“Data is the new oil.” BDI ขับเคลื่อนประเทศด้วย “บิ๊กดาต้า”

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล

เป็นที่รู้และเข้าใจโดยทั่วกันอยู่แล้วว่า การใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูล” เพิ่มแต้มต่อให้กับการงานในทุกระดับ แต่ท่ามกลางข้อมูลจำนวนมหาศาลที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น การบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำคัญและจำเป็น

“Data is the new oil.” ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล” ผู้อํานวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐและเอกชน ด้วยการใช้ประโยชน์จาก big data

ที่มาที่ไปและภารกิจ

“รศ.ดร.ธีรณี” เปิดเผยว่า BDI จะก้าวขึ้นมาเป็นสถาบันหลักในการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก data ในวงกว้างที่ต่อยอดมาจาก GBDi หรือสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหาร ข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่อยู่ใต้ร่มเงาของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)

“เมื่อก่อนหน้าที่หลักคือ การทำ analytic services ให้บริการรัฐด้วยกัน เขามี data แต่ทำไม่เป็นก็ส่งมาให้เราทำตอนนี้เรา spin off ออกมา มีคนอยู่ 80 คน เป็น data scientist และ data engineer มีภารกิจที่จะต้องเป็นสถาบันหลักหรือองค์กรหลักของรัฐที่ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก data หรือข้อมูลในวงกว้าง มีหลายเรื่องที่จะเกิดขึ้น เราพยายามจะทำให้เกิดระบบนิเวศบน value chain ของ data ในประเทศ”

โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เคยเป็น “ไซโล” ตามที่ต่าง ๆ ให้เป็น big data พร้อมใช้งานที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน

“เราทำ 2 อย่าง คือ sector-based big data แปลว่า เราสร้างความเชื่อมโยงของข้อมูลหลาย ๆ อัน แบ่งเป็นเซ็กเตอร์เพื่อการใช้ประโยชน์ เช่น travel link ที่เชื่อมโยงข้อมูลรัฐ และข้อมูลของเมืองในเชิงต่าง ๆ แล้วแต่ว่าเอกชนตั้งคำถามอะไร, health link เป็นข้อมูลด้านสุขภาพ มี environmental link ที่เป็นข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ช่วงแรกจะเป็น 3 อันนี้”

อีกส่วนคือ area-based big data หลาย ๆ ครั้งเมืองใช้ประโยชน์จากข้อมูลหลายเซ็กเตอร์รวมกันในขอบเขตของเมือง ก็ต้องมีโปรเจ็กต์ที่เรียกว่า “บิ๊ก-BIG” หรือ big data integration & governance คือ การทำ sector-based และ area-based platform ให้เกิดเป็นข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

BDI ต้องการผลักดันให้ภาคธุรกิจในไทยพัฒนาการทำงานตามแนวทาง “data-driven” ที่ขับเคลื่อนข้อมูลมากกว่าประสบการณ์ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ทางอ้อม จากการที่องค์กรต่าง ๆ ใช้ข้อมูลในการทำงาน เช่น ประวัติการรักษาที่ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวในการหาข้อมูล เป็นต้น

“เราต้องการให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง เวลาพูดว่าระบบนิเวศ value chain data มันมี supply และ demand ของคนและเทคโนโลยี สมมุติเราเป็น SMEs หรือโรงงานต้องการทำ big data มีเงินเท่านี้จ้างใครได้บ้าง ถ้ามีคนจะจ้างในหลาย ๆ เซ็กเมนต์ คนที่ให้บริการก็ต้องมีหลาย ๆ เซ็กเมนต์ การสร้างความตระหนักรู้ ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ จะทำให้ big data เกิด และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”

ปัญหาในปัจจุบันคือ มีการนำ AI หรือ big data ไปใช้ในหลายองค์กร แต่ไปไม่ถึง value เช่น ธุรกิจนำ AI มาใช้ ต้องรู้ว่าได้ผลตอบแทนหรือกำไรกลับมาเท่าไร การไปให้ถึงจุดนั้นต้องใช้ความพยายามในการที่เราจะเข้าไปช่วยให้ข้อมูล

สร้างถนนเชื่อมโยงข้อมูล

โปรเจ็กต์แรกที่เริ่มทำเป็นการเชื่อมโยงประวัติการรักษาข้ามโรงพยาบาล หรือ health link ที่ทำร่วมกับดีป้า และเปิดตัวในกรุงเทพฯไปแล้ว

“สมมุติคุณอยู่กรุงเทพฯ ขึ้นไปเชียงใหม่ ไปรักษาที่เชียงใหม่ก็จะกดดูประวัติที่กรุงเทพฯได้โดยไม่ต้องเอาของติดตัวไป เราเปิดที่กรุงเทพฯ หรือเขตสุขภาพที่ 13 ไปแล้ว คาดว่าในเดือนส.ค.นี้จะเปิดในต่างจังหวัด”

และล่าสุดเปิดตัว travel link เชื่อมโยงข้อมูลด้านการท่องเที่ยว โดยเริ่ม area-based ที่ภูเก็ตแล้วจะขยายไปเชียงใหม่ พัทยา ชลบุรี เสม็ด อันดามัน และพื้นที่อื่น ๆ

“ก่อนหน้านี้เราเคยทำเรื่องข้อมูลที่เกี่ยวกับสวัสดิการรัฐ ประเทศไทยมีสวัสดิการรัฐ 80 กว่าโปรแกรม เช่น เชื่อมข้อมูลว่าจ่ายซ้ำซ้อนไหม ใครไม่ได้อะไร หรือตรวจสอบว่าใครเป็นกลุ่มคนเปราะบาง แต่ยังไม่มีสวัสดิการอะไรเลย รวมถึงพัฒนาข้อมูลเด็ก 0-6 ขวบของประเทศ จริง ๆ ภาคการเกษตรเราก็ทำเป็น sector-based ไปบางส่วน มีหลายเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เราเข้าไปวิเคราะห์ข้อมูลให้แต่ละกรมก็มี เช่น กระทรวงยุติธรรม สรรพากร สรรพสามิต เป็นต้น”

ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่คนแรก ย้ำว่า BDI เป็นหน่วยงานที่สร้างกลไก หรือถนนเชื่อม data ของภาครัฐ และให้บริการ AI solution รวบรวม และส่งต่อข้อมูลให้ภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ในการวางแผน

“การสร้างแอปพลิเคชั่นขึ้น มาแล้วมีคนเข้ามาใช้เป็น 10 ล้านคน ไม่ได้เป็นสเกลที่เราจะทำ แต่เราจะเป็นผู้รวบรวม และสร้างถนนเชื่อมโยง data เช่น แอปท่องเที่ยว บอกว่าอยากให้คนดาวน์โหลดและทำให้สามเหลี่ยมอันดามันเกิดพร้อม ๆ กับภูเก็ตด้วยฟีเจอร์การแนะนำข้ามพื้นที่ เราจะมี data ไปให้เขา แต่ไม่ได้สร้างแอปให้ทุกคนดาวน์โหลดได้ ดังนั้นการแบ่งหน้าที่ก็ชัดเจนว่าในฐานะรัฐ เราสร้างถนนเชื่อมข้อมูล ทำโมเดลวิเคราะห์ข้อมูลเตรียมไว้ให้ ส่วนเอกชนจะทำแอป และพัฒนาธุรกิจของตนเอง”

ทิศทางและเป้าหมาย

แม้จะเป็นองค์การมหาชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรแต่การที่ต้องจ้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) จำนวนมาก ทำให้ BDI มองถึงการวางแผนการหารายได้บางส่วนด้วย

“เราไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้มีผลกำไรสูงสุด หรือเพื่อแข่งกับเอกชน แต่มีหน้าที่สนับสนุนเอกชนให้เติบโต เงินที่ใช้จึงมาจากงบประมาณรัฐ แต่การที่ต้องจ้าง data scientist จำนวนมาก จึงมีงานส่วนที่เป็นการหารายได้ด้วย เช่นรับทำโครงการ analytic services ให้รัฐ และเอกชนบางที่ เช่น travel link ถ้ามีเอกชนเข้ามาก็อาจเป็นลักษณะของการ subscription แต่เป็นเรื่องของอนาคต หลัก ๆ รายได้ยังเป็นงบฯรัฐ หรือการรับทำโครงการในช่วงแรก”

และอยู่ระหว่างการจัดตั้งองค์กร ซึ่งมีขั้นตอนอีกมาก เช่น การจัดการเงิน การเทียบโอนคนจากดีป้าไปยัง BDI

“งาน front-end เราก็ทำต่อไป แต่สิ่งที่จะโฟกัสคือ ที่ทำอยู่แล้วอย่าง health link และ travel link ส่วนเรื่องใหม่ ๆ เช่น environmental link น่าจะได้เห็นในไตรมาสท้าย”

ปัจจุบัน BDI มีพนักงาน 80 คน 70% เป็น data scientist ที่ต้องทำงานกับข้อมูล ในอีก 5 ปีจะเพิ่มเป็น 200 คน

“คนของเรามี 1.นักเรียนทุนที่ยังไม่มีสังกัด เขาเรียนรับทุนด้านวิทยาศาสตร์ พอเข้ามาเราจะสอนให้เขาเข้าใจศาสตร์ของ data เป็น data scientist ได้ แม้ไม่จบตรงสาย 2. first jobber จบมหาวิทยาลัยเรียน data science มาแต่ยังไม่มีประสบการณ์ ด้วยความที่เราเป็นรัฐถือว่าการผลิตบุคลากรคุณภาพเสิร์ฟเอกชนเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรทำ เราเป็นหน่วยงานที่จับ data จริง เล่นกับ data จริง คนที่เข้ามาทำงาน 1-2 ปี จะอัพเลเวลไปมาก จัดการ data เข้าใจ business domain ต่าง ๆ ดีขึ้น”

DNA ของคนในองค์กร

“รศ.ดร.ธีรณี” บอกว่าสไตล์การบริหารงานจะมีความยืดหยุ่นสูง เน้น productivity บุคลากรส่วนใหญ่อายุ 20 ปลายถึง 30 กลาง ๆ ไฟแรงกระตือรือร้น ต้องการทำสิ่งใหม่ตลอดเวลา

“ถ้าเราทำเรื่องเดิมนาน ๆ จะเริ่มบ่น ถือเป็นจุดที่ดี เพราะเขาจะพัฒนาทักษะตลอดเวลาอยากสร้างสิ่งดี ๆ เด็กทุกคนมีความคล่องสูง เราทำงานไม่มีการตอกบัตร แต่จะมีซอฟต์แวร์ให้ลงข้อมูลว่าใน 40 ชั่วโมง คุณทำอะไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขามีความ agile (กรอบการทำงานที่เน้นประสิทธิภาพมากกว่าขั้นตอน) สูงมาก และมีความซื่อสัตย์ในการทำงาน สิ่งที่เรามองหาในคนทำงานเรียกว่า AI (agile & integrity) คนที่คล่องตัว มีจริยธรรมในการทำงาน และพร้อมที่จะพัฒนาประเทศ”