ฝุ่น PM 2.5 วันนี้เกินมาตรฐาน 20 จังหวัด กทม. 48 เขต กระทบสุขภาพ

ฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 กทม. เช้านี้(17 ธ.ค.66) สีส้ม 48 เขต เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศเกินมาตรฐานกว่า 20 จังหวัด สมุทรสาคร แดงทะลุ 100 ไมโครกรัม

วันที่ 17 ธันวาคม 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็กฝุ่น” เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 17 ธันวาคม 2566

พบ 48 เขตในพื้นที่ กทม. มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ระดับสีส้ม สูงสุดที่ราชเทวี ตามด้วย หนองแขม บางบอน บางขุนเทียน ยานนาวา ดินแดง ธนบุรี บางกอกใหญ่ บางแค เป็นต้น ในขณะที่อีก 2 เขตมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับปานกลาง

ในขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศมีเกินมาตรฐาน 23 จังหวัด โดยมี 2 จังหวัดสูงระดับแดง ได้แก่ สมุทรสาคร 103.5 ไมโครกรัม และสมุทรสงคราม 96.2 ไมโครกรัม

แอปพลิเคชั่น “เช็กฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่ยังมีค่าคุณภาพอากาศที่เกินค่ามาตรฐานในระดับสีส้ม และระดับปานกลางสีเหลือง ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชั่น “เช็กฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ,

ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 142 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่การเกษตร 71 จุด ตามด้วยพื้นที่ สปก. 39 จุด ชุมชนและอื่นๆ 18 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 8 จุด พื้นที่ริมทางหลวง 4 จุด และป่าอนุรักษ์ 2 จุด จังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ นครสวรรค์ 14 จุด ตามด้วย พิจิตร 10 จุด และตาก 10 จุด

นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อน 3 อันดับแรกได้แก่ พม่า 259 ตามด้วย ไทย 142 จุด กัมพูชา 98 จุด เวียดนาม 74 จุด และลาว 32 จุด

ADVERTISMENT

ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM 2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็กฝุ่น”