เปิดเหตุผล “ไทย-เกาหลีใต้” ผุด “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ”

Thai-Korea

หลังจากรัฐบาลเศรษฐาได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกาเป็นฉบับแรกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก็เร่งขับเคลื่อนการเปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ทันที

ล่าสุด นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารขอบเขต (TOR) การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement : EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่าง นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ นายคอนกี โรห์ (Keonki Roh) ตำแหน่ง Deputy Minister for Trade Negotiation ของกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน (Ministry of Trade, Industry and Energy : MOTIE) ของสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567

โดยจะเริ่มการเจรจา EPA ไทย-เกาหลี รอบแรกภายในกลางปี 2567 และตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2568 หรืออย่างช้าที่สุดต้นปี 2569

ความตกลงกับเกาหลี 3 ฉบับ

แม้ว่าไทยและเกาหลีจะมีการทำความตกลงที่เกี่ยวข้องกันมา 2 ฉบับแล้ว ทั้งความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แต่กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแล้วว่าการจัดทำความตกลง EPA ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี จะเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดและต่อยอดความตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าว ซึ่ง EPA จะมีความพิเศษมากขึ้นและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนและเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนั้น ยังมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างการพัฒนาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีมีความสนใจร่วมกัน อาทิ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิต และความร่วมมือ
ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

เกาหลีลงทุนไทย

“เกาหลีลงทุนในบ้านเราหลายหมื่นล้าน อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุง รถยนต์ KIA และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เขาก็สนใจอยากเปิดตลาดร่วมกับเรา ซึ่งเรายินดีต้อนรับ จะได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และเกษตรกรไทยสนใจขยายตลาดไปเกาหลีเพิ่ม เช่น มังคุดและมะม่วง นอกจากนี้เรายังมีแหล่งผลิตอาหารที่เป็นที่ต้องการ เช่น ไก่แช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพยายามทำให้ของเราส่งออกสินค้าให้มากที่สุด จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน” นายภูมิธรรมกล่าว

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ด้านการลงทุน ข้อมูลจากสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2565 เกาหลียื่นขอส่งเสริมการลงทุนในไทย 25 โครงการ รวมมูลค่า 5,309 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ลงทุนในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร เคมีภัณฑ์และกระดาษ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

ส่วนช่วง ม.ค.-มิ.ย. ปี 2566 เกาหลีใต้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน BOI จำนวน 9 โครงการ รวมมูลค่า 32,445 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ลงทุนในสาขาโลหะและเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และกระดาษ

ADVERTISMENT

ทิศทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้

แนวโน้มเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.2% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.3% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.2% โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้มีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจ โดยมุ่งปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ ขณะที่ไทยเน้นการลงทุนในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนสร้างความร่วมมือสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup รวมถึงการเปิดตลาดและการค้าเสรีระหว่างไทยและเกาหลี

และล่าสุดทางกระทรวง MOTIE ได้จัดงานประกาศยุทธศาสตร์นโยบายการค้าใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาสำคัญ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพของสาธารณรัฐเกาหลี

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ ได้ประกาศสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และชะลอการเก็บภาษีกำไรจากสินทรัพย์ดังกล่าวจนกว่ากฎหมาย Digital Asset Basic (DABA) จะผ่านและมีผลบังคับใช้ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศ ที่เหมาะสมแก่นักลงทุน รวมถึงการผลักดันให้เกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล

อีกทั้งยังมีการเสนอนโยบายเศรษฐกิจในการเลือกตั้ง ซึ่งจะฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 โดยรัฐจะให้เงินกู้ยืม 50 ล้านล้านวอนแก่พ่อค้ารายย่อย และใช้เงินอีก 43 ล้านล้านวอนเพื่อแจกช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลดีต่อการค้าระหว่างกันในอนาคต

ขยายตลาดสินค้าและบริการ

นางสาวโชติมากล่าวว่า การทำความตกลงจะช่วยเปิดตลาดให้กับสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์มากขึ้น จากปัจจุบันในปี 2566 สาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,736.86 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสาธารณรัฐเกาหลี 6,070.44 ล้านเหรียญสหรัฐ

และล่าสุดการค้าระหว่างไทย-เกาหลี เดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 1,269 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.30% ไทยส่งออก 448 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.05% และนำเข้า 821 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.83% ซึ่งในปีนี้ไทยมีเป้าหมายผลักดันการส่งออกสินค้าไปเกาหลีปี 2567 โตที่ 1% โดยเกาหลีถือว่าเป็นคู่ค้าและตลาดส่งออกสำคัญของไทยอันดับที่ 13

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากสาธารณรัฐเกาหลี 8,666.42 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

โดยคาดว่าสินค้าไทยที่จะได้ประโยชน์จากความตกลง EPA ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และประมง (อาทิ เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป) ผลไม้เมืองร้อน (อาทิ มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ (อาทิ แป้ง ซอสและของปรุงรส) ผลิตภัณฑ์ไม้ (อาทิ ไม้แปรรูป ปาร์ติเคิลบอร์ด ไม้อัดพลายวูด) และเคมีภัณฑ์

พร้อมกันนี้ ไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้า “ธุรกิจบริการ” อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการการขนส่ง คลังสินค้า และบริการด้านโรงแรมและภัตตาคารด้วย

K-pop เกาหลีนำเทรนด์สินค้า

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งคาดว่าในฝั่งเกาหลีใต้จะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าและการลงทุนมายังประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาสินค้าที่เกาหลีใต้มีศักยภาพมากที่สุด คือ “โซจู” ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการส่งออกมากกว่า 101.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นยอดส่งออกที่สูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และคิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 8.7% จากที่เคยทำได้สูงสุดเมื่อปี’56

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า เดิมโซจูที่ผลิตออกมาจำหน่ายในประเทศส่วนใหญ่จะถูกบริโภคโดยชาวเกาหลีใต้เป็นหลัก แต่ปัจจุบันกระแสความนิยมในการบริโภคโซจูขยายตัวมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากกระแสวัฒนธรรมเคพ็อป (K-pop) ที่ขยายออกไปทั่วโลก