนจะฟื้นตัวได้ แต่ก็ไม่ได้ดีเหมือนที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดไว้ ขณะเดียวกันในประเทศเขาเองก็ยังมีปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ ก็ต้องดูว่าเขาจะแก้ยังไง

อีกส่วนก็ตัวนโยบายของจีนเอง ตอนนี้ก็มุ่งจะพึ่งพาภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจจะกระทบกับสินค้าที่เราส่งไปจีนด้วย ก็ต้องไล่ดูตัวเลข ติดตามใกล้ชิด”

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาก็คงต้องเสนอให้เร่งแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก เพราะปัญหาของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ก็คือภาคส่งออกที่ชะลอตัว ขณะเดียวกันก็คงต้องเร่งเจรจา FTA รวมถึงกรอบความร่วมมือทางการค้าอื่น ๆ ให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้ขยายตลาดไปได้

10 กลุ่มสินค้าส่งออกติดลบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) มีมูลค่า 116,344.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังคงติดลบอยู่ถึง 5.5% กลุ่มสินค้าที่ “ติดลบมากที่สุด 10 อันดับแรก” 1.คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มูลค่า 7,062 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 13% 2.อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 6,582 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 13%

3.ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 5,626 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.39% 4.เม็ดพลาสติก มูลค่า 3,734 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 25% 5.น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่า 3,711 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 14% 6.เคมีภัณฑ์ มูลค่า 3,479 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 18.6% 7.เครื่องจักรและส่วนประกอบ มูลค่า 3,410 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 7.4%

8.เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 2,692 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 11.7% 9.สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ มูลค่า 2,569 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.8% และ 10.ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 1,762 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 19.1%

ส.อ.ท.ชี้จำเป็นต้องตัดโอที

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคการส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เนื่องจากกำลังซื้อจากตลาดสหรัฐ และยุโรปลดลง ดังนั้นจึงยังคงประเมินว่า ปี 2566 ส่งออกยังคงอยู่ในกรอบ 0 ถึง -1% ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เคยคาดการณ์ไว้

แน่นอนว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตที่มีคำสั่งซื้อลดลง จาก 19 อุตสาหกรรม เพิ่มเป็น 25 อุตสาหกรรม ในเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งมีการจ้างงานหลักกว่าแสนคน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลและโลหะการ สิ่งทอ รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ และยังรวมไปถึงกลุ่มที่ส่งออกมาก ๆ อย่างสินค้าเกษตร

เมื่อสถานการณ์ยังไม่ส่อแววดีขึ้น บางบริษัทจำเป็นต้องลดโอทีลง แต่ยังต้องผลิตสินค้าเพื่อเก็บสต๊อกไว้ก่อน เพื่อรอการส่งออกและรักษาการจ้างแรงงานไว้ ขณะนี้นอกจากจะรอให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐแล้ว เอกชนก็ต้องพึ่งพาและประคองตัวเองไปก่อน

อย่างที่ทราบคือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน มีอุตสาหกรรมใหม่และต้องสร้างเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (next-gen industries) เพราะครึ่งปีหลังยังไม่รู้ว่าส่งออกจะดีขึ้นอย่างที่คาดไว้หรือไม่

ดัชนีอุตสาหกรรมดิ่ง

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ล่าสุดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 94.80 ลดลง 3.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงมาอยู่ที่ 60.2%

โดยขณะนี้ยังพบว่ามีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ออร์เดอร์และลดกำลังการผลิตลง คือ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าลดลง 16% อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (HDD) ลดลง 15% อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตอุตสาหกรรมจะกลับมาทรงตัวอีกครั้งในช่วงปลายปี

ทั้งนี้ อาจยังมีปัจจัยอื่นโดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย เป็นอันดับที่ 2 มีอิทธิพลต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมไทยเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีการหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยในเดือน พ.ค. 2566 หดตัวถึง 6.6%

และจีนยังประสบปัญหามีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างมาก ประกอบกับนโยบายของภาครัฐที่กลับมาเน้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้การนำเข้าจากประเทศคู่ค้า รวมทั้งไทยน่าจะชะลอตัวลง

กลุ่มเหล็ก-อะลูมิเนียมลด “โอที”

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวทั้งตลาดสหรัฐ ยุโรป รวมถึงจีน ส่งผลให้บางบริษัทเริ่มที่จะลดกำลังการผลิตลงประมาณ 10% รวมถึงลดส่วนของการจ่ายโอที จาก 3 กะ ปรับเป็น 2 กะ เเละคงโอทีบางส่วนที่จำเป็นไว้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมอนิเตอร์กันเดือนต่อเดือนว่าช่วงครึ่งหลังกำลังการผลิต และการส่งออกจะกลับมาได้หรือไม่

“กำลังการผลิตและโอทีมีปรับเปลี่ยนลดบ้างตามสถานการณ์ เพราะส่งออกน่าจะไม่กระเตื้องจนถึงสิ้นปี ก็แล้วแต่ละบริษัทจะปรับตัวอย่างไร คาดว่ายังลดกันไม่มากนัก และรอลุ้นดีมานด์ภายในประเทศช่วงครึ่งปีหลังอยู่ และรอดูรัฐบาลใหม่

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าช่วงไหนออร์เดอร์น้อย เราก็ใช้การปรับลดการผลิต ลดโอทีลงบ้าง แต่การที่ยังผลิตอยู่เพราะเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะยังมีดีมานด์อยู่ ส่วนครึ่งปีเเรกก็มีดีมานด์เเต่ไม่เท่ากับที่คาดการณ์ไว้”

หยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมภาคตะวันออกกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ส่งผลกระทบให้โรงงานบางส่วนต้องลดกำลังการผลิต ทำให้ตอนนี้เกิดภาพบางโรงงานมีการลดโอที (จ่ายเงินล่วงเวลา) รวมถึงบางแห่งอาจมีการลดการจ้างงานด้วย

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลต่อยอดการผลิตรถยนต์สันดาปลดลง ทำให้โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทรถสันดาปในจังหวัดระยอง และชลบุรี เริ่มประสบปัญหา ลดการจ่ายค่าจ้างลงเหลือ 75% ของค่าจ้าง

ซึ่งสามารถทำได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 โดยบางโรงงานเปิดให้ทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน และมีบางโรงงานเปิดโครงการสมัครใจลาออก หลายโรงงานได้รับผลกระทบตั้งแต่โควิดระบาดต่อเนื่องมาจนถึงเศรษฐกิจโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครนต่าง ๆ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกกระทบเป็นวงกว้าง

โรงงานขนาดเล็กส่งสัญญาณ

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมในจังหวัดฉะเชิงเทราเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โรงงานในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงมีสัญญาณไม่ดี เริ่มต้นมาตั้งแต่ บริษัท แมรีกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ปิดตัวช่วง 2-3 ปีก่อน หลังจากนั้นที่เริ่มมีการย้ายฐาน โรงงานหลายแห่งที่เป็นโรงงานขนาดเล็กก็ประสบปัญหามากขึ้น

และที่เริ่มทยอยปิดตัวเห็นชัดคือ โรงงานผลิตเครื่องสำอางขนาดเล็กที่รับทำ OEM อายุไม่เกิน 10 ปี, โรงงานชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีทุนจดทะเบียนประมาณ 5 ล้านบาท และพนักงานไม่เกิน 100 คน, ถัดมาเป็นโรงงานในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อหุงข้าว พัดลม เตารีด ที่ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามบางส่วน ทำให้กำลังการผลิตในไทยลดลง

“หลายบริษัทย้ายฐานการผลิต แต่คงโรงงานหลักไว้เหมือนเดิม บางบริษัทเปลี่ยนชื่อย้ายการผลิตไปโรงงานใหม่ แล้วเริ่มลดกำลังการผลิตของโรงงานเก่า พร้อมกับลดเงินเดือนพนักงานและไม่มีโอทีให้ พนักงานอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ลาออกไป คล้ายบีบทางอ้อม ทำให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมไม่มีความมั่นคง”

ส่งออกอัญมณีติดลบมากที่สุด

นายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2566 มีโอกาสหดตัว หรือเทียบเท่าปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าชะลอตัว

ประกอบกับราคาวัตถุดิบมีความผันผวน โดยเฉพาะโลหะเงิน ทำให้มูลค่าการค้าลดลง ขณะที่อินเดียตลาดสำคัญก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการนำเข้า ทำให้การสั่งซื้อลดลง

“จากปัญหาการส่งออกลดลง ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง โดยคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในเครื่องประดับเงินให้เท่าเทียมกับเครื่องประดับทอง อย่างไรก็ดี ยอดส่งออกที่ลดลงไม่ได้กระทบต่อการจ้างงาน ยังคงมีการจ่ายล่วงเวลาตามปกติ”

เอลนีโญฉุด ผลผลิตน้อย

ขณะที่นายธีระ เอื้ออภิธร นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า การส่งออกมันเส้นไปตลาดจีนปี 2566 คาดว่าจะยังคงเฉลี่ย 3-4 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 6 ล้านตัน

ปัญหาหลักมาจากผลผลิตลดลงจากน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ทำให้หัวมันเน่า โรคใบด่าง ประกอบกับปัญหาเอลนีโญ ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก โดยคาดว่าปีนี้ผลผลิตไม่เกิน 24 ล้านตัน จากที่เคยประเมินว่าจะได้ 34 ล้านตัน

อีกทั้งเกษตรกรหันไปปลูกข้าวโพดแทนเพราะราคาสูงกว่าหลังจากทั่วโลกประสบปัญหาธัญพืชมีราคาแพงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ดี ต้องการให้รัฐบาลใหม่มาสนับสนุนจัดหาท่อนพันธุ์มันสะอาดให้กับเกษตรกร ตลอดจนแก้ปัญหาเรื่องน้ำและแก้ไขปัญหาเรื่องโรคใบด่างเพื่อช่วยเหลือและลดต้นทุน

ด้านนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า การส่งออกในอุตสาหกรรมยางพาราในปี 2566 คาดว่าจะหดตัว 10% จากปี 2565 ขยายตัว 5%

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการส่งออกน้ำยางข้นหดตัวเพราะมาเลเซียชะลอการรับซื้อ เพราะความต้องการผลิตถุงมือยางลดลงจากสถานการณ์โควิดดีขึ้น ประกอบกับตลาดสหรัฐ ยุโรป เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้มีการนำเข้ายางพาราเพื่อนำไปผลิตรถยนต์หดตัว ขณะที่ตลาดจีน ตลาดญี่ปุ่น ยังมีการนำเข้าปกติ

สหพัฒน์รับกระทบทางอ้อม

ด้านนายพิภพ โชควัฒนา กรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เครือสหพัฒน์นั้นได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกไม่มากนัก เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกที่น้อย

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับผลกระทบทางอ้อม จากกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงตามการชะลอตัวของการส่งออก ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อมากกว่า สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ส่งออกยังคาดการณ์ได้ยาก ต้องรอดูปัจจัยต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีที่มาดิสรัปต์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงทุกวันไปอีกสักระยะหนึ่งก่อน