นภินทร พบรัฐมนตรีการค้าสิงคโปร์ ลุยร่วมมือด้านสินค้าเกษตร ท่องเที่ยว SMEs

“นภินทร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พบหารือรัฐมนตรีการค้าสิงคโปร์ เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปสิงคโปร์ ผนึกกำลังด้านการท่องเที่ยวสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค และพร้อมสานต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรายเล็ก

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 34 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้พบหารือทวิภาคีกับนายกาน คิม ยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์

โดยในการพบกันครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์การค้าการลงทุนระหว่างกันในทุกมิติ ครอบคลุมถึงการท่องเที่ยว และยังได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship : STEER)

โดยในโอกาสนี้ ไทยได้แสดงความพร้อมในการเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของสิงคโปร์ พร้อมทั้งได้ผลักดันให้สิงคโปร์เร่งขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่ไก่ออร์แกนิก และเร่งเปิดตลาดให้กับเนื้อสุกรของไทย เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสิงคโปร์ได้ เพิ่มเติมจากที่ได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่นกกระทาของไทย ซึ่งทำให้ไทยสามารถส่งออกไข่นกกระทาไปสิงคโปร์ได้แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 โดยสิงคโปร์ยินดีนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในสิงคโปร์เป็นอย่างมาก

นายนภินทรกล่าวเสริมว่า ได้หารือเรื่องความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยและสิงคโปร์ต่างมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก เพื่อต่อยอดจากความสำเร็จของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่าง PromptPay ของไทยและ PayNow ของสิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการค้าการลงทุน อีกทั้งสิงคโปร์ยังเชิญชวนให้ไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งสิงคโปร์เป็นผู้ริเริ่ม

Advertisment

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ที่เห็นพ้องจะร่วมกันผลักดันให้ทั้งสองประเทศเป็นจุดหมายปลายทางของเรือสำราญและเรือยอชต์ ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวรายได้สูงเดินทางเข้ามาจำนวนมาก

นายนภินทรกล่าวอีกว่า สิงคโปร์ถือเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด และเป็นผู้นำในการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและรายย่อย (SMEs) โดยในระหว่างการหารือได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับ SMEs ซึ่งสิงคโปร์เห็นว่าการให้ SMEs สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและได้ใช้ประโยชน์จากการค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งนี้ ยินดีร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมให้ SMEs ของทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือในการต่อยอดธุรกิจให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกได้

Advertisment

ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในโลก โดยในปี 2565 การค้ารวมไทย-สิงคโปร์ มีมูลค่า 18,477.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.67 จากปี 2564 โดยเป็นการส่งออก มูลค่า 10,279.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.48 สินค้าส่งออกสำคัญ

ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และ
เป็นการนำเข้า มูลค่า 8,197.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.68 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ

ถกทวิภาคีจีนเร่งเปิดตลาดปศุสัตว์ส่งออก

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ นายนภินทรยังได้พบหารือกับนายหวัง โช่วเหวิน (Mr. Wang Shouwen) ผู้แทนการค้าระหว่างประเทศและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งไทยได้หยิบยกประเด็นการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ของไทย โดยเฉพาะโคและสุกรมีชีวิต ให้สามารถส่งออกไปยังจีนได้ โดยได้ให้ความเชื่อมั่นกับฝ่ายจีนว่า แนวทางและมาตรฐานการป้องกันโรคระบาดของไทยเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนเดินทางมาตรวจสอบสถานกักกันหรือฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ของไทย

โดยฝ่ายจีนตอบรับไทยในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านเวทีการเจรจาที่สำคัญ ได้แก่ การผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน ระดับรองนายกรัฐมนตรี และการประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ไทย-จีน ระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

รวมทั้งยังเห็นพ้องให้เร่งผลักดันการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ให้สามารถสรุปผลได้ภายในปี 2567 ทั้งนี้ การปรับปรุงความตกลงดังกล่าวให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพธุรกิจในปัจจุบัน จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ผู้ประกอบการยิ่งขึ้น โดยไทยได้ชักชวนจีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้วย

นายนภินทรเสริมว่า จีนสนใจที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวร่วมกับไทย ซึ่งไทยเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมมือกับจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง รวมทั้งจีนยังเชิญชวนให้ไทยเข้าร่วมความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการลงทุนเพื่อการพัฒนาภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ IFD เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการลงทุนที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ จีนสนใจจะส่งยารักษาโรคมะเร็งมาขายในประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2566 (มกราคม-กันยายน) มีมูลค่าการค้ารวม 78,916.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออก 26,333.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากจีน 52,583.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีน เช่น ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และทองแดง

ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากจีน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น