ผลผลิตข้าวนาปี 2566/2567 จะเริ่มเก็บเกี่ยว คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณข้าวเปลือก 25 ล้านตัน ส่วนข้าวนาปรังว่าจะมีปริมาณ 6.78 ล้านตันข้าวเปลือก รวมแล้วปีนี้ไทยจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 32 ล้านตัน
กระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งเตรียมมาตรการเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมนัดแรกในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566
หารือทุกฝ่ายรับมือข้าวนาปี
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 2566/2567 มีทั้งหมด 4 มาตรการ ภายใต้วงเงินงบประมาณ 69,043.03 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการให้ทันผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด เดือนพฤศจิกายนนี้
“มาตรการดังกล่าวเป็นผลจากที่กระทรวงได้หารือกับสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จนทำให้ได้รับรู้ถึงปัญหา ราคา ต้นทุนที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ เกษตรกร ตอนนี้กำลังจะเข้าสู่การเก็บเกี่ยว ซึ่งยังได้ย้ำให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้มีนโยบายใหญ่ ทั้งนโยบายจำนำข้าว ประกันราคาข้าว แต่รัฐบาลจะมีมาตรการ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา”
สำหรับ 4 มาตรการสำคัญที่จะเสนอ นบข. (กราฟิก) ได้แก่ (1) การเก็บสต๊อกเกษตรกรและสหกรณ์เพื่อชะลอข้าวเปลือก เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยจะช่วย 1,500 บาท/ตัน ใช้งบประมาณที่ใช้ 10,120.71 ล้านบาท
(2) มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการในการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2-6 เดือน งบประมาณ 2,0120 ล้านบาท (3) สินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก เป้าหมาย 1 ล้านตัน เป็นเวลา 15 เดือน ในอัตราดอกเบี้ย 3.85%
สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1% งบประมาณ 481.25 ล้านบาท และ (4) มาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าว เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต หรือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท งบประมาณ 56,321.07 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางการรับมือปัญหาภัยแล้ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะรายงานนายกรัฐมนตรี
ราคาข้าวทรงตัว
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผลผลิตข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/2567 คาดว่าจะมีปริมาณ 32 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็น ข้าวเปลือกนาปี 25.57 ล้านตัน ลดลง 6% ข้าวเปลือกนาปรัง 6.78 ล้านตัน ลดลง 12%
ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้ ยังทรงตัว ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,400 บาท เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ราคาตันละ 14,794 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 12,900 บาท เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตันละ 10,985 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,550 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตันละ 9,422 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 13,800 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตันละ 10,414 บาท
ชาวนายื่น 7 ข้อเสนอ
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกรรมการ นบข. กล่าวว่า สมาคมได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อ เพื่อเข้าสู่ที่ประชุม นบข. โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับข้อเสนอ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำ ช่วยจัดสรรงบประมาณ เพื่อเตรียมความพร้อมแหล่งกักเก็บน้ำสาธารณะ และช่วยชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยขอให้มีการบูรณาการโครงสร้างเพื่อประโยชน์สูงสุด
“เรื่องแหล่งน้ำที่ภาครัฐสามารถทำได้ทันที รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรและชุมชนมีส่วนร่วม การรักษาและดูแลแหล่งต้นน้ำ แบบมีวิสัยทัศน์ จัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินแบบปลอดภัยไร้ผลกระทบเพื่อ รับวิกฤตภัยแล้งในปีต่อไป”
2.การวิจัยและจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพ มีความทนทานทั้งหนาวและร้อน ผลผลิตที่ตอบโจทย์ของเกษตรกร ควบคู่กับอายุที่จำกัดด้วยสภาวะผันแปรทางธรรมชาติ ทนโรค และเป็นที่ต้องการทั้งในประเทศ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
3.ส่งเสริมโครงสร้างการลดต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา และต้นทุนพลังงาน เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องมือ นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรในอนาคต
4.การพักหนี้เกษตรกร ทางสมาคมเห็นด้วยที่รัฐจัดทำโครงการพักต้นและดอกเบี้ย 4 ปี ทั้งเกษตรกรรายย่อยและขนาดกลาง โดยวางกรอบช่วยเหลือหนี้สิน 300,000 บาท ถึงแม้เกษตรกรจะมีหนี้มากกว่าจำนวนนี้ก็ตาม
แต่เพื่อเป็นการผ่อนลมหายใจให้กับเกษตรกร และเป็นการตั้งหลักในการดำรงชีพ ซึ่งทางรัฐควรมีโครงการช่วยเหลือพื้นฟูสมรรถภาพทางการเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็งในอาชีพเกษตรกร และสร้างความเชื่อมั่นด้านวินัยการเงินให้กับภาครัฐ และในกรณีที่เกษตรกรสามารถใช้ต้นได้ก็ควรละเว้นดอกเบี้ยเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรผู้นั้นด้วย
5.ขอให้ภาครัฐพิจารณาจัดทำโครงการช่วยเหลือค่าปรับปรุงบำรุงดินและค่าบริหารจัดการแปลงนา ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ราย เนื่องจากรัฐบาลมิได้มีนโยบายคู่ขนาน ทั้งโครงการจำนำ หรือประกันรายได้ และปัจจุบันอาชีพเกษตรกรมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทั้งจากภัยธรรมชาติ และปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนสูง ราคาข้าวเปลือกไม่มีความแน่นอน
6.เสนอให้มีโครงการจำนำยุ้งฉาง โดยได้รับการสนับสนุนค่าเก็บฝากตันละ 1,500 บาท เพื่อรักษาวิถีชีวิตเกษตรกร และเป็นการช่วยชะลอการขาย
7.ข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในระยะยาว
7.1 การจัดตั้งกองทุนเพื่อการเกษตร เพื่อเป็นหลักประกันในความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร ให้สามารถกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือเพื่อใช้เป็นทุนสำรองเมื่อประสบปัญหา
7.2 การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตให้กับเกษตรกรเหมือนหลักการประกันสังคม โดยทั้งสองกองทุนให้ภาครัฐเป็นผู้ดูแลและสนับสนุนการจัดทำโครงการโดยอาศัยความสมัครใจของเกษตรกร
โรงสีเข้าใจมาตรการออกช้า
นายนิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์ เลขาธิการ สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า นโยบายรักษาเสถียรภาพราคาข้าวที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุม นบข.นั้น เป็นนโยบายที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับสมาคมโรงสีแล้ว ซึ่งสมาคมเน้นย้ำให้รัฐบาลรีบอนุมัติมาตรการก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด แต่ก็เข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะรัฐบาลเพิ่งตั้งได้ไม่นาน ระบบต่าง ๆ อาจจะยังไม่เข้าที่ จึงเพิ่งจะได้ประชุม นบข. ในวันที่ 1 พ.ย. 66 นี้
“มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก็คิดว่าน่าจะเพียงพอ ที่จะช่วยดึงผลผลิตออกจากตลาด ทำให้ราคามีเสถียรภาพได้ ในส่วนของราคาข้าวเปลือกตอนนี้ข้าวเปลือกเจ้า (ข้าวสด) ปัจจุบันตันละ 10,000-10,500 บาท ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดู ข้าวมีความชื้นค่อนข้างสูง ส่วนข้าวแห้ง ราคา ตันละ 13,500-14,000 บาท”